หยาดน้ำค้าง (สกุล)

(เปลี่ยนทางจาก สกุลหยาดน้ำค้าง)
บทความนี้เป็นบทความสกุลทางชีววิทยา สำหรับบทความอื่นดูที่หยาดน้ำค้าง
หยาดน้ำค้าง
Drosera tokaiensis
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Core eudicots
อันดับ: Caryophyllales
วงศ์: Droseraceae
สกุล: Drosera
L.
สปีชีส์

ดูเพิ่มในรายชื่อของพืชในสกุลหยาดน้ำค้าง

หยาดน้ำค้าง (อังกฤษ: Sundew) เป็นพืชกินสัตว์สกุลใหญ่สกุลหนึ่ง ในวงศ์หญ้าน้ำค้าง มีประมาณ 194 ชนิด สามารถล่อ จับ และย่อยแมลงด้วยต่อมเมือกของมันที่ปกคลุมอยู่ที่ผิวใบ โดยเหยื่อที่จับได้จะใช้เป็นสารเสริมทดแทนสารอาหารที่ขาดไป พืชในสกุลหยาดน้ำค้างมีหลายรูปแบบและหลายขนาดต่างกันไปในแต่ละชนิด สามารถพบได้แทบทุกทวีปทั่วโลก ยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา

ชื่อวิทยาศาสตร์ของหยาดน้ำค้าง คือ Drosera มาจากคำในภาษากรีก δρόσος: "drosos" แปลว่า "หยดน้ำ หรือ น้ำค้าง" รวมทั้งชื่อในภาษาอังกฤษ "sundew" กลายมาจาก ros solis ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า "น้ำตาพระอาทิตย์" โดยมีที่มาจากเมือกบนปลายหนวดแต่ละหนวดที่แวววาวคล้ายน้ำค้างยามเช้า

ในประเทศไทยพบหยาดน้ำค้างอยู่ 3 ชนิดคือ จอกบ่วาย (Drosera burmannii Vahl), หญ้าน้ำค้าง (Drosera indica L.) และ หญ้าไฟตะกาด (Drosera peltata Sm.)[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

หยาดน้ำค้างเป็นพืชหลายปี (มีไม่กี่ชนิดที่เป็นพืชปีเดียว) โตชั่วฤดู มีรูปแบบเป็นใบกระจุกทอดนอนไปกับพื้นหรือแตกกิ่งก้านตั้งตรงกับพื้นดิน มีขนาดความสูง 1 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับชนิด ในชนิดที่มีรูปแบบลำต้นเลื้อยไต่สามารถยาวได้ถึง 3 เมตร เช่น ชนิด D. erythrogyne[2] หยาดน้ำค้างสามารถมีช่วงชีวิตได้ถึง 50 ปี[3] พืชสกุลนี้มีความสามารถในการดูดซึมสารอาหารจากเหยื่อที่จับได้เพราะหยาดน้ำค้างขนาดเล็กจะไม่มีเอนไซม์ (โดยเฉพาะไนเตรทรีดักเตส[4]) ที่ต้นไม้ทั่วไปใช้ดูดซึมสารประกอบไนโตรเจนในดิน

ลักษณะวิสัย แก้

 
หัวใต้ดินของ D. zonaria, หยาดน้ำค้างชนิดที่มีหัว จะเริ่มต้นเติบโตในฤดูหนาว

สกุลสามารถแบ่งได้ตามรูปแบบการเจริญเติบโต:

  • หยาดน้ำค้างเขตอบอุ่น (Temperate Sundews): เป็นชนิดที่เป็นกลุ่มใบคลี่ออกหนาแน่นหรือที่เรียกว่าหน่องันที่จำศลีในฤดูหนาว มีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป Drosera arcturi จากออสเตรเลีย (รวมทั้งแทสมาเนีย) และนิวซีแลนด์เป็นอีกหนึ่งชนิดของหยาดน้ำค้างเขตอบอุ่นที่ตายลงกลับไปสู่หน่องันรูปเขาสัตว์
  • หยาดน้ำค้างใกล้เขตร้อน (Subtropical Sundews): หยาดน้ำค้างชนิดนี้เป็นการเติบโตไม่อาศัยเพศมีวงจรการเติบโตเพียงหนึ่งรอบปีภายใต้ภูมิอากาศใกล้เขตร้อนหรือเกือบใกล้เขตร้อน
  • หยาดน้ำค้างแคระ (Pygmy Sundews): มีประมาณ 40 ชนิดในออสเตรเลีย มีขนาดเล็กมาก มีการสร้างหน่อ (เจมมา) สำหรับการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และมีขนหนาแน่นบริเวณกะบังรอบตรงกลาง ซึ่งขนเหล่านี้ใช้ปกป้องต้นไม้จากแสงอันร้อนแรงของพระอาทิตย์ในฤดูร้อนของทวีปออสเตรเลีย หยาดน้ำค้างแคระได้รับการจัดเป็นสกุลย่อย Bryastrum
  • หยาดน้ำค้างมีหัว (Tuberous Sundews): มีเกือบ 50 ชนิดในประเทศออสเตรเลีย ที่มีหัวอยู่ใต้ดินเพื่อจะได้มีชีวิตรอดจากฤดูร้อนที่สุดโต่งในถิ่นที่อยู่อาศัย และจะแตกใบใหม่ในฤดูใบไม้ร่วง แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือลำต้นใบกระจุกแบบกุหลาบซ้อนและลำต้นแบบเลื้อยไต่ หยาดน้ำค้างมีหัวได้รับการจัดเป็นสกุลย่อย Ergaleium
  • หยาดน้ำค้าก้านใบเป็นปมตรงปลาย (Petiolaris Complex): กลุ่มของหยาดน้ำค้างเขตร้อนของประเทศออสเตรเลียที่ถิ่นอาศัยมีอากาศอบอุ่นคงที่แต่ปัจัยความเปียกชื้นไม่สม่ำเสมอ มีประมาณ 14 ชนิดที่วิวัฒนาการเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับสิ่งแวดล้อมแห้งแล้งแต่ผันผวนนั้น เช่น มีขนปกคลุมก้านใบหนาแน่น ซึ่งจะรักษาความชุ่มชื้นไว้ และเพิ่มผิวสำหรับการควบแน่นน้ำค้างยามเช้า

ถึงแม้ว่าหยาดน้ำค้างเหล่านี้ไม่ได้เป็นรูปแบบการเจริญเติบโตแบบเดียวกันอย่างชัดเจน แต่มักจะรวบกันไว้ในกลุ่มเดียวกัน:

  • หยาดน้ำค้างควีนแลนด์ (Queensland Sundews): เป็นกลุ่มเล็กมี 3 ชนิด (D. adelae D. schizandra และ D. prolifera) ทั้งหมดเติบโตในถิ่นที่อยู่ที่มีความชื้นสูงในร่มเงาของป่าฝนประเทศออสเตรเลีย

ใบและกับดัก แก้

 
ใบและหนวดที่เคลื่อนไหวได้ของ D. capensis
 
บางส่วนของใบ D. filiformis var. tracyi ซึ่งจับแมลงได้

หยาดน้ำค้างมีต่อมหนวดจับ ที่ปลายของหนวดมีสารคัดหลั่งเหนียวปกคลุมแผ่นใบ กลไกการจับและย่อยเหยื่อปกติใช้ต่อมสองชนิด ชนิดแรกคือต่อมมีก้านที่หลั่งเมือกรสหวานออกมาดึงดูดและดักจับแมลง และหลั่งเอนไซม์ออกมาเพื่อย่อยแมลงนั้น ชนิดที่สองคือต่อมไร้ก้านที่ดูดซึมสารอาหารที่ได้จากการย่อย (หยาดน้ำค้างบางชนิดไม่มีต่อมไร้ก้าน เช่น D. erythrorhiza) เหยื่อขนาดเล็กซึ่งส่วนมากจะเป็นแมลงจะถูกดึงดูดโดยสารคัดหลั่งรสหวานที่หลั่งออกมาจากต่อมมีก้าน เมื่อแมลงแตะลงบนหนวด แมลงก็จะถูกจับไว้ด้วยเมือกเหนียว และในที่สุดเหยื่อก็จะยอมจำนนต่อความตายด้วยความเหนื่อยอ่อนหรือการขาดอากาศหายใจเพราะเมือกจะห่อหุ้มตัวและอุดทางเดินหายใจของเหยื่อนั้น ซึ่งส่วนมากจะกินเวลา 15 นาที[5] ต้นไม้จะหลั่งเอนไซม์ เอสเทอร์เรส, เพอร์ออกซิเดส, ฟอสฟาเตส และ โปรตีเอส[6]ออกมา เอนไซม์เหล่านี้จะย่อยและปลดปล่อยสารอาหารออกจากแมลง สารอาหารจะถูกดูดซึมผ่านทางผิวใบเพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่อไป

 
ขนติ่งของ D. indica

หยาดน้ำค้างทุกชนิดสามารถเคลื่อนไหวหนวดของมันได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวนั้นจะตอบสนองต่อการสัมผัสของเหยื่อ หนวดจะไวต่อการกระตุ้นอย่างมากและจะงอเข้าหากลางใบเพื่อนำเหยื่อมาสัมผัสกับต่อมมีก้านให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามคำกล่าวของชาลส์ ดาร์วิน การสัมผัสของขาแมลงขนาดเล็กกับหนวดของหยาดน้ำค้างเพียงหนวดเดียวก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองนั้นได้[5] การตอบสนองต่อการสัมผัสเรียกว่าทิกมอทรอปิซึม (thigmotropism, การเคลื่อนไหวของพืชโดยมีสัมผัสเป็นสิ่งเร้า) และในหยาดน้ำค้างบางชนิดการตอบสนองนี้จะเกิดรวดเร็วมาก หนวดรอบนอกของ D. burmannii และ D. sessilifolia สามารถงอเข้าสู่ภายในภายในไม่กี่วินาทีเมื่อถูกสัมผัส ในขณะที่ D. glanduligera สามารถงอหนวดรัดเหยื่อได้ในสิบวินาที[7] หยาดน้ำค้างบางชนิดสามารถงอแผ่นใบได้หลายองศาเพื่อให้สัมผัสเหยื่อมากที่สุด D. capensis มีการเคลื่อนไหวที่น่าทึ่งที่สุด ใบของมันจะงอล้อมรอบตัวเหยื่อได้ใน 30 นาที และในหยาดน้ำค้างบางชนิดอย่างเช่น D. filiformis ไม่สามารถงอใบตอบสนองเหยื่อได้[8]

ในหยาดน้ำค้างในออสเตรเลียบางชนิด (D. hartmeyerorum, D. indica) มีรูปแบบขนติ่ง (แข็งมีสีแดงหรือเหลือง) เพิ่มเข้ามา ซึ่งอาจจะใช้ในการช่วยจับเหยื่อ แต่หน้าที่แท้จริงของมันนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

รูปร่างสัณฐานของใบในสกุลหยาดน้ำค้างนั้นมีความหลากหลายแบบสุดโต่ง มีตั้งแต่ใบรูปไข่ไร้ก้านของ D. erythrorhiza จนถึงใบรูปเข็มกึ่งแบบขนนกสองชั้นของ D. binata

ดอกและผล แก้

 
ดอกของ D. kenneallyi

ดอกของหยาดน้ำค้างคล้ายกับพืชกินสัตว์ชนิดอื่นๆที่ชูดอกอยู่เหนือใบของมันด้วยก้านดอกที่ยาว การที่ดอกและกับดักอยู่ห่างกันนั้นน่าจะเกิดจากการปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้พาหะถ่ายเรณูมาติดกับดักของมัน อย่างไรก็ตาม มีการแสดงว่าหยาดน้ำค้างดึงดูดแมลงต่างชนิดกันสำหรับพาหะถ่ายเรณูและเหยื่อซึ่งชนิดของแมลงทั้งสองประเภทนั้นคาบเกี่ยวกันเพียงเล็กน้อย[9] ความสูงของก้านดอกนั้นอาจเป็นไปได้ที่ใช้ยกดอกให้สูงขึ้นเพื่อให้พาหะถ่ายเรณูสนใจ ส่วนมากช่อดอกจะเป็นช่อเชิงลด ดอกจะบานออกโดยการตอบสนองต่อความเข้มของแสง(เปิดเฉพาะเมื่อได้รับแสงแดดโดยตรง)และดอกจะเบนตามแสงแดดโดยตอบสนองต่อพระอาทิตย์

ดอกของหยาดน้ำค้างจะเป็นวงกลมสมมาตรกัน มีห้ากลีบ (ยกเว้นในบางชนิดที่มีสี่กลีบดอก; D. pygmaea และแปดถึงสิบสองกลีบดอก; D. heterophylla) โดยมากมีดอกขนาดเล็ก (<1.5 ซม. หรือ 0.6 นิ้ว) อย่างไรก็ตาม มีหยาดน้ำค้างสองสามชนิด เช่น D. regia และ D. cistiflora ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 4 ซม. (1.5 นิ้ว) หรือมากกว่า[8] ทั่วไปแล้วดอกมีสีขาวหรือชมพู แต่ชนิดที่ขึ้นในประเทศออสเตรเลียกลับมีสีที่หลากหลาย เช่น สีส้ม (D. callistos), สีแดง (D. adelae), สีเหลือง (D. zigzagia) หรือสีม่วง (D. microphylla)

หยาดน้ำค้างมีรังไข่เป็นรังไข่แบบสูงกว่าและพัฒนามาเป็นผลแห้งแตกที่ภายใบบรรจุไปด้วยเมล็ดเล็กๆมากมาย

ราก แก้

 
Drosera anglica กับเหยื่อ

ระบบรากของหยาดน้ำค้างเกือบทุกชนิดจะมีการวิวัฒนาการน้อยมาก เพราะหน้าที่หลักของมันมีแค่ดูดซับน้ำและยึดต้นไม้กับกับพื้น หยาดน้ำค้างแอฟริกาสองสามชนิดใช้รากเป็นที่เก็บสะสมน้ำและอาหาร บางชนิดมีระบบรากจริงที่เหลืออยู่ระหว่างฤดูหนาวถ้าลำต้นตายลง บางชนิด เช่น Drosera adelae และ Drosera hamiltonii ใช้รากของมันสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยแตกหน่อจากรากของมัน หยาดน้ำค้างในออสเตรเลียบางชนิดมีหัวใต้ดินเพื่อให้ต้นไม้รอดตายในฤดูร้อนที่แห้งแล้ง รากของหยาดน้ำค้างแคระบ่อยครั้งที่มันมีรากที่ยาวมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับขนาดของต้น 1 ซม.มีรากยาวมากกว่า 15 ซม.จากผิวดิน หยาดน้ำค้างแคระบางชนิด เช่น D. lasiantha และ D. scorpioides มีระบบรากวิสามัญ หยาดน้ำค้างชนิด Drosera intermedia และ D. rotundifolia มีรายงานว่าพบรูปแบบอาบัสคูลาไมคอไรซาแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อของพืช[10]

วงศ์วานวิวัฒนาการ แก้








หมู่ Drosera*



หมู่ Ptycnostigma




หมู่ Drosera*




หมู่ Thelocalyx






สกุลย่อย Ergaleium



สกุลย่อย Phycopsis






หมู่ Bryastrum



หมู่ Lasiocephala




หมู่ Coelophylla






หมู่ Drosera: Drosera arcturi*





Section Regiae



Aldrovanda





Dionaea


แผนภาพวิวัฒนาการชาติพันธุ์แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสกุลย่อยจำแนกโดยรีวาดาเวีย (Rivadavia) และคณะในปี ค.ศ. 2002[11] หมู่ Meristocaulis ที่มีเพียงชนิดเดียวไม่ถูกรวมไว้ในการศึกษานี้ ทำให้การจัดความสัมพันธ์ไม่ชัดเจนนัก แต่ในการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ ได้จัดวางมันไว้ใกล้กับหมู่ Bryastrum นอกจากนี้หมู่ Regiae ทีมีความสัมพันธ์กับ Aldrovanda และ Dionaea ก็ยังไม่แน่นอน[12] นอกจากนี้ หมู่ Drosera เป็นกลุ่มที่มีบรรพบุรุษต่างกัน ถูกจัดความสัมพันธ์หลายสายในแผนภาพวงศ์วานวิวัฒนาการ ดังนั้นควรมีการปรับปรุงเพื่อให้ความความชัดเจนมากขึ้น

การสืบพันธุ์ แก้

หยาดน้ำค้างหลายชนิดสืบพันธุ์ได้ด้วยตนเอง (ผสมในต้นเดียว) และบ่อยครั้งที่มีการผสมเรณูในดอกเดียวกัน[8] ทำให้มีเมล็ดมากมาย เมล็ดสีดำเล็กๆจะเริ่มงอกเมื่อได้รับแสงและความชื้น ขณะที่เมล็ดของชนิดที่อยู่ในเขตอบอุ่นต้องการความเย็น, อากาศชื้น, เป็นตัวกระตุ้นในการงอก เมล็ดของหยาดน้ำค้างที่มีหัวต้องการความร้อน, ฤดูร้อนที่แห้ง ตามด้วยความเย็น, ฤดูหนาวที่เปียกชื้น สำหรับกระตุ้นให้เมล็ดงอก

การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเกิดขึ้นตามธรรมชาติในหยาดน้ำค้างบางชนิดที่สร้างไหลหรือเมื่อรากอยู่ใกล้กับผิวดิน ใบแก่ที่สัมผัสกับดินอาจแตกหน่อเป็นต้นเล็กๆได้ หยาดน้ำค้างแคระจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศเช่นกัน โดยใช้ใบที่คล้ายเกล็ดที่เรียกว่าเจมมา หยาดน้ำค้างที่มีหัวสามารถสร้างตะเกียงจากหัวของมันได้

บ่อยครั้งการกระจายพันธุ์ของหยาดน้ำค้างเกิดจากใบ, หัว หรือราก เท่าๆกับที่เกิดจากเมล็ด

การกระจายพันธุ์ แก้

 
การกระจายพันธุ์ของหยาดน้ำค้าง แสดงด้วยสีเขียว

การกระจายพันธุ์ของพืชสุกลหยาดน้ำค้างนั้นแพร่กระจายจากรัฐอะแลสกาในทางตอนเหนือจนถึงประเทศนิวซีแลนด์ในทางตอนใต้ โดยมีศูนย์กลางความหลากหลายอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย (ประมาณ 50% ของชนิดที่ค้นพบ), ทวีปอเมริกาใต้ (20+ ชนิด) และทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา (20+ ชนิด) มีหยาดน้ำค้างสองสามชนิดที่พบได้ในทวีปยูเรเชียและทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งบริเวณเหล่านี้ถือเป็นรอบนอกของการกระจายพันธุ์ของสกุลซึ่งโดยทั่วไปการกระจายพันธุ์ของหยาดน้ำค้างจะไม่เข้าใกล้บริเวณเขตอบอุ่นหรือขั้วโลกเหนือ มีการคาดคิดที่ต่างออกไปว่าการวิวัฒนาการของพืชสกุลนี้เกิดขึ้นในช่วงการแตกออกของทวีปกอนด์วานา เนื่องจากการเลื่อนไหลของทวีป และการวิวัฒนาการที่เกิดการกระจายตัวที่กว้างขวางในปัจจุบันเกิดจากผลนั้น[11] ต้นกำเนิดของสกุลคาดว่าอยู่ในทวีปแอฟริกาหรือประเทศออสเตรเลีย[11]

ในยุโรปพบหยาดน้ำค้างเพียงสามชนิดเท่านั้น คือ: D. intermedia, D. anglica, และ D. rotundifolia ซึ่งสองชนิดหลังมีการกระจายพันธุ์ที่ซ้อนทับกัน ทำให้เกิดลูกผสมที่เป็นหมันอย่าง D. × obovata ในอเมริกาเหนือนอกจากจะมีหยาดน้ำค้างสามชนิดรวมทั้งลูกผสมเหมือนกับในยุโรปแล้วยังมีหยาดน้ำค้างอีกสี่ชนิด D. brevifolia เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กที่พบในรัฐที่ใกล้ชายฝั่ง จากรัฐเท็กซัสถึงรัฐเวอร์จิเนีย ในขณะที่ D. capillaris นั้นพบได้ในแถบเดียวกันและยังพบในแถบแคริบเบียนอีกด้วย ชนิดที่สาม D. linearis พบทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาและทางตอนใต้ของประเทศแคนาดา D. filiformis มีสองชนิดย่อยพบตามรัฐทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เช่น แหลมฟลอริดา เป็นต้น

พืชในสกุลนี้บ่อยครั้งถูกระบุบว่าพบได้ทั่วโลกซึ่งหมายความว่ามีการกระจายพันธุ์ทั่วโลก ลุดวิจ ดีลส์ (Ludwig Diels) นักพฤกษศาสตร์ ผู้เขียนเอกสารเกี่ยวสกุลนี้ เรียกสิ่งนี้ว่า "การตัดสินใจที่ผิดอย่างที่สุดในสกุลนี้ การกระจายพันธุ์นั้นผิดปกติอย่างมาก" („arge Verkennung ihrer höchst eigentümlichen Verbreitungsverhältnisse“) ในขณะที่ยอมรับว่าหยาดน้ำค้าง "อาศัยอยู่ในส่วนที่พิเศษของผิวโลก" („einen beträchtlichen Teil der Erdoberfläche besetzt“)[13] เขาชี้ว่าไม่พบหยาดน้ำค้างจากในบริเวณเกือบจะทั้งหมดของพื้นที่ที่มีสภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ป่าดิบชื้น ชายฝั่งแปซิฟิกของอเมริกา โพลีนีเซีย บริเวณเมดิเตอร์เรเนียน และ แอฟริกาเหนือ และพบหนาแน่นน้อยในแถบอบอุ่น เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ[13]

ถิ่นอาศัย แก้

 
หยาดน้ำค้างใบกลม (D. rotundifolia) เติบโตในสแฟกนั่ม มอสส์ร่วมกับกกและหญ้าถอดปล้อง

โดยทั่วไปแล้วหยาดน้ำค้างจะเติบโตในฤดูที่มีความชุ่มชื้นหรือถิ่นอาศัยที่เปียกชื้นตลอดปีที่มีดินมีสภาพเป็นกรดและได้รับแสงในปริมาณที่สูง ถิ่นอาศัยโดยปกติจะเป็นหนองน้ำ, พื้นที่ลุ่ม, ที่ลุ่มหนอง, ที่ลุ่มมีน้ำขัง,ภูเขาหัวตัดของประเทศเวเนซุเอลา, วอล์ลัมของชายฝั่งออสเตรเลีย, ฟินบอสของประเทศแอฟริกาใต้, และลำห้วยที่ชุ่มชื้น หยาดน้ำค้างหลายชนิดเติบโตในกลุ่มสแฟกนั่ม มอสส์ซึ่งดูดซับสารอาหารจำนวนมากจากดินและเปลี่ยนดินให้มีสภาพเป็นกรด ทำให้ดินมีสารอาหารไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของพืช ซึ่งหยาดน้ำค้างเหล่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารอาหารเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตปกคุลมได้บนพื้นที่เหล่านี้

จากที่กล่าวมาข้างต้น หยาดน้ำค้างมีความหลากหลายในถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้หยาดน้ำค้างแต่ละชนิดต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย อย่างในป่าฝน, ทะเลทราย (เช่น D. burmannii และ D. indica) และสิ่งแวดล้อมที่เกือบไม่ได้รับแสงเลย (หยาดน้ำค้างควีนแลนด์) หยาดน้ำค้างชนิดในเขตอบอุ่นจะจำศีลในฤดูหนาว ซึ่งเป็นตัวอย่างการปรับตัวให้เข้ากับถิ่นอาศัย ทั่วไปแล้วหยาดน้ำค้างชอบสภาพอากาศอบอุ่นแต่ก็ทนต่อความหนาวเย็นได้พอสมควร

การอนุรักษ์ แก้

 
ใบของ Drosera rotundifolia

แม้ว่าไม่มีหยาดน้ำค้างชนิดใดในสหรัฐอเมริกาจะได้รับการปกป้องจากรัฐบาลกลาง แต่ทุกชนิดกลับถูกบรรจุอยู่ในบัญชีพืชที่ถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ในบางรัฐ[14] นอกจากนี้ ประชากรส่วนมากที่เหลืออยู่จะพบในพื้นที่ที่ได้รับการปกป้อง เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พืชในสกุลหยาดน้ำค้างได้รับการปกป้องโดยกฎหมายจากหลายประเทศในยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี[15] ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์[15] ฮังการี[15] ฝรั่งเศส[15] และบัลแกเรีย[15] ปัจจุบัน การคุกคามร้ายแรงในยุโรปและอเมริกาเหนือคือการสูญเสียถิ่นอาศัยจากการพัฒนา เช่น การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อการเกษตร และการเก็บเกี่ยวพีท (peat) บางชนิดสูญพันธุ์ไปแล้วในหลายพื้นที่ของการกระจายพันธุ์ การนำพืชกลับเข้ามาสู่ถิ่นอาศัยเป็นการยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะความต้องการทางระบบนิเวศวิทยาของประชากรพืชนั้นๆ ต้องใกล้เคียงกับบริเวณภูมิศาสตร์ที่อาศัยเดิมของมัน เนื่องจากความคุ้มครองทางกฎหมายในหนองน้ำและทุ่งหญ้าที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับผลของความพยายามอันเข้มข้นที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของถิ่นอาศัยดังกล่าว ภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของของหยาดน้ำค้างอาจจะจำกัดขอบเขตได้ แม้ว่าหยาดน้ำค้างหลายชนิดส่วนมากจะถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ ด้วยความที่หยาดน้ำค้างมีขนาดเล็ก โตช้า ทำให้ยากต่อการปกป้อง ในการที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศ หยาดน้ำค้างมักถูกมองข้ามหรือไม่เป็นที่จดจำ

ในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศออสเตรเลีย สองสามพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยทางธรรมชาติของพืชสกุลนี้อยู่ภายใต้การรุกรานอย่างมากจากกิจกรรมของมนุษย์ แหล่งอาศัยหลายพื้นที่ (เช่น รัฐควีนส์แลนด์, เพิร์ท และ เคปทาวน์) ถูกคุกคามอย่างหนักจากการลดลงของความชื้นที่เกิดจากการทำการเกษตรและการทำป่าไม้ในพื้นที่ชนบท อีกทั้งภัยแล้งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็เป็นเหตุคุกคามหยาดน้ำค้างหลายชนิดเช่นกัน

พืชสกุลนี้ที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นมีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่จำกัด มักถูกคุกคามจากการเก็บพืชออกจากป่า D. madagascariensis ได้รับการจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศมาดากัสการ์เพราะถูกเก็บออกจากป่าจำนวนมาก โดยถูกส่งออกถึง 10 - 200 ล้านต้นต่อปีเพื่อให้ในเชิงการแพทย์[15]

ประโยชน์ แก้

 
หน้าหนึ่งในข้อเขียนวอยนิชที่แสดงภาพวาดเก่าแก่ที่อาจจะเป็นพืชชนิดหนึ่งในสกุลหยาดน้ำค้าง

ประโยชน์ทางการแพทย์ แก้

หยาดน้ำค้างถูกให้ในทางการแพทย์มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่12 เมื่อแพทย์ชาวอิตาลีจากโรงเรียนแห่งซาแลร์โน (Salerno) ที่ชื่อมัตตาเออุส ปลาเตอารีอุส (Matthaeus Platearius) บรรยายถึงพืชสกุลนี้ว่าเป็นยาสมุนไพรรักษาอาการไอภายใต้ชื่อ "herba sole" มีการใช้กันทั่วไปในประเทศเยอรมนีและทุกๆที่ในทวีปยุโรป ชาที่ทำจากหยาดน้ำค้างถูกแนะนำจากนักสมุนไพรว่าสามารถเป็นรักษาอาการไอแห้งๆ, โรคหลอดลมอักเสบ, โรคไอกรน, โรคหืด และ "อาการหายใจลำบากที่มีสาเหตุจากหลอดลม"[16] จากการศึกษาในปัจจุบันระบุบว่าพืชสกุลหยาดน้ำค้างมีคุณสมบัติบรรเทาอาการไอ[17]

Materia Medica ของคูลเบร์ท (Culbreth) ในปี ค.ศ. 1927 แสดงรายการว่า D, rotundifolia, D. anglica และ D.linearis ใช้เป็นยากระตุ้น และ รักษา หลอดลมอักเสบ, ไอกรน, และ วัณโรค[18] หยาดน้ำค้างถูกใช้เป็นสารกระตุ้นกำหนัดและกระตุ้นหัวใจด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังใช้รักษาการไหม้จากแดดเผา ปวดฟัน[19] และป้องกันเป็นกระ ยาเหล่านี้ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน มีประมาณ 200-300 ชนิดที่ขึ้นทะเบียน ปกติจะใช้ร่วมกับส่วนผสมอื่น ปัจจุบัน หยาดน้ำค้างยังคงใช้ในการรักษาอาการป่วยอย่างเช่น ไอ การติดเชื้อที่ปอด และ แผลในกระเพาะ

ยาแต่เดิมนั้นทำมาจาก ราก ดอก และผล[20] ตั้งแต่หยาดน้ำค้างมีการอนุรักษ์ในหลายๆส่วนของยุโรปและอเมริกาเหนือ การสกัดยานั้นจึงต้องใช้หยาดน้ำค้างที่โตเร็วและได้จากการปลูกเลี้ยง (โดยเฉพาะ D. rotundifolia, D. intermedia, D. anglica, D. ramentacea และ D. madagascariensis) หรือหยาดน้ำค้างที่นำเข้ามาจาก มาดากัสการ์, สเปน, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์ และ ประเทศกลุ่มทะเลบอลติก[21]

ไม้ประดับ แก้

เพราะด้วยความที่มันเป็นพืชกินสัตว์และมีกับดักที่สวยงามแพรวพราว หยาดน้ำค้างจึงเป็นไม้ประดับที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตามความต้องการในสิ่งแวดล้อมของหยาดน้ำค้างหลายๆชนิดค่อนข้างจะเข้มงวดทำให้ยากต่อการปลูกเลี้ยง เป็นผลให้หยาดน้ำค้างหลายๆชนิดไม่มีการปลูกเลี้ยงทางการค้ากัน แต่ก็ยังมีอีกสองสามชนิดที่ถูกเลี้ยงทางการค้าอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และมักจะพบมันวางขายอยู่ใกล้ๆกับกาบหอยแครง ซึ่งก็มี D. capensis, D. aliciae, และ D. spatulata[22]

ในหยาดน้ำค้างหลายๆชนิด โดยทั่วไปแล้ว ต้องการสิ่งแวดล้อมที่มีความชื้นสูง ปกติจะอยู่ในรูปแบบของเครื่องปลูกที่เปียกหรือชื้นอย่างสม่ำเสมอ หลายชนิดต้องการน้ำบริสุทธิ์ สารอาหาร เกลือ หรือแร่ธาตุในดิน สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตหรือทำให้มันตายได้ ปกติจะใช้เครื่องปลูกเป็นสแฟกนัมมอสส์ที่ยังสดผสมกับที่แห้งแล้ว, สแฟกนัมพีชมอสส์, ทราย, และ/หรือ เพอร์ไลต์ และรดน้ำด้วยน้ำกลั่น, น้ำที่ผ่านกระบวนการออสโมซิสผันกลับ หรือน้ำฝน[8]

นาโนเทคโนโลยีชีวภาพ แก้

เมือกที่ผลิตโดยหยาดน้ำค้างมีคุณสมบัติยืดหยุ่นอย่างน่าทึ่งและทำให้สกุลนี้เป็นหัวเรื่องที่น่าสนใจมากในการวิจัยวัสดุชีวภาพ ในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ได้ทำการวิเคราะห์เมือกเหนียวในหยาดน้ำค้างสามชนิด (D. binata, D. capensis, และ D. spatulata) เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณเส้นใยนาโนและอนุภาคนาโน[23] จากการใช้กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอม, กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน, และการวัดการกระจายพลังงานของรังสีเอกซ์ นักวิจัยสามารถสังเกตเห็นเครือข่ายของเส้นใยนาโนและอนุภาคนาโนที่มีขนาดต่าง ๆ ภายในเมือก นอกจากนี้ยังพบแคลเซียม แมกนีเซียม และ คลอรีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเกลือชีวภาพ[23] อนุภาคนาโนเหล่านี้คาดว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความเหนียวและความหนืดของเมือก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกับดัก ที่สำคัญ ในการวิจัยวัสดุชีวภาพคือเมื่อเมือกถูกทำให้แห้งจะให้สารตั้งต้นที่เหมาะสมสำหรับการยึดติดกับเซลล์ที่มีชีวิต สิ่งนี้มีความหมายที่สำคัญสำหรับวิศวกรรมเนื้อเยื่อเนื่องจากคุณสมบัติยืดหยุ่นของสาร โดยพื้นฐานแล้ว การเคลือบเมือกหยาดน้ำค้างบนการผ่าตัดแบบปลูกฝัง เช่น การเปลี่ยนสะโพก หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถเพิ่มอัตราการฟื้นตัวอย่างมากและลดโอกาสในการถูกปฏิเสธ เนื่องจากเนื้อเยื่อที่มีชีวิตสามารถติดและเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ผู้แต่งยังแนะนำการใช้งานที่หลากหลายสำหรับเมือกหยาดน้ำค้าง ประกอบด้วย การรักษาแผล การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม หรือสารยึดติดสังเคราะห์ประสิทธิภาพสูง[23]

อื่นๆ แก้

หัวของหยาดน้ำค้างชนิดที่มีหัวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลียเป็นอาหารของชนเผ่าอะบอริจิน ชนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย[24] หัวบางชนิดก็ถูกนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า[25] ขณะที่สีม่วงและสีเหลืองที่ย้อมอยู่บนเสื้อผ้าของชาวสก็อตตามภูเขาสูงได้จาก D. rotundifolia[26] เหล้าที่ทำจากพืชสกุลหยาดน้ำค้าง ปัจจุบันยังคงยังมีการผลิตอยู่ ซึ่งใช้สูตรจากสมัยคริสต์ศวรรษที่ 14 โดยทำมากจากใบสดๆของ D. capensis, D. spatulata, และ D. rotundifolia[25]

องค์ประกอบทางเคมี แก้

สารประกอบทางเคมีหลายชนิดที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพพบได้ในหยาดน้ำค้าง ประกอบด้วย ฟลาโวนอยด์ (แคมพ์เฟอรอล, ไมริเซติน, เควอซิทิน และ ไฮเปอร์โรไซด์),[27] ควิโนน (พลัมบาจิน,[28] hydroplumbagin glucoside[29] และ rossoliside (7–methyl–hydrojuglone–4–glucoside)[30]), และส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น แคโรทีนอยด์, กรดพืช (เช่น กรดบิวทิริก, กรดซิตริก, กรดฟอร์มิก, กรดแกลลิก, กรดมาลิก, กรดโพรพิโอนิก), ยางไม้, แทนนิน และ กรดแอสคอร์บิก (วิตามินซี)

อ้างอิง แก้

  1. สำนักงานหอพรรณไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ -- กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2549
  2. Mann, Phill (2001). The world's largest Drosera เก็บถาวร 2011-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; Carnivorous Plant Newsletter, Vol 30, #3: pg 79.
  3. Barthlott et al., Karnivoren, p. 102
  4. Karlsson PS, Pate JS (1992). "Contrasting effects of supplementary feeding of insects or mineral nutrients on the growth and nitrogen and phosphorus economy of pygmy species of Drosera". Oecologia. 92: 8–13. doi:10.1007/BF00317256.
  5. 5.0 5.1 Charles Darwin (1875). Insectivorous Plants. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-07-20. สืบค้นเมื่อ 2009-08-15.
  6. Barthlott et al., Karnivoren, p. 41
  7. Hartmeyer, I. & Hartmeyer, S., (2005) Drosera glanduligera: Der Sonnentau mit "Schnapp-Tentakeln", DAS TAUBLATT (GFP) 2005/2: 34-38
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 D'Amato, Peter (1998). The Savage Garden - Cultivating Carnivorous Plants. Berkley, California: Ten Speed Press.
  9. Murza, Gillian L; Heaver, Joanne R; Davis, Arthur R; 2006 Minor pollinator-prey conflict in the carnivorous plant, Drosera anglica. Plant Ecology. Vol. 184, no. 1, pp. 43-52.
  10. B. Wang and Y.-L. Qiu (2006). "Phylogenetic distribution and evolution of mycorrhizas in land plants". Mycorrhiza. 16: 299–363. doi:10.1007/s00572-005-0033-6.[ลิงก์เสีย]
  11. 11.0 11.1 11.2 Rivadavia, Fernando; Kondo, Katsuhiko; Kato, Masahiro und Hasebe, Mitsuyasu (2003). "Phylogeny of the sundews, Drosera (Droseraceae), based on chloroplast rbcL and nuclear 18S ribosomal DNA Sequences". American Journal of Botany. 90: 123–130. doi:10.3732/ajb.90.1.123.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. http://www.amjbot.org/cgi/content/full/89/9/15[ลิงก์เสีย]03
  13. 13.0 13.1 Diels, Ludwig: Droseraceae, in Engler, A. (Hrsg.): Pflanzenr. 4, 112 : 109, 1906
  14. USDA, Threatened and Endangered; Results for Genus Drosera; Results compiled from multiple publications. (Retrieved 04:30, May 16, 2006)
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 World Wildlife Fund Germany, TRAFFIC Germany (eds.), Drosera spp. - Sonnentau, 2001, p. 5, PDF Online เก็บถาวร 2011-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  16. Schilcher, H. & M. Elzer 1993. Drosera (Sundew): A proven antitussive. Zeitschrift Phytotherapie 14(50): 4.
  17. Oliver-Bever B. Plants in Tropical West Africa. Cambridge University Press: Cambridge, 1986: 129.
  18. Culbreth, David M. R. Materia Medica and Pharmacology. Lea & Febiger, Philadelphia, 1927.
  19. Lewis, Walter H., 1977 Medical Botany - Plants Affecting Man's Health; John Wiley & Sons, St. Louis, Misouri. pg. 254. Plant decoction of "Drosera sp.." used in Mexico to treat toothache.
  20. Wichtl M.; Herbal Drugs and Phytopharmacetuicals; Boca Raton, FL: CRC Press, 1994, 178;81.
  21. World Wildlife Fund Germany, TRAFFIC Germany (eds.), Drosera spp. - Sonnentau, 2001, p. 5, PDF Online เก็บถาวร 2020-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. Rice, Barry. 2006. Growing Carnivorous Plants. Timber Press: Portland, Oregon.
  23. 23.0 23.1 23.2 Zhang, M.; Lenaghan, S.C.; Xia, L.; Dong, L.; He, W.; Henson, W.R.; Fan, X. (2010). "Nanofibers and nanoparticles from the insect capturing adhesive of the Sundew (Drosera) for cell attachment". Journal of Nanobiotechnology. 8 (20): 20. doi:10.1186/1477-3155-8-20. PMC 2931452. PMID 20718990.
  24. Barthlott et al., Karnivoren, p. 100
  25. 25.0 25.1 Plantarara (2001): Artzneimittle, Tee, und Likör aus fleischfressenden Pflanzen เก็บถาวร 2006-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  26. Dwelly, Edward; "Dwelly’s [Scottish] Gaelic Dictionary” (1911) (Dath)
  27. Ayuga C; และคณะ (1985). "Contribución al estudio de flavonoides en D. rotundifolia L". An R Acad Farm. 51: 321–326.
  28. Wagner H; และคณะ (1986). "Immunological investigations of naphthoquinone – containing plant extracts, isolated quinones and other cytostatic compounds in cellular immunosystems". Phytochem Soc Eur Symp: 43.
  29. Vinkenborg, J; Sampara-Rumantir, N; Uffelie, OF (1969). "The presence of hydroplumbagin glucoside in Drosera rotundifolia L". Pharmaceutisch Weekblad. 104 (3): 45–9. PMID 5774641.
  30. Sampara-Rumantir N. (1971). "Rossoliside". Pharm Weekbl. 106 (35): 653–664. PMID 5566922.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้