สงครามท่าดินแดง

สงครามท่าดินแดง เป็นสงครามระหว่างสยามอาณาจักรรัตนโกสินทร์และอาณาจักรพม่าราชวงศ์โก้นบอง เป็นการรุกรานของพม่าครั้งที่สองในสมัยรัตนโกสินทร์และเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากสงครามเก้าทัพ เกิดขึ้นหลังจากสงครามเก้าทัพหนึ่งปีในพ.ศ. 2329 หลังจากที่ฝ่ายพม่าซึ่งนำโดยพระเจ้าปดุงปราชัยไปในสงครามเก้าทัพและถอยทัพกลับ ในปีต่อมาฝ่ายพม่าพระเจ้าปดุงทรงจัดทัพเข้ารุกรานสยามอีกครั้ง โดยเข้ามาทางเส้นทางเดียวคือทางด่านเจดีย์สามองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพไปสู้รบกับฝ่ายพม่าที่ท่าดินแดงและสามประสบ (อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) ได้รับชัยชนะสามารถต้านทานการรุกรานของพม่าได้สำเร็จ

สงครามท่าดินแดง
ส่วนหนึ่งของ สงครามไทย-พม่า

ภาพวาดการรบที่ท่าดินแดง ฝีมือของเหม เวชกร
วันที่พฤศจิกายน พ.ศ. 2329 - มีนาคม พ.ศ. 2330
สถานที่
ท่าดินแดงและสามประสบ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ผล สยามได้ชัยชนะ
คู่สงคราม
อาณาจักรพม่า อาณาจักรรัตนโกสินทร์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าปดุง
มหาอุปราชตะโดเมงสอ
เมียนวุ่น
เมียนเมวุ่น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
เจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์)
พระยากลาโหมราชเสนา

พระยาจ่าแสนยากร
กำลัง
36,000 30,000

เหตุการณ์นำ แก้

ในพ.ศ. 2328 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานีได้เพียงสามปี พระเจ้าปดุง (Badon Min) กษัตริย์พม่าราชวงศ์โก้นบองจัดทัพเข้ารุกรานอาณาจักรสยามจากหลายทิศทางทั้งหมดจำนวนเก้าทัพ โดยทัพขนาดใหญ่ที่สุดคือทัพหลวงของพระเจ้าปดุงยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้าโจมตีทางกาญจนบุรี โดยส่งแม่ทัพฝ่ายพม่าคือเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นยกทัพหน้าเข้ามาก่อน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทพร้อมทั้งพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) เสด็จยกทัพไปตั้งรับเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นทางกาญจนบุรีที่ทุ่งลาดหญ้า (ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี) นำไปสู่การรบที่ทุ่งลาดหญ้า การสู้รบใช้เวลาประมาณสองเดือน ฝ่ายพม่าประสบปัญหาขาดแคลนเสบียงทำให้ต้องปราชัยและถอยไปในที่สุด เมื่อทัพหน้าของเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นพ่ายแพ้พระเจ้าปดุงจึงทรงถอยทัพกลับไปยังเมืองเมาะตะมะ ทัพของพม่าที่เข้ารุกรานทางราชบุรีก็ไม่ประสบผลเช่นกันต้องถอยกลับไปยังเมืองทวาย

ทางแหลมมลายูภาคใต้นั้น แกงหวุ่นแมงยีแม่ทัพพม่ายกทัพยึดได้เมืองชุมพร เมืองไชยา และเมืองนครศรีธรรมราช กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกทัพลงทางใต้ ทรงให้พระยากลาโหมราชเสนาและพระยาจ่าแสนยากรเอาชนะทัพพม่าได้ที่เมืองไชยา ทำให้แกงหวุ่นแมงยีต้องถอยทัพกลับไปอยู่ที่เมืองมะริดในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2329 แม้ว่าการรุกรานของพม่าในสงครามเก้าทัพจะประสบกับความล้มเหลว แต่พระเจ้าปดุงทรงไม่ยอมแพ้ มีพระราชโองการให้ทัพของแกงหวุ่นแมงยีที่เมืองมะริดถอยไปอยู่เมืองทวาย เพื่อพักค้างในฤดูฝน[1]เตรียมการสำหรับการรุกรานครั้งใหม่หลังจากฤดูฝนสิ้นสุดลง และให้ทัพเมืองทวายกลับไปอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ส่วนพระเจ้าปดุงนั้นยกทัพเสด็จกลับเมืองอังวะ

การจัดเตรียมทัพ แก้

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2329 พระเจ้าปดุงมีพระราชโองการให้พระโอรสคือเจ้าชายอินแซะ (Ainshe หรือ Einshay) มหาอุปราชยกทัพพม่าจำนวน 50,000 คน มาตั้งที่เมืองเมาะตะมะ กาารรุกรานของพม่าในครั้งนี้แตกต่างจากสงครามเก้าทัพในครั้งก่อนคือยกมาเพียงเส้นทางเดียว ที่เมืองเมาะตะมะเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชมีพระบัญชาให้เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่น สองแม่ทัพพม่าที่พ่ายแพ้ในการรบที่ทุ่งลาดหญ้าเมืองปีก่อนหน้า ยกทัพจำนวน 30,000 คน เป็นทัพหน้าเข้ามาก่อน เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นมาตั้งทัพที่ท่าดินแดงและสามประสบ (อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี) โดยฝ่ายพม่าตั้งยุ้งฉางสำหรับเก็บเสบียงอย่างมากมายไว้ตลอดทางเดินทัพ[2][1] เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเสบียงในครั้งก่อนหน้า และสร้างสะพานข้ามแม้น้ำในทุกจุดข้าม หมายจะตั้งทัพอยู่เป็นแรมปี[2][1] ที่ท่าแดนแดงและสามประสบนั้น เมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นให้ตั้งค่ายชักปีกกาขุดสนามเพลาะ ส่วนเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชยกทัพจำนวนที่เหลืออีก 20,000 คน มาตั้งที่แม่น้ำแม่กษัตริย์

กองลาดตระเวนเมืองไทรโยค เมืองศรีสวัสดิ์ และเมืองกาญจนบุรี พบทัพพม่ามาตั้งอยู่ที่ท่าดินแดงและสามประสบ จึงรายงานเข้าไปยังกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯโปรดฯให้จัดเตรียมทัพดังนี้;

  • สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พร้อมทั้งพระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) สมุหนายก เสด็จยกทัพหน้าจำนวน 30,000 คน ล่วงหน้าไปก่อน
  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จยกทัพหลวงจำนวน 30,000 คน พร้อมทั้งกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
  • ให้พระยาพลเทพ (ปิ่น) เป็นผู้รักษาพระนครฯ

การรบ แก้

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จยกทัพจากกรุงเทพฯจำนวน 30,000 คน ทางชลมารคไปยังเมืองไทรโยคเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 3 ขึ้น 14 ค่ำ (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2330) เมื่อถึงเมืองไทรโยคกรมพระราชวังบวรฯมีพระราชบัณฑูรให้พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร และเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน) ยกทัพหน้าจำนวน 20,000 คน ล่วงหน้าไป พบกับทัพพม่าที่สามประสบ เพื่อโจมตีทัพพม่าให้พ่ายแพ้ไปตั้งแต่ที่ชายแดนโดยไม่ให้ทัพพม่าเข้าในเขตแดนดังเช่นในคราวก่อน[1] พระยากลาโหมราชเสนา พระยาจ่าแสนยากร และเจ้าพระยารัตนาพิพิธตั้งค่ายที่สามประสบ ทัพของกรมพระราชวังบวรฯตั้งห่างจากทัพหน้าลงมาเป็นระยะทาง 50 เส้น[2] พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯเสด็จยกทัพหลวงทางชลมารคถึงเมืองไทรโยค แล้วยกขึ้นเป็นทัพบกเสด็จไปตั้งทัพห่างจากทัพของกรมพระราชวังบวรฯลงมา 70 เส้น[2] จากนั้นมีพระราชโองการให้แม่ทัพนายกองทัพหลวงยกแยกออกไปตั้งประชิดกับทัพพม่าที่ท่าดินแดง

ในวันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 4 (21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2330) ทัพฝ่ายไทยเข้าโจมตีทัพฝ่ายพม่าพร้อมกันทั้งทีท่าดินแดงและสามประสบ การสู้รบกินเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนมีการยิ่งปืนใหญ่ใส่กันและกัน การสู้รบใช้เวลาประมาณสามวันจนกระทั่งในวันศุกร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ทัพพม่าแตกพ่ายถอยร่นไป ฝ่ายเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชทรงทราบว่าทัพหน้าของเมียนวุ่นและเมียนเมวุ่นพ่ายแพ้ถอยมาแล้วจึงมีพระบัญชาให้ถอยทัพกลับไปยังเมืองเมาะตะมะเช่นกัน ทัพฝ่ายไทยยกติดตามไปสังหารทหารพม่าจำนวนและติดตามไปจนถึงแม่น้ำแม่กษัตริย์ซึ่งทัพของเจ้าชายอินแซะมหาอุปราชตั้งอยู่ จากนั้นมีพระราชโองการให้เผาทำลายยุ้งฉางที่เก็บเสบียงของพม่าจนหมดสิ้น แล้วจึงยกทัพกลับพระนคร

ผลลัพธ์ แก้

 
"ด่านเจดีย์สามองค์" ณ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นช่องทางหลักของการเดินทัพของพม่า

สงครามท่าดินแดง นับเวลาตั้งแต่ยกทัพออกจากกรุงเทพฯไป ใช้ระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน[1] สามารถเอาชนะทัพฝ่ายพม่าได้ แม้ว่าฝ่ายพม่าพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องความขาดแคลนเสบียงดังที่เกิดขึ้นในสงครามเก้าทัพครั้งก่อนแล้ว แต่ฝ่ายพม่ากลับไม่สามารถตั้งทัพอยู่ได้นานต้องถอยกลับไปในเวลาสั้น ฝ่ายสยามยกทัพไปพบกับทัพพม่าถึงเขตชายแดน[1] ไม่ปล่อยให้ทัพพม่ายกล่วงเข้ามาถึงลาดหญ้าเหมือนครั้งก่อน หลังจากสงครามเก้าทัพและสงครามท่าดินแดงฝ่ายสยามกลับขึ้นเป็นฝ่ายรุกในฝั่งภาคตะวันตกนำไปสู่สงครามตีเมืองทวาย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.