ศาสนาพุทธในประเทศมัลดีฟส์

ศาสนาพุทธในประเทศมัลดีฟส์ เคยเป็นศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 และไม่ปรากฏที่มาว่าเหตุใดศาสนาพุทธจึงประดิษฐานในดินแดนแห่งนี้ แต่หลังการเข้ามาของศาสนาอิสลามผ่านนักเดินทางผู้เผยแผ่ศาสนา กษัตริย์มัลดีฟส์ทรงเปลี่ยนศาสนา ศาสนาพุทธจึงสูญไปจากมัลดีฟส์ หลงเหลือเพียงโบราณสถานและโบราณวัตถุที่แสดงอิทธิพลของพุทธในอดีต

พระพุทธรูปที่พบในมัลดีฟส์ ปัจจุบันจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
ภาพลายเส้นแกะสลักรูปนางตาราเขียวบนหินปะการังจากศตวรรษที่ 9 สูง 30 เซนติเมตร เป็นเทพีตามคติวัชรยาน สัญลักษณ์แห่งการรู้แจ้งและความกล้าหาญ ปัจจุบันจัดแสดงไว้ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัลดีฟส์

หลักฐานทางโบราณคดี แก้

 
ฟูอา มูลากู ฮาวิตตา โดยเฮช. ซี. พี. เบลล์ ค.ศ. 1922

มีการค้นพบซากพุทธสถานในประเทศมัลดีฟส์ นักโบราณคดีตะวันตกจึงให้ความสนใจโบราณสถานเหล่านี้ เพราะต้องการศึกษาวัฒนธรรมยุคต้นของมัลดีฟส์ โดยเฮช. ซี. พี. เบลล์ (อังกฤษ: H. C. P. Bell) ข้าหลวงแห่งซีลอนค้นพบครั้งแรกโดยบังเอิญจากอุบัติเหตุเรืออัปปางบนเกาะเมื่อ ค.ศ. 1879 ภายหลังเขาจึงกลับมาศึกษาซากพุทธสถานอีกครั้ง โดยศึกษาซากที่เรียกว่า "ฮาวิตตา" (อักษรโรมัน: havitta; มัลดีฟส์: ހަވިއްތަ) และ "อุสตูบู" (ละติน: ustubu) ตรงกับคำว่า ไจติยะ และ สถูป ตามลำดับ ซึ่งพบได้ตามอะทอลล์หลาย ๆ แห่ง[1]

แม้เบลล์สันนิษฐานไว้ ว่าชาวมัลดีฟส์สมัยก่อนนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทตามอย่างศรีลังกาซึ่งอยู่ใกล้เคียง[1] แต่จากโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาเท่าที่พบในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงมาเล บ่งชี้ว่าเป็นศาสนวัตถุคติมหายานหรือวัชรยานมากกว่า[2]

ในคติชนมัลดีฟส์ระบุว่า มีเจ้านายพระองค์หนึ่งชื่อเจ้าชายโกอิมาลา (Koimala) เดินทางมาจากอินเดียหรือศรีลังกาแล้วเข้าสู่มัลดีฟส์ทางตอนเหนือ และตั้งตนเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์ทีมูเค (Theemuge) หรือโหมะ (Homa) ก่อนหน้านี้มีชาวทราวิฑกลุ่มหนึ่งเข้าไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะเรียกว่าชาวกีราวารู (Giravaaru) ซึ่งอ้างตัวว่าสืบเชื้อสายจากชาวทมิฬโบราณ มาตั้งถิ่นฐานบนเกาะกีราวารู (ปัจจุบันคือคาฟูอะทอล) มีการกล่าวถึงชาวคีราวาอารูว่าเป็นผู้ก่อตั้งเขตการปกครองและตั้งกษัตริย์ปกครองกรุงมาเล ก่อนการมาถึงของศาสนาพุทธ ราชวงศ์เหนือ และการปกครองแบบรวมศูนย์

กษัตริย์มัลดีฟส์ยุคแรกทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ดังจะพบได้จากศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่นและมีพัฒนาการอย่างสูง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 เป็นต้นไป และยังพบการบันทึกของนักเดินทางผู้เผยแผ่ศาสนาอิสลาม (อาจเป็นชาวเปอร์เซียหรือโมร็อกโก) ปราบปีศาจพื้นเมืองรันนามารี (Rannamaari)[3]

การทำลายรูปเคารพทางพุทธศาสนา แก้

เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 มีชาวมุสลิมหัวรุนแรงบุกเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในกรุงมาเลเพื่อทำลายงานประติมากรรมยุคก่อนอิสลาม ส่งผลให้โบราณวัตถุทางพุทธศาสนาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 12 จำนวนสามสิบชิ้นเสียหายหรือถูกทำลายลง[4] เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ระบุว่าประติมากรรมเกือบทั้งหมดทำจากปะการังหรือหินปูน ส่วนใหญ่เปราะบางแตกง่ายยากแก่การซ่อมแซม มีเพียงสองถึงสามชิ้นเท่านั้นที่สามารถซ่อมแซมได้[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 HCP Bell, The Máldive Islands: An account of the Physical Features, History, Inhabitants, Productions and Trade. Colombo 1883
  2. Xavier Romero-Frias, The Maldive Islanders, A Study of the Popular Culture of an Ancient Ocean Kingdom. ISBN 84-7254-801-5
  3. "Maldivian history: A mockery of past and present". The Daily Panic. 8 พฤศจิกายน 2556. สืบค้นเมื่อ 16 ตุลาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. Bajas, Vikas (13 February 2012). "Vandalism at Maldives Museum Stirs Fears of Extremism". The New York Times.
  5. "35 Invaluable Hindu and Buddhist Statues Destroyed in Maldives by Extremist Islamic Group". The Chakra. 23 February 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2018-10-18.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้