สงบศึก ธรรมวิหาร


ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ธรรมวิหาร (24 มกราคม พ.ศ. 2484 -ปัจจุบัน) เป็นศิลปินดนตรีไทย อาจารย์สอนดนตรีไทย มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ดนตรีไทยอย่างโชกโชน อดีตเป็นผู้บรรเลงระนาดเอกดนตรีไทยในนามกรมศิลปากร และเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีไทย ณ ภาควิชาศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้มีผลงานด้านดนตรีไทย ทั้งการบันทึกเสียง การบรรเลงดนตรีเผยแพร่ในโอกาสต่าง ๆ รวมทั้งได้เขียนตำราเรียนดนตรีไทย นับเป็นบุคลากรที่มีอาวุโส และรักษาองค์ความรู้ดนตรีไทยในแบบแผนของกรมมหรสพ อันเป็นแบบแผนหลักของชาติ

สงบศึก ธรรมวิหาร
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด24 มกราคม พ.ศ. 2484 (83 ปี)
สงบศึก ธรรมวิหาร
อาชีพครูดนตรีไทย นักดนตรีไทย

ผศ.สงบศึกเป็นบุตรของ พันตรีประเสริฐ ธรรมวิหาร (นายเผิน สมบูรณ์) และนางศรี ธรรมวิหาร (สกุลเดิม สีดอกบวบ) มีพี่น้อง 8 คน สมรสกับนางกนกอร ธรรมวิหาร (นามสกุลเดิม อินทรมาศ) มีบุตรบุญธรรม 1 คนชื่อนางสาวพัชรา สุภาพงษ์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนาฏศิลป(วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน), ปริญญาตรีการศึกษาบัณฑิต(กศ.บ.) จากวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร เมื่อปี พ.ศ. 2516 และปริญญาโทครุศาสตรมหาบัณฑิต(ค.ม.) สาขาวิชาพื้นฐานการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2535

ผลงาน แก้

ผลงานบันทึกเสียง และการบรรเลง แก้

พ.ศ 2498 บรรเลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ เพลงแขกมอญ สามชั้น ทางครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูป สาตนวิลัย) ประชันกับครูช่อ อากาศโปร่ง ครูกิ่ง พลอยเพชร และครูสืบสุด ดุริยประณีต ในงานไหว้ครูประจำปีของครูหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ณ บ้านบาตร โดยมีครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) เป็นประธาน หลังจากบรรเลงเดี่ยวจบได้รับพระราชรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง เป็นเงินจำนวน 50 บาท

พ.ศ. 2500 เป็นผู้บรรเลงระนาดเอก ในนามวิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ควบคุมโดยอาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร(ศิลปินแห่งชาติ) บันทึกเสียงเพื่อใช้ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ และวิทยุศึกษา

พ.ศ. 2500 บรรเลงเดี่ยวระนาดเอก เพลงกราวใน เถา ทางครูขุนบรรจงทุ้มเลิศ(ปลั่ง ประสานศัพท์) ออกอากาศสดทั่วประเทศ บันทึกเสียง ณ สถานีวิทยุศึกษา ทุ่งมหาเมฆ นับเป็นครั้งแรกและนักดนตรีคนแรกของเมืองไทยที่เดี่ยวเพลงกราวในออกอากาศสด

พ.ศ. 2500 บรรเลงระนาดเอก บันทึกแถบบันทึกเสียงของ “คณะสิทธิถาวร” อาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร(ศิลปินแห่งชาติ) เกือบทุกชุด โดยเฉพาะในส่วนปี่พาทย์ไม้แข็งและปี่พาทย์ ไม้นวม เริ่มสืบเนื่องจากการบันทึกเพื่อออกอากาศทางสถานีวิทยุ เวลาต่อมาเสียงที่บันทึกไว้ได้รวบรวมเป็นแถบบันทึกเสียงเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันผลงานดังกล่าวได้เก็บรักษา และเผยแพร่เป็นลิขสิทธิ์ ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในรูปแบบแผ่นCDและแถบบันทึกเสียงชื่อชุด “สืบสานอาจารย์ประสิทธิ์” นับเป็นข้อมูลเสียงดนตรีไทยชิ้นใหญ่ของวงการ จำนวน 94 ชุด กว่า 700 เพลง จำหน่ายและเผยแพร่ทั่วไป

พ.ศ. 2501 บรรเลงเดี่ยวเพลงกราวใน ฆ้องวงใหญ่ ทางครูหลวงบำรุงจิตเจริญ(ธูป สาตนวิลัย) ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร รายการดนตรีสำหรับประชาชน

พ.ศ. 2510 บรรเลงระนาดเอกเพลงระบำชุดต่าง ๆ ของกรมศิลปากร ครูมนตรี ตราโมท(ศิลปินแห่งชาติ)ท่านควบคุมการบันทึกเสียงด้วยตนเอง โดยมีอาจารย์จิรัส อาจณรงค์(ศิลปินแห่งชาติ)เป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมที่ห้องอัดคุณเสริม ศาลิคุปต์ แถบบันทึกเสียงจัดจำหน่ายในนามกรมศิลปากรหน้าประตูวิเศษฯ ระยะเวลาประมาณ พ.ศ. 2510 หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย

พ.ศ. 2510 บรรเลงระนาดเอกให้กับ ศาตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ บันทึกแถบบันทึกเสียงจำหน่ายในนาม “ร้านพัฒนศิลป์การดนตรีและละคร” ก่อนผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึกจะเข้าไปทำหน้าที่บรรเลงระนาดนั้น มีคนระนาดได้ผลัดเปลี่ยนรุ่นดังนี้คือ ครูบุญยงค์ เกตุคง(ศิลปินแห่งชาติ)ครูเสนาะ หลวงสุนทรและจนมาถึงผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ธรรมวิหาร ตามลำดับ บันทึกเสียงทั้งบรรเลงเดี่ยวและวงปี่พาทย์ ทั้งเพลงที่ ศ.ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ ประพันธ์ขึ้นเอง และเพลงอื่น ๆ มากมาย

พ.ศ. 2510 สาธิตดนตรีไทยในรายการ “ดร.อุทิศแนะดนตรีไทย” ออกรายการโทรทัศน์ช่อง 5

พ.ศ. 2510 บรรเลงระนาดเอกเดี่ยวเพลงอาหนูบันทึกเสียงส่งให้ตามคำขอขององค์การยูเนสโก จัดการประสานงานและส่งโดย ศาตราจารย์ ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์

พ.ศ. 2512 บรรเลงเดี่ยวระนาดเอกสองราง เพลงเชิดนอก(ทางพิเศษ) ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้่อยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในการบรรยายประกอบการสาธิตดนตรีไทยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ครูบุญยงค์ เกตุคง และครูบุญยัง เกตุคง ได้ให้เกียรติชมการบรรเลงในครั้งนี้ด้วย

พ.ศ. 2520-2526 ร่วมงานกับอาจารย์สมาน กาญจนผลิน(ศิลปินแห่งชาติ) บันทึกเสียงดนตรีไทยเป็นแถบบันทึกเสียง ทั้งเดี่ยวเครื่องดนตรี วงมโหรี ปี่พาทย์ไม้นวม ปี่พาทย์ไม้แข็ง ปี่พาทย์มอญ ร่วมทั้งเพลงไทยสากล ร่วมทั้งการเดี่ยวเพลงไทย ด้วยระนาดฝรั่ง มาริมบา(Marimba)ร่วมกับอาจารย์สมาน กาญจนผลิน ร่วมงานบันทึกเสียงดนตรีไทย เป็นเทปมากกว่า 20 ตลับ

พ.ศ. 2522 ร่วมบรรเลงระนาดฝรั่ง มาริมบา (Marimba)ในรายการ “ราตรีสยาม” ของคณะปิยะมิตร ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 รายการนี้เป็นแหล่งรวมศิลปินดนตรีไทยหลาย ๆ ท่านมาร่วมงาน อาทิ “สมพงษ์คู่” มาตีกลองให้(อาจารย์สมพงษ์ นุชพิจารณ์ และอาจารย์สมพงษ์ โรหิตาจล)

พ.ศ. 2516-2526 เดี่ยวระนาดเอกเพลงม้ารำและเชิดนอก ออกอากาศวิทยุศึกษา (ถนนศรีอยุธยาในปัจจุบัน) และบรรเลงระนาดเอกประกอบละครออกอากาศทางวิทยุศึกษาที่ถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ในนาม “คณะครูท้วม ประสิทธิกุล (ศิลปินแห่งชาติ)” เป็นเวลา 10 ปี โดยมีนักดนตรีสมทบดังนี้ อาจารย์สมพงษ์ นุชพิจารณ์ , อาจารย์สุทธิพงษ์ นนธนารัก และอาจารย์ลำยอง โสวัตร กลองแขก,อาจารย์อัมพร โสวัตร ขับร้อง, อุไร สินแก้ว ขับร้อง, อาจารย์รัตรวี ยลปราโมทย์ เป็นผู้บรรยาย

พ.ศ. 2537 บรรเลงระนาดเอกและควบคุมการขับร้องและบรรเลงของนิสิตสาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การบันทึกเสียงดนตรีไทย ในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประสานงานโดย คุณสุรชัย เครือประดับ บริษัทซิมโฟนี่เร็คคอร์ด จำกัด

พ.ศ. 2536-2538 บรรเลงระนาดเอกไม้แข็งและไม้นวม ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ บันทึกเสียงโดย อาจารย์สมาน กาญจนผลิน(ศิลปินแห่งชาติ)จัดจำหน่ายที่ศึกษาภัณฑ์พานิชย์ ราชดำเนิน

สังคีตนิพนธ์ แก้

  • พ.ศ. 2526 ประพันธ์บทร้อง ทางร้อง และทางบรรเลงเพลงนทีทอง เถา การเผยแพร่ผลงานดังนี้
    • รางวัลชมเชยอันดับ 1 จากการประกวดดนตรีไทย พ.ศ. 2539 จัดโดยธนาคารกสิกรไทย
    • การแสดงครุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ 16 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • การแสดงครุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ 19 วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2542 ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • มหกรรมดนตรีไทยและนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544
  • พ.ศ. 2536 ประพันธ์ทำนองเพลงโหมโรงเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
  • พ.ศ. 2545 ประพันธ์ทางเดี่ยวเพลงหกบท 2 ชั้นและชั้นเดียว สำหรับเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ สำหรับนิสิตสาขาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกฆ้องวงใหญ่ (เนื้อหาเพลงเดี่ยวขั้นต้น)
  • พ.ศ. 2553 ประพันธ์ทางเดี่ยวเพลงต่อยรูป 3 ชั้น สำหรับฆ้องวงใหญ่ บรรเลงสู่สาธารณชนครั้งแรก ในงานครุศาสตร์คอนเสิร์ต ครั้งที่ 30 “ศรีศตพรรษ” ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา วันที่ 11 ธันวาคม 2552 ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานวิชาการ แก้

พ.ศ. 2529 บรรยาย เรื่อง “ระนาดเอก” พร้อมสาธิตการบรรเลง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้อง 106 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2529 บทความตีพิมพ์ในวารสารครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “ระนาดเอกเหาะสู่โกเบ”

พ.ศ. 2530 บทความตีพิมพ์ในวารสารครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “แม่ไม้ดนตรีไทย”

พ.ศ. 2535 วิทยานิพนธ์ปริญญาโท คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “การอนุรักษ์และพัฒนาดนตรีไทยและเพลงไทย เน้นประเด็นศึกษาอาจารย์มนตรี ตราโมท(ศิลปินแห่งชาติ)”

พ.ศ. 2540 เรียบเรียงตำราเรื่อง "ดุริยางค์ไทย" ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติอนุมัติให้ใช้เป็นตำราเรียน จัดพิมพ์เพิ่มเป็นครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2545 รวมจำนวน 4000 เล่ม

พ.ศ. 2548 ได้รับเลือกให้เป็น “ศิลปินต้นแบบด้านดนตรีไทย” ที่สมควรได้รับการศึกษาในรายวิชา “อาศรมศึกษา” (Pedagogy in Specific Field) ตามหลักสูตร ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนายอัศนีย์ เปลี่ยนศรี นิสิตระดับปริญญาโท

พ.ศ. 2551 วิทยากรบรรยาย ณ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ศาลายา จังหวัดนครปฐม บรรยายหัวข้อ เรื่อง “มือฆ้องเพลงโหมโรงเย็น” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่สลับเปลี่ยนกันขึ้นบรรยายอีกหลายท่าน ได้แก่อาจารย์จิรัส อาจณรงค์,อาจารย์สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ, อาจารย์นิกร จันทศร, อาจารย์สมาน น้อยนิต, อาจารย์นัฐพงษ์ โสวัตร, โดยมีอาจารย์บำรุง พาทยกุล เป็นพิธีกร ให้นักเรียนและ อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ แก้

  • พ.ศ. 2542 – เกียรติบัตรสำหรับอาจารย์ผู้ฝึกสอนนิสิตที่ได้รับรางวัลในการประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 จัดโดยวิทยาลัยภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล นายรณชัย บุญลือ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 (ฆ้องวงใหญ่)
  • พ.ศ. 2543 – เกียรติบัตรสำหรับอาจารย์ผู้ฝึกสอนนิสิตที่ได้รับรางวัลในการประกวดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 จัดโดย วิทยาลัยภูมิพลสังคีต มหาวิทยาลัยมหิดล นายอรรถยุทธ โพธาพันธุ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ (ฆ้องวงใหญ่)
  • พ.ศ. 2544 – วิทยากรอบรมดนตรีไทย โครงการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้เยาวชนไทยต่างประเทศ ณ วัดพุทธสามัคคี ประเทศนิวซีแลนด์
  • พ.ศ. 2527 – รางวัลชมเชยอันดับ 1 การประกวดประพันธ์เพลงนทีทอง เถา จัดโดยธนาคารกสิกรไทย
  • พ.ศ. 2532 – Appreciate Award จากวัดธัมมาราม นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2543 – Appreciate Award จาก Thai-Australia Association of New Soult Wales. ทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่ดนตรีไทยให้กับเยาวชนไทยและผู้ใจสนในเมือง Sydney, Australia.
  • พ.ศ. 2535 – ควบคุมวงดนตรีไทยของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมประกวด ดนตรีไทยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโดย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เขาชะโงก ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทวงมโหรีระดับอุดมศึกษา เพลงแขกลพบุรี 3 ชั้น

เกียรติประวัติ แก้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ธรรมวิหาร ในแวดวงดนตรีไทยทั่วประเทศจะรู้จักในนาม “นายหงบ” “พี่หงบ” ในสังคมกรมศิลปากรและสำนักดนตรีไทยต่าง ๆ หรือ “ป๋าหงบ” ในสังคม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ดนตรีไทยชั้นบรมครูผู้หนึ่งในยุคปัจจุบัน นับเป็นทายาททางดนตรีคนสำคัญคนหนึ่งของเอตทัคคะดนตรีไทยหลายท่าน โดยเฉพาะหลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูป สาตนวิลัย) ที่ได้ให้ความเมตตาถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตั้งแต่เนื้อหาเบื้องต้นไปจนถึงทักษะความชำนาญขั้นสูง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ธรรมวิหาร เริ่มเรียนดนตรีไทยเมื่ออายุได้ 7 ขวบ โดยเรียนระนาดเอกเป็นเครื่องมือแรกกับบิดา คือ ร้อยโทประเสริฐ ธรรมวิหาร(ยศในขณะนั้น) บิดาเคยรับราชการทหารและเป็นนักระนาดฝีมือดี โดยบรรเลงระนาดให้กับคณะของทหารรักษาพระองค์ (100 คน) ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (ซึ่งต่อมาทหารรุ่นน้องหลายคน เช่นครูบุญชัย เฉลยทอง ครูเจริญ เวชเกษม เป็นต้น ได้เข้าไปรับราชการที่กรมศิลปากร ท่านจึงมีเพื่อนอยู่ที่กรมศิลปากรมาก) บางครั้งบิดาก็สนุกสนานกับลิเกบ้าง อย่างที่เรียกกันว่า "ลิเกทหาร" ประกอบกับเมื่อครอบครัวได้ย้ายไปอยู่บริเวณป้อมพระสุเมรุบางลำพู ได้มีโอกาสฟังการบรรเลงปี่พาทย์จากงานมงคลและอวมงคลบ่อยครั้ง ซึ่งอยู่ในระหว่างซึมซับกับเสียงดนตรีย่านบางลำพู อันมีชื่อเสียงโดยเฉพาะบ้านดุริยประณีต บ้านดุริยพันธุ์ ขณะนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก เรียนอยู่เพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 – 3 ต่อมาบิดาเป็นผู้เห็นแววความสามารถทางดนตรีไทยของบุตรชาย จึงส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป (วิทยาลัยนาฏศิลป กรุงเทพฯ ปัจจุบัน) (โดยความสนับสนุนของลุงเผื่อน นาโค) เริ่มเข้าเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เรียนฆ้องวงใหญ่ตามแบบแผนการเรียนปี่พาทย์ โดยเริ่มเรียนมือฆ้องชุดโหมโรงเช้า โหมโรงเย็น เพลงเรื่องทำขวัญ โหมโรงเสภา เพลงเรื่องต่าง ๆ ตามลำดับ นับเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนนาฏศิลปสมัยนั้นมีบรมครูเอตทัคคะด้านฆ้องวงใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นครูผู้สอนประจำ ได้แก่ ครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ (ธูป สาตนวิลัย) เนื่องด้วยท่านเคยรับราชการเป็นผู้ควบคุมวงปี่พาทย์หลวงมาก่อน

นับแต่แรกเข้าเรียนในโรงเรียนนาฏศิลป ปี พ.ศ. 2492 (อายุได้ 8 ขวบ) จนถึงปี พ.ศ. 2501 รวมเป็นเวลา 10 ปี นอกจากการเรียนเพลงต่าง ๆ ในหลักสูตรแล้ว ครูหลวงบำรุงฯ มักจะเรียกหาให้ไปต่อเพลงเวลาพักเที่ยงกับท่านเพียงลำพัง ในบทเพลงเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ที่ท่านได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยเฉพาะ และไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้รับถ่ายทอดบทเพลงดังกล่าวกับครูหลวงบำรุงฯ ไว้อีก ฉะนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึกเป็นที่ไว้วางใจในการถ่ายทอดความรู้ของครูหลวงบำรุงฯ อย่างมาก นอกจากนี้ครูหลวงบำรุงฯ ยังกรุณาฝากฝังให้เรียนระนาดเอกและระนาดทุ้มกับขุนบรรจงทุ้มเลิศ(ปลั่ง ประสานศัพท์) ท่านเป็นทายาทแท้ ๆ ของ พระยาประสานดุริยศัพท์(แปลก ประสานศัพท์) โดยท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก สามารถเรียนเพลงเดี่ยวจนถึงขั้นสูงสุดคือเพลงกราวใน ที่นักดนตรีไทยอาวุโสทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็น "ยอดแห่งเพลงเดี่ยวดนตรีไทย" ของทั้งระนาดเอกและระนาดทุ้ม โดยในสมัยนั้น ถือว่ามีความโดดเด่นเหนือเพื่อนรุ่นเดียวกันที่สามารถบรรเลงเดี่ยวเพลงกราวใน อันเป็นเพลงที่ใช้ทักษะขั้นสูงได้ทั้งครบทั้งระนาดเอก ระนาดทุ้ม และฆ้องวงใหญ่ ซึ่งถ้าผู้เรียนที่มีฝีมือไม่ถึง ครูก็จะไม่สอนให้ ทั้งนี้ครูหลวงบำรุงได้มอบไม้ระนาดเอกชั้นเยี่ยมไว้ให้เป็น "ไม้คู่มือ" แต่เกิดอุบัติเหตุเสียหายจากความอิจฉาริษยาของคน คนไทยจึงได้ฟังเสียงระนาดอยู่เพียงเท่านี้ กิเลสชนิดนี้เป็นอันตรายต่อชาวไทยในทุกๆเรื่อง ทุกๆวงการ

แต่ถึงอย่างไรก็ตามฝีมือการตีระนาดทั้งไม้แข็งและไม้นวมของผศ.สงบศึก ธรรมวิหาร ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญและชมเชยของบุคคลทั่วไป เช่น มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมท ชมว่า "ตีระนาดได้อารมณ์" ดร.เสรี หวังในธรรม ว่า "ตีระนาดไม้แข็งเหมือนครูเผือด" สามีครูท้วม ประสิทธิ์กุล ว่า "ตีระนาดไม้นวมเหมือนไอ้เหลิม" (ครูเฉลิมบัวทั่ง) ครูประสิทธิ์ ถาวร ว่า "ตีระนาดโขนลื่นเป็นปลาไหลเชียว" ครูประสงค์ พิณพาทย์ ว่า "ตีระนาดโขนไม่มีใครสู้" ครูนัฐพงษ์ โสวัตร ได้ยินผศ..สงบศึกบรรเลงระนาดในงานครั้งหนึ่งที่ทำเนียบรัฐบาลก็ชมว่า "ตีระนาดไหว" และในงานไหว้ครูครั้งหนึ่ง นายสุรเดช กิ่มเปี่ยม นักระนาดมือเยี่ยมของกรมศิลปากร ถึงกับขอเดินตามกลุ่มไปด้วย บอกว่า "อยากรู้นักว่าไปกินอะไรมาถึงได้ตีระนาดไหวจัง"

ลักษณะที่โดดเด่นของผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก คือ เป็นบุคคลที่มีฝีมือเป็นที่ประจักษ์ตั้งแต่วัยเด็กสมัยเรียนอยู่ในโรงเรียนนาฏศิลป(วิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) สามารถแสดงฝีมือเดี่ยวฆ้องวงใหญ่ต่อหน้าสาธารณชน โดยเฉพาะเวทีสังคีตศาลา กรมศิลปากร และได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์มนตรี ตราโมท (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งครูผู้ใหญ่ของกรมศิลปากรในสมัยนั้นเสนอแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการทำหน้าที่สอนในโรงเรียนนาฏศิลปขณะที่ยังเป็นนักเรียน โดยเสนอต่ออาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น และได้รับอนุมัติตามเสนอ นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติประวัติอย่างมาก กล่าวคือ ผู้ที่รับการเสนอชื่อรวมทั้งสิ้น 4 คน ได้แก่ ทัศนีย์ ขุนทอง, วัฒนา แดงสวัสดิ์, รัศมี คงลายทอง, และสงบศึก ธรรมวิหาร นับเป็นการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำแหน่งต่ำอัตรารุ่นแรกและรุ่นเดียวได้รับเงินเดือนขั้นแรกเกือบเทียบเท่ากับข้าราชการทั่วไปคือ 425 บาท

อนึ่ง ดนตรีไทยในสมัยนั้นประกอบไปด้วยดนตรีไทยสำนักต่าง ๆ ล้วนมีความเข้มแข็งและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง อย่างไรก็ตามหลวงบำรุงจิตรเจริญ เป็นบรมครูผู้เคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์หลวง และได้รับเชิญให้เป็นครูสอนในกรมมหรสพ และเปลี่ยนชื่อเป็นกรมศิลปากร ในเวลาต่อมา เห็นได้ว่าทางราชการให้ยึดแบบแผนของหลวงบำรุงจิตรเจริญ ในฐานะแบบแผนดนตรีไทยของชาติ ซึ่งต้องส่งเสริมให้มีการสืบทอดในระบบโรงเรียนนาฏศิลป และยังคงสืบทอดแบบแผนดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน หลังจากหลวงบำรุงจิตรเจริญถึงแก่กรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ได้เรียนดนตรีไทยเพิ่มเติมกับครูท่านอื่น ๆ ที่เข้ามารับช่วงการสอนต่อจากหลวงบำรุงจิตรเจริญ ได้แก่ ครูมนตรี ตราโมท(ศิลปินแห่งชาติ), ครูประสิทธิ์ ถาวร(ศิลปินแห่งชาติ), ครูบาง หลวงสุนทร, ครูสอน วงฆ้อง, ครูพริ้ง กาญจนผลิน, ครูเทียบ คงลายทอง, ครูท้วม ประสิทธิกุล(ศิลปินแห่งชาติ) และครูลิ้นจี่ จารุจรณ ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนเป็นบรมครูดนตรีไทยทั้งสิ้น

เมื่อได้ร่ำเรียนทำงานอยู่ในโรงเรียนนาฏศิลปในสมัยนั้น เป็นโอกาสที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ได้เรียนบทเพลงต่าง ๆ ที่อาจารย์มนตรี ตราโมท(ศิลปินแห่งชาติ)ได้ประพันธ์ขึ้นในวาระต่าง ๆ และได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บรรเลงระนาดเอกในการบันทึกเสียงบทเพลงของท่าน ในการเผยแพร่ในนามกรมศิลปากร กอปรกับได้เป็นศิษย์รุ่นแรกในโรงเรียนนาฏศิลปของครูประสิทธิ์ ถาวร (ศิษย์เอกคนหนึ่งของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ) ในปัจจุบันผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึกจึงเป็นเสมือนตัวแทนครูหลวงบำรุงจิตรเจริญ(ธูป สาตนวิลัย) อาจารย์มนตรี ตราโมท และครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในการตรวจชำระทำนอง ว่าโน้ตตัวใด จังหวะใดของบทเพลงใดที่ผิดเพี้ยนไป หรือมือฆ้องเพลงต่าง ๆ ที่ผู้ประพันธ์ได้ถ่ายทอดไว้ให้นั้น ที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

เมื่อกล่าวถึงผู้บรรเลงระนาดเอกโขนละครของกรมศิลปากร นับตั้งแต่รุ่นใหญ่คือครูพริ้ง ดนตรีรสเป็นต้นมา นับว่าครูพริ้ง ดนตรีรสเป็นผู้มีความสามารถโดดเด่น ด้านการตีระนาด ในวงปี่พาทย์ประกอบการแสดงโขนละครของกรมศิลปากร กล่าวกันว่าเป็นผู้ที่ตีระนาดประกอบโขนละครได้ดีที่สุด ส่วนรุ่นถัดลงมานั้นจึงเป็นรุ่นของผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก เมื่อมีงานบรรเลงปี่พาทย์ ของกรมศิลปากร ในความควบคุมของอาจารย์มนตรี ตราโมท(ศิลปินแห่งชาติ) ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโขนละครวาระต่าง ๆ การบันทึกเสียงบทเพลงต่างๆ ของกรมศิลปากร ตลอดจนการบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงในพิธีไหว้ครูตามวิทยาลัยนาฏศิลปภูมิภาคต่าง ๆ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึกจะรับหน้าที่บรรเลงระนาดเอกในวงปี่พาทย์พิธีโดยตลอด ในเรื่องของการตีระนาดประกอบโขนนั้น ผศ.สงบศึกได้คิดกลวิธีต่างๆ ในการที่จะให้ผู้เล่นโขนเต้นสบาย และได้อารมณ์จนเป็นแบบฉบับของกรมศิลปากรมาจนถึงปัจจุบัน ในยุคปัจจุบันนี้นับว่าผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ธรรมวิหาร เป็นบุคลากรที่ก่อให้เกิดคุณูปการแก่แวดวงดนตรีไทยอย่างโดดเด่น นับตั้งแต่ ก่อน พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ท่านได้ทำหน้าที่บรรเลงดนตรีไทยเพื่อการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในโอกาสต่าง ๆ อย่างอเนกอนันต์ ผลงานที่เกิดขึ้นล้วนมีคุณค่าต่อองค์ความรู้ดนตรีไทย อาทิ สื่อบันทึกเสียงที่สำคัญ ของประวัติศาสตร์การบันทึกเสียงดนตรีไทย รวมไปถึงตำราดนตรีไทย เป็นต้น ในด้านการถ่ายทอดดนตรีไทยนั้นท่านได้มีส่วนสร้างบุคลากรดนตรีไทยที่มีคุณภาพ ทำหน้าที่เป็นหลักวิชาการดนตรีไทยของประเทศและประจำอยู่ในหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรมศิลปากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ เมื่อเอ่ยชื่อ “ป๋าหงบ” หรือ “อาจารย์สงบศึก” แล้ว ในวงการดนตรีไทยทั่วประเทศย่อมเกิดทัศนคติที่ดี ท่านเป็นที่รักใคร่ของมิตรสายวิชาชีพเดียวกันเสมอ ๆ อีกทั้งยกย่องในความรู้ความสามารถของท่าน ปัจจุบันท่านยังคงรักงานสอนแม้ว่าท่านจะเกษียณอายุราชการมาเป็นเวลามากกว่า 9 ปีแล้ว ปัจจุบันนี้หากจะหาผู้ที่มีอาวุโสและความรู้ในแบบแผนของกรมมหรสพ อันเป็นแบบแผนหลักของชาติอย่างแท้จริงนั้น หนึ่งในบุคคลที่ต้องอ้างอิงถึงคือผู้ช่วยศาสตราจารย์สงบศึก ธรรมวิหาร

อ้างอิง แก้

  • ดุริยางค์ไทย
  • สงบศึก ธรรมวิหาร. ดุริยางค์ไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2542. 243 หน้า. ISBN 974-332-850-5
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๓๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙, ๒๖ มีนาคม ๒๕๓๖
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๓, ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๒๔๑, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕