สงวนลิขสิทธิ์ (อังกฤษ: all rights reserved) เป็นวลีที่กำเนิดขึ้นในกฎหมายลิขสิทธิ์โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อความสงวนลิขสิทธิ์ วลีดังกล่าวระบุว่าผู้ถือลิขสิทธิ์สงวน หรือถือสิทธิ์ทั้งหมดซึ่งกำหนดโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ เช่น การแจกจ่าย การแสดง และการสร้างสรรค์ผลงานดัดแปลง ไว้เพื่อการใช้สอยของตน นั่นคือ พวกเขาไม่ได้สละซึ่งสิทธิ์ใด ๆ ที่กล่าวมา กฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศส่วนใหญ่ไม่กำหนดใหต้องมีประกาศดังนี้แล้ว แต่วลีดังกล่าวยังมีอยู่ หลายคนอาจเข้าใจจากการใช้โดยทั่วไปว่าวลีดังกล่าวหมายความถึงสิทธิตามกฎหมายใด ๆ หากเดิมวลีดังกล่าวเกี่ยวข้องเฉพาะกับลิขสิทธิ์เท่านั้น

ในอดีต วลีดังกล่าวจำเป็นต้องระบุตามผลของอนุสัญญาบัวโนสไอเรส ค.ศ. 1910 ซึ่งสั่งให้ต้องมีข้อความสงวนสิทธิ์เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองในประเทศผู้ลงนามอนุสัญญา[1] วลีดังกล่าวนั้นกำหนดให้ต้องเพิ่มเป็นข้อความลายลักษณ์อักษรว่าสิทธิ์ทั้งหมดซึ่งได้มาภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ (อย่างเช่น สิทธิ์ในการตีพิมพ์ผลงานในพื้นที่หนึ่ง ๆ) นั้น ผู้ถือลิขสิทธิ์ถือไว้ และอาจมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อการละเมิดลิขสิทธิ์

ข้อกำหนดให้ต้องเพิ่มข้อความนี้นั้นเลิกใช้และถูกคัดค้านอย่างสำคัญในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 2000 เมื่อนิคารากัวเป็นภาคีประเทศสุดท้ายของอนุสัญญาบัวโนสไอเรสที่ได้เป็นภาคีผู้ลงนามอนุสัญญาเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณ[1]กรรมและศิลปกรรมเช่นกัน โดยก่อนหน้านั้น ทุกประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาบัวโนสไอเรส (ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านลิขสิทธิ์ฉบับเดียวที่กำหนดให้มีการใช้ข้อความนี้) เป็นภาคีอนุสัญญาเบิร์นเช่นกัน ซึ่งกำหนดให้การคุ้มครองมีผลโดยไม่ต้องมีข้อความสงวนลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ตรงไปตรงมา และไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจอย่างกว้างขวางในรายละเอียด ตลอดจนข้อกำหนดเดิมของอนุสัญญาบัวโนสไอเรสและการคัดค้านวลีดังกล่าวในปัจจุบันไม่เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป วลีดังกล่าวจึงยังพบใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายและเป็นธรรมเนียมอันสะดวกซึ่งศิลปิน นักเขียน และผู้สร้างสรรค์ผลงานใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันความกำกวมและประกาศชัดเจนถึงคำเตือนว่าเนื้อหาของตนนั้นไม่อาจถูกคัดลอกได้อย่างเสรี

ดูเพิ่ม แก้

  1. 1.0 1.1 Engelfriet, Arnoud (2006). "The phrase "All rights reserved"". Ius mentis. สืบค้นเมื่อ 2007-12-27.