ศาสนาอิสลามในประเทศไทย

ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่มีการนับถือเป็นอันดับที่ 2 ในประเทศไทยรองจากศาสนาพุทธ มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถิติระบุว่าประชากรมุสลิมมีระหว่าง 2.2 ล้านคน[1] ถึง 7.4 ล้านคน[2] มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองจากแหลมมลายูและจากการอพยพเข้ามาจากทั่วโลก มุสลิมในไทยส่วนใหญ่เป็นนิกายซุนนีย์[3][4]

มัสยิดกรือเซะ หรือ มัสยิดปิตูกรือบัน เป็นมัสยิดที่มีอายุกว่า 400 ปี ในจังหวัดปัตตานี

ประวัติ แก้

กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนไทยเรียกกันว่า "แขก" คาดว่ามีที่มาจากพ่อค้าชาวมุสลิมในคาบสมุทรเปอร์เซียและอินเดียที่เข้ามาค้าขายในแหลมมลายู (ปัตตานีและมาเลเซีย) มาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ทำให้ศาสนาอิสลามเป็นที่รู้จักและเผยแผ่เข้าไปในราชสำนัก ภายหลังคนพื้นเมืองจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ส่วนในประเทศไทยนี้พบหลักฐานว่าคนไทยได้ติดต่อสัมผัสกับชาวมุสลิมตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย และช่วงกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา โดยชาวมุสลิมบางคนนั้น เป็นถึงขุนนางในราชสำนัก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวมุสลิมที่ค้าขายและอพยพจากภัยสงครามมาจากคาบสมุทรมลายูนอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมอินเดียที่เข้ามาตั้งรกราก รวมถึงชาวมุสลิมยูนนานที่หนีภัยการเบียดเบียนศาสนาหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน[5]

เชื้อชาติ แก้

 
ชาวไทยเชื้อสายมลายู ในจังหวัดสงขลา

ประชากรมุสลิมของไทยมีความหลากหลายและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยมีกลุ่มเชื้อชาติอพยพเข้ามาจากจีน ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน กัมพูชา บังกลาเทศ อิหร่าน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับชาวไทย ขณะที่มุสลิมในประเทศไทยราวสองในสามมีเชื้อสายมลายู[6]

ลักษณะประชากรและภูมิศาสตร์ แก้

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ในสามจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อย่างไรก็ตาม การศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า ชาวไทยมุสลิมเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดนี้ ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่กระจายไปทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและตลอดพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2548 มุสลิมในภาคใต้คิดเป็นประชากรร้อยละ 30.4 ของประชากรอายุมากกว่า 15 ปี แต่ในส่วนอื่นของประเทศกลับมีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 3[1]

ลักษณะเด่น แก้

ยกเว้นในวงจำกัดของหมู่ผู้เชื่อที่ได้รับการฝึกอบรมทางศาสนศาสตร์มาแล้ว โดยทั่วไปศาสนาอิสลามในประเทศไทย เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ได้ผสมผสานความเชื่อต่างๆ เข้ากับหลักปฏิบัติของอิสลาม ในภาคใต้ เป็นการยากที่จะลากเส้นแบ่งระหว่างวิญญาณนิยมกับวัฒนธรรมมลายูซึ่งใช้เพื่อขับไล่วิญญาณร้ายและพิธีกรรมอิสลามท้องถิ่น เนื่องจากความคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งสอง

สถานที่บูชา แก้

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีมัสยิด 3,494 แห่ง โดยมีในจังหวัดปัตตานีมากที่สุด (636 แห่ง)[7] ตามกรมการศาสนา มัสยิดกว่าร้อยละ 99 เป็นนิกายซุนนี และอีกร้อยละ 1 เป็นชีอะฮ์

งานเมาลิดกลาง แก้

งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นงานเฉลิมฉลองการประสูติของศาสดามุฮัมมัด (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาครัฐ องค์กรการกุศล และองค์กรเอกชน ซึ่งได้จัดเป็นประจำทุกปีโดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเพื่อเปิดงาน

งานเมาลิดเป็นงานฉลองการเกิดของศาสดามุฮัมมัด ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล ตามปฏิทินอิสลามซึ่งนับตามจันทรคติ โดยงานเมาลิดนั้นมักจะจัดในประเทศอียิปต์ และประเทศมุสลิมอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เป็นต้น โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นมีการจัดงานนี้มาอย่างช้านาน แต่เริ่มเป็นกิจลักษณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยใช้ชื่อว่า งานเมาลิดสนามหลวง ซึ่งจัดงานฉลองดังกล่าวที่ท้องสนามหลวง เพื่อสนับสนุนกิจการศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรและได้พระราชทานเสื้อคลุมให้กับอิหม่ามในการประกอบศาสนกิจ[8]

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังมีการจัดงานเมาลิดโดยใช้ชื่อว่า งานเมาลิดส่วนกลาง แต่ต่อมาก็ได้หยุดไปเนื่องจากการดำเนินนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ต่อมาก็ได้รื้อฟื้นการจัดงานนี้ขึ้นมาอีกครั้งหลังจากจอมพลแปลกพ้นจากอำนาจ โดยในปี พ.ศ. 2506 นายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และในปีใดที่พระองค์ทรงติดภารกิจก็โปรดเกล้าฯให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์เป็นประจำทุกปี[9]

งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นงานที่มีการกล่าวบทสดุดีศาสดามุฮัมมัดหรือที่ชาวมุสลิมเรียกกันว่าบัรซันญีซึ่งเป็นบทกลอนอาหรับที่มีความไพเราะและมีการขอพรให้กับศาสดามุฮัมมัดหรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่าซอลาวาต นอกจากนี้ยังมีการอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานโดยชาวไทยและชาวต่างประเทศ การเผยแพร่จริยวัตรอันงดงามและเรียบง่ายของศาสดามุฮัมมัด การบรรยายทางวิชาการ แต่ที่เด่นชัดในงานนี้คือการจำหน่ายสินค้ามุสลิม อาหารฮาลาลนานาชนิด นอกจากนี้งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยจัดว่าเป็นงานเดียวที่ชาวมุสลิมทั่วประเทศได้มีโอกาสมารวมตัวกกัน

และมีมุสลิมบางส่วน(ซะละฟีย์)ได้คัดค้านการจัดงานเมาลิดกลางเนื่องด้วยว่าเป็นสิ่งอุตริกรรมและท่านนบีมูฮัมหมัด (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ห้ามการทําอุตริกรรม และมีประเด็นถกเถียงกันระหว่างมุสลิมในประเทศไทยถึงการจัดงานเมาลิดกลางว่าสมควรจัดหรือไม่

ศูนย์กลางนิกาย แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 จำนวนประชากรมุสลิมในประเทศไทย
  2. Gilquin, Michel (2002). The Muslims of Thailand. IRASEC Silkworm Books. ISBN 974-9575-85-7.
  3. "การอพยพของมุสลิม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-31. สืบค้นเมื่อ 2011-02-26.
  4. "การย้ายถิ่นฐานมาอยู่ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-02-13. สืบค้นเมื่อ 2011-02-26.
  5. ประวัติความเป็นมาของศาสนาต่าง ๆ ในประเทศไทย เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรมการศาสนา
  6. เชื้อชาติมุสลิมในประเทศไทย
  7. "จำนวนสถานที่มัสยิด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-27. สืบค้นเมื่อ 2011-02-26.
  8. สัมภาษณ์ สมัย เจริญช่าง ประธานจัดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ปี 2553
  9. งานเมาลิด โดย อ.สันติ(อาลี) เสือสมิง