ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

นักแสดงชาย

ศรัณยู วงษ์กระจ่าง (ชื่อเล่น: ตั้ว) มีชื่อจริงคือ นรัณยู วงษ์กระจ่าง (17 ตุลาคม 2503 – 10 มิถุนายน 2563) เป็นนักแสดง พิธีกร ผู้กำกับ ก่อนหน้านั้นเขาประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก และร่วมกิจกรรมละคอนถาปัดสมัยเรียนอยู่ ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 มีผลงานครั้งแรกทางโทรทัศน์ โดยแสดงเป็นตัวประกอบในรายการเพชฌฆาตความเครียด ในปี พ.ศ. 2527

ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
ศรัณยู วงษ์กระจ่างบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2551
เกิดนรัณยู วงษ์กระจ่าง
17 ตุลาคม พ.ศ. 2503
อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ประเทศไทย
เสียชีวิต10 มิถุนายน พ.ศ. 2563 (59 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตมะเร็งตับ
ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาชีพนักแสดง พิธีกร ผู้กำกับ ผู้เขียนบทละคร นักการเมือง
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2522 – 2563
ผลงานเด่นบูรพา - เก้าอี้ขาวในห้องแดง
ชายกลาง - บ้านทรายทอง/พจมาน สว่างวงศ์
มาร์ค - รอยมาร
พันตรีประจักษ์ - วนิดา
คุณหลวงอัครเทพวรากร - ทวิภพ
คล้าว - มนต์รักลูกทุ่ง
กฤตย์ - ด้วยแรงอธิษฐาน
อธิวัฒน์ - พลังรัก
นายฮ้อยเคน - นายฮ้อยทมิฬ
พระเฑียรราชา - สุริโยทัย
โทรทัศน์เรื่องจริงผ่านจอ ฯลฯ
พรรคการเมือง
ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
คู่สมรสหัทยา วงศ์กระจ่าง (2537 - 2563 เขาเสียชีวิต)
บุตรศีตลา วงษ์กระจ่าง
ศุภรา วงษ์กระจ่าง
ญาติธเนศ วรากุลนุเคราะห์ (พี่ชาย)
อาชีพแสดง
เมขลานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
2537—ทวิภพ
ฐานข้อมูล
IMDb
ThaiFilmDb

เขามีผลงานทางด้านการแสดงมากกว่า 100 เรื่อง ทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และละครเวที ผลงานละครโทรทัศน์โด่งดังมากมาย ได้แก่ เก้าอี้ขาวในห้องแดง (2527) ระนาดเอก (2528) มัสยา (2528) บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ (2530) เกมกามเทพ (2531) เจ้าสาวของอานนท์ (2531) ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง (2532) รัตติกาลยอดรัก (2532) วนาลี (2533) รอยมาร (2533) วนิดา (2534) ไฟโชนแสง (2535) น้ำเซาะทราย (2536) ทวิภพ (2537) มนต์รักลูกทุ่ง (2538) ด้วยแรงอธิษฐาน (2539) พลังรัก (2541) และ นายฮ้อยทมิฬ (2544) ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกนำมาสร้างใหม่ในภายหลัง ส่วนผลงานละครเวทีที่เป็นที่จดจำมากที่สุด คือ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (2530)[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนั้นแล้ว ศรัณยูยังมีผลงานพิธีกร ผู้กำกับละครโทรทัศน์ และผู้กำกับภาพยนตร์ มากมายหลายเรื่อง อาทิเช่น เป็นผู้กำกับละครโทรทัศน์เรื่อง "เทพนิยายนายเสนาะ" (2541), ละครพีเรียดเรื่อง "น้ำพุ" (2545), ละครสั้นสองตอนจบเรื่อง "ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" (2545), ละครเรื่อง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" (2546), ละครเรื่อง "หลังคาแดง" (2547), ละครเรื่อง "ตราบสิ้นดินฟ้า" (2551) ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่อง "อำมหิตพิศวาส" (2550) และ "คนโขน" (2554) อีกทั้งศรัณยูยังได้นำบทประพันธ์เรื่อง "หลังคาแดง" มาดัดแปลงและนำเสนอในรูปแบบละครเวทีเรื่อง "หลังคาแดง เดอะมิวสิคัล" (2555) อีกด้วย[ต้องการอ้างอิง] ช่วงบั้นปลายศรัณยูเป็นผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง ผลิตละครโทรทัศน์ ในนาม "สามัญการละคร" มีผลงานการกำกับละครเรื่อง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" (2556), หัวใจเถื่อน (2557), รอยรักแรงแค้น (2558) และล่าสุดเรื่อง บัลลังก์หงส์ (2559)

ชีวิตวัยเด็กและการศึกษา

ศรัณยูเกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม[2] เป็นน้องชายร่วมสายโลหิตของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ มีพี่น้อง 4 คน แต่ว่าใช้คนละนามสกุลกัน เนื่องจากในวัยเด็กนั้นถูกป้าขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม โดยเป็นบุตรบุญธรรมของนายสมนึก วงษ์กระจ่าง กับนางจำลอง วงษ์กระจ่าง

จบการศึกษาระดับมัธยมจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ 92/96 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รหัสเข้า 21)[3] อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้มุ่งมั่นประกอบวิชาชีพที่เรียนมา โดยศรัณยูให้สัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ BK ในภายหลังว่า "ละคอนถาปัด ชักนำผมสู่สิ่งที่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดของชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย หลังจากจบปี 3 ผมรู้ตัวว่าผมไม่ได้อยากจะเป็นสถาปนิก" (ภาษาอังกฤษ) [4]

ช่วงชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ศรัณยูกวาดรับบทเด่นใน "ละคอนถาปัด" หรือละครเวทีโดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รวมทั้งข้ามไปเล่นให้ละครเวทีของคณะอักษรศาสตร์ด้วย[5] [6] ศรัณยูกล่าวว่า การถือกำเนิดทางด้านการแสดงของเขามี รศ.สดใส พันธุมโกมล เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาศิลปะการแสดงให้เขาด้วยการยื่นบทนักแสดงนำในละครเวทีคณะอักษรศาสตร์เรื่อง คนดีที่เสฉวน และ พรายน้ำ[7] นำไปสู่อาชีพนักแสดงซึ่งกลายมาเป็นอาชีพที่ศรัณยูรักที่สุด[8] ไม่ใช่เพียงแค่พรสวรรค์ทางด้านการแสดง หน้าตาอันหล่อเหลายังดึงดูดให้มีแฟนๆติดตาม และละครถา'ปัดในช่วงนั้นกลายเป็นสิ่งที่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงานในเมืองต้องไปดู ภาพลักษณ์ของการเป็นพระเอกละครถา'ปัด เป็นดรัมเมเยอร์ และเป็นนักรักบี้ สมัยมหาวิทยาลัย ทำให้ศรัณยูกลายเป็นดาวเด่นในสมัยเรียน จนมีกลุ่มซูโม่พูดถึงว่า สาว ๆ ชอบแวะมาคณะสถาปัตย์เพราะ 2 เหตุผล คือ ห้องน้ำสะอาด กับ มาดู ศรัณยู

ชีวิตการทำงานในวงการบันเทิง

พ.ศ. 2524–2529

ศรัณยูเป็นพระเอกที่มีช่วงการครองความนิยมยาวนานที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เริ่มผลงานในวงการบันเทิงครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2524 โดยได้รับการชักชวนให้ถ่ายแบบนิตยสารดิฉัน และมีผลงานเดินแบบ จากนั้นศรัณยูจึงได้มีผลงานพิธีกรรายการโทรทัศน์ เสียงติดดาว และ ยิ้มใส่ไข่[5] ในช่วงเวลานั้นศรัณยูได้ตั้งกลุ่มละครสำหรับเด็กร่วมกับเพื่อน ๆ โดยใช้ชื่อกลุ่มละคร"มะนาวหวาน" หลังสำเร็จการศึกษา ศรัณยูมีผลงานนำแสดงละครโทรทัศน์เรื่องแรกในปี 2527 คือเรื่องผลงานละครของ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช เรื่อง เก้าอี้ขาวในห้องแดง ออกอากาศ 9 กุมภาพันธ์ 2527 ทางช่อง 3 จากบทประพันธ์ในชื่อเดียวกันของ สุวรรณี สุคนธา ซึ่งเป็นเรื่องราวรักสามเส้าและปัญหาชีวิตวัยรุ่น ร่วมกับ นพพล โกมารชุน มยุรา ธนบุตร อุทุมพร ศิลาพันธ์ และ ยุรนันท์ ภมรมนตรี เก้าอี้ขาวในห้องแดง เป็นละครที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากเนื้อหา ฝีมือการแสดง และรูปแบบที่นำสมัย เกิดกระแสนิยมเหล่านักแสดง เสื้อผ้า ทรงผมของนักแสดงหลัก เพียงเรื่องแรกก็ทำให้ศรัณยูมีชื่อเสียงในวงกว้าง[5]

จากนั้นได้ถ่ายทำละครเรื่อง เลือดขัตติยา[9] ซึ่งดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ ทมยันตี สร้างโดย รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง โดยศรัณยูรับบท อโณทัย คู่กับ วาสนา สิทธิเวช รับบท ดารา ร่วมด้วย นพพล โกมารชุน อุทุมพร ศิลาพันธ์ และภิญโญ ทองเจือ แม้ว่าจะกำหนดวันเวลาออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ 21.00 น. เริ่มวันที่ 11 สิงหาคม 2527 แล้วแต่ก็ไม่ได้รับอนุมัติให้ออกอากาศ ด้วยมีเนื้อหาที่อาจกระทบต่อความมั่นคง[10]

ในปีเดียวกัน ศรัณยูมีผลงานละครโทรทัศน์กับช่อง 7 โดย ดาราวิดีโอ เรื่อง บ้านสอยดาว จากบทประพันธ์ของ โบตั๋น ออกอากาศ 28 กันยายน 2527 - 26 มกราคม 2528 โดยรับบท เอื้อตะวัน ร่วมด้วย มยุรา ธนบุตร อุทุมพร ศิลาพันธ์ และ ธงไชย แมคอินไตย์ โดยเรื่องนี้ ศรัณยู มีชื่อในการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเรื่องนี้ด้วย จากนั้นมีผลงานต่อเนื่องกับช่อง 7 ปี 2528 กับเรื่อง ระนาดเอก ออกอากาศทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 21.00น. แม้จะเป็นละครเกี่ยวกับดนตรีไทย แต่มีการผูกเรื่องได้สนุกสนานกับการประชันกันของบรมครูทางระนาด 2 สาย จากรุ่นบรมครูถ่ายทอดมาสู่รุ่นศิษย์ ละครเรื่องนี้สร้างชื่อให้ ศรัณยู ได้แจ้งเกิดในวงการละคร พร้อมกับนางเอก สินจัย หงษ์ไทย ที่ลงละครเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ความดังของละครเรื่องนี้เล่ากันว่า พวกปี่พาทย์ที่ทำงานศพตามวัดต่างๆถ้าคืนไหนมีงานประโคมก็จะต้องตั้งโทรทัศน์ไว้ข้างวงดนตรีเลยทีเดียว[11] จากนั้นในปีเดียวกัน ช่อง 7 ได้ให้ ศรัณยู รับบทคู่กับนางเอกยอดนิยม มนฤดี ยมาภัย เป็นครั้งแรกในละครค่าย ดาราวิดีโอ เรื่อง มัสยา ออกอากาศ 25 ตุลาคม 2528 - 1 มีนาคม 2529 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอันมาก ด้วยความพีคของตอนอวสานทำให้ช่องขยายวันออกอากาศจากศุกร์-เสาร์เป็น ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์

ปี 2529 ศรันยูมีผลงานทางช่อง 3 และ ช่อง 7 ช่องละ 1 เรื่อง โดยทางช่อง 7 เป็นละครค่ายกันตนา เรื่อง จิตรกร ศรัณยูรับบทจิตรกรโรคจิต คู่กับนางเอก ปวีณา ชารีฟสกุล กับเรื่องราวฆาตกรรมซ่อนเงื่อน ในขณะที่ทางช่อง 3 ศรัณยูได้รับบท กามนิต ในละครแนวภารตะ กามนิต-วาสิฏฐี คู่กับ จริยา สรณะคม เป็นเรื่องแรก ร่วมด้วย ดิลก ทองวัฒนา สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ และ พิราวรรณ ประสพศาสตร์ นอกจากนี้ ศรัณยูได้รับการชักชวนให้ร่วมเขียนบทละคร ทะเลเลือด (2529) ที่ดัดแปลงจากนวนิยายของ อกาธา คริสตี้ กับ ภาสุรี ภาวิไล และ มารุต สาโรวาท ซึ่งเป็นผลงานละครเรื่องแรกในฐานะผู้จัดละครของ วรายุฑ มิลินทจินดา[12]

พ.ศ. 2530–2531

หลังจากช่อง 7 ชิมลางจับคู่ ศรัณยู กับนางเอกยอดนิยม มนฤดี ยมาภัยในมัสยา ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี ในปี 2530 ดาราวิดีโอ ได้มอบโปรเจกต์ใหญ่กับวรรณกรรมคลาสสิคที่มีแฟนละครรอชมเสมออย่าง บ้านทรายทอง ออกอากาศ 9 มกราคม 2530 - 29 มีนาคม 2530 ศรัณยู รับบท ม.ร.ว.ภราดาพัฒน์ระพี สว่างวงศ์ / ชายกลาง คู่กับ มนฤดี ยมาภัย ในบทพจมาน ด้วยบทที่เขียนได้สนุกและนักแสดงฝีมือยอดเยี่ยม ทำให้เกิดกระแสฟีเว่อร์บ้านทรายทอง พจมานกับทรงผมเปียคู่ เด็กๆเล่นบทบาทเลียนแบบคุณชายน้อยกันทั่วบ้านทั่วเมือง และคุณชายกลางที่กลายเป็นชายในฝันของสาว ๆ ในเวลานั้นและกลายเป็นภาพจำของบทชายกลางในเวลาต่อมา[13] กระแสฟีเวอร์ทำให้มีการนำภาพยนตร์ บ้านทรายทอง (2523) ที่โด่งดังอย่างมากเมื่อ 7 ปีก่อนกลับมาเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ใหม่ เมื่อบ้านทรายทองจบลง ช่อง 7 ได้ส่ง พจมาน สว่างวงศ์ มาให้ชมต่อทันที ออกอากาศ 3 เมษายน 2530 - 21 มิถุนายน 2530

หลังจากนั้น ศรัณยู ได้รับบทนำในละครเวที สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ (Man of La Mancha) ผลงานของผู้กำกับ ยุทธนา มุกดาสนิท[14][15] เปิดแสดงเมื่อวันที่ 28 ส.ค. – 2 ก.ย. พ.ศ. 2530 ณ โรงละครแห่งชาติ การรับบท เซรบานเตส/ดอน กิโฮเต้ ของศรัณยู และ จรัล มโนเพ็ชร และบท อัลดอนซ่า ของ นรินทร ณ บางช้าง ได้รับการยกย่องในฝีมือการแสดงที่สร้างความประทับใจเป็นอันมาก ละครเวทีได้ผลตอบรับยอดเยี่ยมเป็นกระแสดัง ตั๋วเต็มหมดทุกที่นั่งจนคนออแน่นเต็มบันไดทางเดิน[16]

ในปีเดียวกัน ศรัณยู มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ผลงานกำกับของ ธนิตย์ จิตนุกูล กับหนังกระบวนการต่อสู้คดีในชั้นศาล เรื่อง อย่าบอกว่าเธอบาป คู่กับดาราเจ้าบทบาท สินจัย หงษ์ไทย[17] หลังจากความสำเร็จของบ้านทรายทอง ศรัณยู ได้มีผลงานทางช่อง 7 อีก 2 เรื่องคือ บ่วงกรรม ออกอากาศเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2530 และ บริษัทจัดคู่ ออกอากาศเดือนเมษายน – 4 กรกฎาคม 2531 ก่อนจะทิ้งช่วงไปนาน ในขณะที่ทางฝั่งช่อง 3 ได้ตัวศรัณยูไปลงละครหลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่การกลับมาพบกันอีกครั้งกับนางเอก จริยา สรณะคม ในเรื่อง อวสานของเซลส์แมน ในปี 2530 ร่วมกับ พิศาล อัครเศรณี และ พงศ์พัฒน์ วชิรบรรจง โดยเรื่องนี้ศรัณยูได้ร่วมเขียนบทโทรทัศน์กับ วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ และในปีเดียวกันนี้ละคร ปริศนา (2530) ของผู้จัด วรายุฑ มิลินทจินดา โด่งดังเป็นพลุแตกทำให้เกิดเสียงเรียกร้องให้สร้างอีก 2 เรื่องในซีรีส์นี้ของ ว.ณ ประมวญมารค วรายุฑยืนยันสร้าง เจ้าสาวของอานนท์ และ รัตนาวดี พร้อมกับเผยว่าได้ดึงตัวพระเอกคิวทองอย่าง ศรัณยู มารับบท อานนท์

ปี 2531 ศรัณยู มีผลงานทางช่อง 3 ถึง 4 เรื่อง เริ่มต้นด้วย อาศรมสาง ร่วมกับ รังสิมา กสิกรานันท์, อภิรดี ภวภูตานนท์, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ออกอากาศ 26 มีนาคม – 7 พฤษภาคม 2531 ตามด้วยละครเรื่อง ทายาท ร่วมกับ ชุดาภา จันทเขตต์, ดวงตา ตุงคะมณี, สุประวัติ ปัทมสูต ออกอากาศ 25 กรกฎาคม – 7 กันยายน 2531 เวลา 20.40 – 21.40 น. จากนั้นศรัณยูรับบทคู่ จริยา สรณะคม อีกครั้งในเรื่อง เกมกามเทพ ออกอากาศ 7 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2531 ปีเดียวกัน ก็ถึงคิวของละครที่รอคอย เจ้าสาวของอานนท์ ซึ่งศรัณยูรับบทคู่ จริยา สรณะคม เป็นเรื่องที่ 4 ฉัตรชัย เปล่งพานิช และ ลลิตา ปัญโญภาส กลับมารับบท มจ.พจนปรีชาและหม่อมปริศนาเพื่อนของอานนท์ในเรื่องนี้ด้วย เจ้าสาวของอานนท์ ออกอากาศ 11 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2531 (1 ปีให้หลังจากละครปริศนา) เรื่องนี้ศรัณยูได้รับหน้าที่ในการร้องเพลง "รักนิรันดร์" ประกอบละคร

พ.ศ. 2532–2535

ปี 2532 ศรัณยูรับบทชายหนุ่มจองหองในละครของ วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ทางช่อง 3 เรื่อง ดอกฟ้าและโดมผู้จองหอง คู่กับ นาถยา แดงบุหงา ออกอากาศ 8 มีนาคม – 20 เมษายน 2532 อีกครั้งสำหรับการรับบทพระเอกบทประพันธ์ของ ก.สุรางคนางค์ หลังจาก บ้านทรายทอง และ พจมาน สว่างวงศ์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ในปีเดียวกัน ศรัณยู ได้รับบทคู่ ลลิตา ปัญโญภาส เป็นครั้งแรกในภาพยนตร์รักโรแมนติกเรื่อง หัวใจ 4 สี ร่วมด้วย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง และ ธัญญา โสภณ ศรัณยูรับบทพ่อม่ายลูกติดที่จ้างนางเอกไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ถ่ายทำที่ประเทศออสเตรีย เข้าฉาย 7 ตุลาคม พ.ศ. 2532 จากนั้นศรัณยูมีผลงานละครต่อเนื่องกับผู้กำกับ วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ ทางช่อง 3 อีกเรื่องคือ รัตติกาลยอดรัก คู่กับ ปาหนัน ณ พัทลุง ออกอากาศเดือนธันวาคม 2532 – 4 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นรัตติกาลยอดรักเวอร์ชันที่โด่งดังมาก

ปี 2533 ศรัณยูเปิดปีด้วยภาพยนตร์เรื่อง เล่นกับไฟ รับบทคู่กับ ลลิตา ปัญโญภาส เป็นครั้งที่ 2 ออกฉายปลายเดือน เมษายน 2533 สำหรับงานละครโทรทัศน์ถือเป็นปีทองของ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เพราะเขาได้มีผลงานละครโทรทัศน์กับทางช่อง 3 ถึง 5 เรื่องในปีเดียว ศรัณยูโด่งดังมากจนทำให้ช่อง 3 อนุมัติให้เขาและเพื่อนๆ กลุ่มซูโม่สำอาง ได้แก่ ซูโม่ตู้ กิ๊ก ซูโม่ตุ๋ย ปัญญา นิรันดร์กุล และดารารับเชิญมากมาย มาสร้างละครตลกล้อเลียนหนังจีนเรื่อง โหด เลว อ้วน ออกอากาศ 1 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2533 โดยรับบทคู่กับ เพ็ญ พิสุทธิ์ แต่เนื่องจากเนื้อเรื่องค่อนข้างสับสนจึงถูกตัดจบในที่สุด ต่อมา ศรัณยู ได้รับบทคู่ ลลิตา ปัญโญภาส ครั้งแรกทางละครโทรทัศน์เรื่อง วนาลี ออกอากาศ 21 กันยายน - 7 ธันวาคม 2533 (เวลา 20.50-21.50 น.) ละครโด่งดังเป็นพลุแตก วนาลีประสบความสำเร็จเป็นอันมาก ส่งผลให้ ศรัณยู-ลลิตา เป็นดาราคู่ขวัญและมีคนเรียกร้องให้แสดงคู่กันอีก วนาลียังได้นำเพลงอมตะของ ม.ร.ว.ถนัดศรี และ รวงทอง "วนาสวาท" มาเป็นเพลงประกอบละคร โดยมีเวอร์ชันที่ขับร้องโดย ศรัณยู กับ รัญญา ศิยานนท์

อย่างไรก็ตาม ปีทองของศรัณยูยังคงดำเนินต่อไปด้วยผลงานละครกับทางช่อง 3 อย่างต่อเนื่องในปี 2533 ตั้งแต่เรื่อง เทพธิดาบาร์ 21 ละครมินิซีรีส์แนวมิวสิเคิลโดย ม.ล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล โดยศรัณยูรับบทคู่กับ นรินทร ณ บางช้าง จากนั้นรับบทในละครโทรทัศน์เรื่อง สมหวัง มนุษย์ทดลอง ที่ดัดแปลงจากนิยายวิทยาศาสตร์อเมริกันเรื่อง "Flowers for Algernon" ศรัณยูรับบทหนุ่มปัญญาอ่อน ที่ถูกลักพาตัวไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ลับ ๆ ทำให้กลายเป็นหนุ่มสติปัญญาสุดล้ำ แต่สุดท้ายเกิดผลข้างเคียง ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์โดนจับกุมไปหมดแล้ว ทำให้สติปัญญาของสมหวังค่อยๆเลือนหาย ระหว่างนั้นสมหวังจึงได้พยายามสร้างประโยชน์ให้ชุมชนโดยสร้างโรงเรียนสำหรับเด็ก จนเมื่อผลงานสำเร็จ ชาวบ้านต่างยกย่องแต่สมหวังกลับไปเป็นคนปัญญาอ่อนเหมือนเดิมโดยสมบูรณ์จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จของผลงานของตัวเอง

ในปี 2533 ด้วยความโด่งดังของศรัณยู ทางฝั่งช่อง 5 จึงได้นำละครเก่าเก็บที่ถ่ายทำไว้ตั้งแต่ปี 2531 ของศรัณยูคือ คนขายคน แต่ชื่อเรื่องไม่ผ่านกบว. มาลงจอโทรทัศน์ในชื่อเรื่องใหม่คือ เธอคือดวงดาว ออกอากาศ 19 สิงหาคม - 21 ตุลาคม 2533

ช่วงปลายปี 2533 ต่อเนื่องกับปี 2534 แม้ว่าแฟนๆละครจะเรียกร้องละครคู่ ศรัณยู-ลลิตา ซึ่งก็ได้มีการวางแผนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็เป็นคิวของละครโทรทัศน์เรื่อง รอยมาร ออกอากาศ 25 ธันวาคม - 8 เมษายน 2534 เวลา 20.55 – 21.55 น. โดยศรัณยู รับบทคู่กับนางเอก เพ็ญ พิสุทธิ์ ในละครยาวเป็นครั้งแรก รอยมารยิ่งออกอากาศก็ยิ่งโด่งดังด้วยการฝีมือการแสดงที่จัดจ้านของคู่พระนาง แม้จะมีเสียงค้านในตอนแรกว่าพระเอกต้องเป็นลูกครึ่ง แต่ศรัณยูทำให้คนดูเชื่อว่าเป็นตัวละคร อุปมา หรือ มาร์ค จริง ๆ นอกจากนี้เพลงประกอบที่ร้องโดย ศรัณยู และ เพ็ญพิสุทธิ์ ยังโด่งดังเป็นอันมาก ทำให้รอยมารฉบับนี้กลายเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดและโด่งดังที่สุดฉบับหนึ่งทีเดียว

ปี 2534 และแล้วละครที่แฟนๆต่างตั้งตารอคอยกับการกลับมาอีกครั้งของคู่ขวัญ ศรัณยู-ลลิตา ในผลงานของ วรายุฑ มิลินทจินดา ในเรื่อง วนิดา ออกอากาศ 10 กรกฎาคม - 11 ธันวาคม 2534 เวลา 21.05-22.05 น. เรื่องราวของการแต่งงานที่ไม่เต็มใจของ พันตรีประจักษ์ มหศักดิ์ หรือ ใหญ่ กับลูกสาวคหบดีอย่าง วนิดา เพื่อชดใช้แทนหนี้ที่น้องชายก่อไว้ ในเรื่องนี้ศรัณยูยังเป็นผู้ร่วมเขียนบทโทรทัศน์ในนามปากกา รัญดาศิริ ซึ่งเป็นามปากกาของ รัญ คือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ดา คือ ดาลัด คุปตะเวทิน และ ศิริ คือ พงษ์ศิริ อินทรชัย เหมือนเช่นเคย ศรัณยู ได้ขับร้องเพลงประกอบละครวนิดาไว้ 3 เพลง คือ บุพเพสันนิวาส ยามรัก และ ยามชัง วนิดาเวอร์ชันศรัณยู-ลลิตา โด่งดังและสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมเป็นอันมาก

ปี 2535 ศรัณยู มีผลงานโทรทัศน์ทางช่อง 3 คู่กับ มาช่า วัฒนพานิช เป็นครั้งแรก ในละครเรื่องแรกในฐานะผู้จัดของ หทัยรัตน์ อมตะวณิชย์ เรื่อง ไฟโชนแสง ออกอากาศ 14 พฤษภาคม 2535 - 26 สิงหาคม 2535 ในเรื่องนี้ศรัณยูได้ขับร้องเพลงประกอบละครชื่อ ไฟโชนแสง เวอร์ชันผู้ชายเองอีกด้วย และมีละครทางช่อง 5 คู่กับ แสงระวี อัศวรักษ์ ในละครของ พิศาล อัครเศรณี เรื่อง เมียนอกกฎหมาย ประสบความสำเร็จด้วยดีทั้ง 2 เรื่อง

พ.ศ. 2536–2538

ปี 2536 ศรัณยูกลับสู่ช่อง 7 หลังจากห่างหายไป 5 ปี ด้วยการประชันบทบาทกับนางเอกยอดฝีมือ สินจัย เปล่งพานิช และ ปรียานุช ปานประดับ ในละครรีเมคยอดนิยม น้ำเซาะทราย โดยรับบท ภีม ประการพันธ์ หนุ่มนักปรึกษาด้านกฎหมายที่มีปัญหาครอบครัว ในส่วนของช่อง 3 ศรัณยูมีละครเรื่อง อยู่กับก๋ง คู่กับ เพชรี พรหมช่วย ออกอากาศในปีนี้

ปี 2537 ช่อง 7 นำเอาบทประพันธ์ยอดนิยมของ ทมยันตี เรื่อง ทวิภพ ที่เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อนมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ออกอากาศ 28 กุมภาพันธ์ 2537 - 24 พฤษภาคม 2537 ศรัณยู รับบท คุณหลวงอัครเทพวรากร คู่กับ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ ทวิภพเวอร์ชันนี้ประสบความสำเร็จโด่งดังอย่างมาก คู่พระนางได้รับความนิยมอย่างสูง ละครกวาด รางวัลเมขลา ครั้งที่ 14 ประจำปี 2537 ไปถึง 6 รางวัล ได้แก่ ละครชีวิตดีเด่น ผู้เขียนบทละครดีเด่น เพลงนำละครดีเด่น ผู้กำกับการแสดงดีเด่น ผู้แสดงนำชายดีเด่น และ ผู้แสดงนำหญิงดีเด่น[18][19] การถ่ายทอดบทคุณหลวงและแม่มณีของทั้งศรัณยู และ สิเรียม กลายเป็นภาพจำอันประทับใจ ในปัจจุบันแม้จะมีการนำมารีเมคหลายต่อหลายครั้ง ก็มักจะมีการนำไปเทียบกับเวอร์ชัน ศรัณยู-สิเรียมอยู่เสมอ จากนั้นในปีเดียวกัน ศรัณยู ได้มีผลงานละครกับดาราวิดีโออีกเรื่องคือ ปลายฝนต้นหนาว คู่กับ รชนีกร พันธุ์มณี ออกอากาศ 23 สิงหาคม 2537 - 19 ธันวาคม 2537

ปี 2538 ศรัณยูเปิดปีด้วยผลงานละครกับค่าย เอ็กแซ็กท์ ทาง ช่อง 5 ประชันฝีมือในละครเรื่อง เรือนแพ กับ พงศ์พัฒน์ วชิรบรรจง จอนนี่ แอนโฟเน่ และ นุสบา วานิชอังกูร ออกอากาศ 10 กุมภาพันธ์ 2538 - 27 พฤษภาคม 2538 จากนั้นกลับมามีผลงานละครคู่กับ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์ อีกครั้งกับดาราวิดีโอทางช่อง 7 ในเรื่อง ปราสาทสีขาว ออกอากาศ 9 มิถุนายน 2538 - 20 สิงหาคม 2538 (งดออกอากาศ วันที่ 21 - 30 กรกฎาคม 2538)

ปลายปีเดียวกัน ช่อง 7 ได้นำอมตะภาพยนตร์ที่ทำรายได้ถล่มทลายในอดีตเรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง มาสร้างเป็นละครโทรทัศน์เป็นครั้งแรกโดยค่ายดาราวิดีโอ จับคู่ ศรัณยู กับ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ ออกอากาศ 24 ตุลาคม 2538 - 2 มกราคม 2539 ละครเรื่องนี้ถือเป็นม้ามืดมาก เพราะฟอร์มพระเอกที่คนกังขาว่าจะแสดงบทหนุ่มท้องทุ่งนา กับ นางเอก ณัฐริกา ซึ่งยังหน้าใหม่มาก แต่หลังจากละครเรื่องนี้ออกอากาศ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ดังหมด ทั้งนักแสดง เพลงประกอบ กลายเป็น talk of the town[20] เป็นละครอีกเรื่องที่ทำกี่ครั้งก็ลบภาพเดิมไม่ออก เรตติ้งตอนอวสานได้ 36% ถูกบันทึกว่าเป็นอันดับ 3 ละครเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของไทย ซึ่งเป็นรองเพียงแค่ คู่กรรม (ธงไชย-กมลชนก) และ ดาวพระศุกร์ (ศรราม-สุวนันท์)[21] เรตติ้งดังกล่าวยากจะมีใครทำได้อีกยิ่งในยุคอินเทอร์เน็ตและทีวีดิจิตัลด้วยแล้ว ไม่มีใครคาดคิดว่า คุณหลวงเทพฯ, พันตรีประจักษ์ จะกลายมาเป็น ไอ้คล้าว ได้แนบเนียนขนาดนี้ ประกอบกับเป็นละครร้องซึ่งเป็นแนวถนัดสำหรับนักแสดงละครเวทีอย่างศรัณยูอยู่แล้ว นอกจากละครจะโด่งดัง เพลงประกอบละคร มนต์รักลูกทุ่ง ซึ่งขับร้องโดยนักแสดงนำมีวางออกเป็นอัลบั้มถึง 2 ชุด ก็โด่งดังประสบความสำเร็จยอดขายหลักล้านชุด จนต้องเดินสายเปิดคอนเสิร์ตเพลงประกอบละครกันข้ามปี รวมทั้งเป็นการปลุกกระแสเพลงลูกทุ่งให้กลับมาใหม่[22] ศรัณยูเองก็ได้มีอัลบั้มเดี่ยวชุด หัวใจลูกทุ่ง สืบเนื่องความสำเร็จของละครในปีเดียวกัน

ในปีเดียวกันนี้ ศรัณยู รับบทนำในภาพยนตร์ผลงานกำกับของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ที่กวาด รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 26 ประจำปี พ.ศ. 2537 ไปถึง 6 รางวัล ในเรื่อง มหัศจรรย์แห่งรัก ร่วมกับ สินจัย หงษ์ไทย สันติสุข พรหมศิริ วิลลี่ แมคอินทอช นุสบา วานิชอังกูร และ อังคณา ทิมดี (ศรัณยูเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทอง สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในครั้งนี้ด้วย)

พ.ศ. 2539–2544

ปี 2539 ศรัณยู รับบทคู่กับนางเอกดัง สุวนันท์ คงยิ่ง ในละคร ด้วยแรงอธิษฐาน ค่ายดาราวิดีโอ ออกอากาศ 26 กรกฎาคม 2539 - 29 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเรื่องราวของนางเอกที่ตายไปพร้อมความเข้าใจผิด และเกิดใหม่กลับมาแก้แค้นพระเอก ด้วยแรงอธิษฐานประสบความสำเร็จด้วยดี ในปีเดียวกัน ศรัณยู มีผลงานนำแสดงภาพยนตร์เรื่อง เรือนมยุรา โดยรับบท คุณพระนาย คู่กับ นุสบา วานิชอังกูร

ปี 2540 ศรัณยู กลับสู่ช่อง 3 ในรอบ 4 ปี โดยรับบทคู่ บุษกร พรวรรณะศิริเวช ในเรื่อง ทานตะวัน จากนั้นรับบทในละคร ตะวันยอแสง คู่กับ ซอนย่า คูลลิ่ง ในปีเดียวกันศรัณยูมีละครทางช่อง 5 อีก 2 เรื่อง คือ เขมรินทร์ อินทิรา คู่กับ แคทรียา อิงลิช ซึ่งเป็นอีกครั้งกับการเป็นพระเอกบทประพันธ์ของ ก.สุรางคนางค์ อีกเรื่องทางช่อง 5 ได้แก่ แก้วจอมแก่น เป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งกับนางเอกยอดฝีมือ สินใจ หงษ์ไทย

ปี 2541 ศรัณยูมีผลงานทางช่อง 3 โดยรับบทนำในละคร ดวงยิหวา คู่กับ ศิริลักษณ์ ผ่องโชค และได้เริ่มชิมลางบทบาทใหม่ในการกำกับและร่วมแสดงละครโทรทัศน์แนววัยรุ่นทางช่อง 3 เรื่อง เทพนิยายนายเสนาะ ในฝั่งของช่อง 7 ศรัณยูรับบทพ่อม่ายในละครจากบทประพันธ์ของ กนกเรขา เรื่อง พ่อม่ายทีเด็ด คู่กับ สินิทธา บุญยศักดิ์ จากนั้นกลับมาร่วมงานกับดาราวิดีโอในละครเรื่อง พลังรัก ดัดแปลงจากบทประพันธ์เรื่อง โรงแรมวิปริต คู่กับ ชไมพร จตุรภุช ทางช่อง 7 เช่นเดียวกัน ออกอากาศ 24 มิถุนายน 2541 - 13 สิงหาคม 2541 ปี 2542 ศรัณยูมีผลงานละคร 2 เรื่องทางช่อง 7 โดยกลับมารับบทคู่กับ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ อีกครั้งในละครค่ายดาราวิดีโอเรื่อง โดมทอง ออกอากาศ 20 กุมภาพันธ์ 2542 - 3 เมษายน 2542 ตามด้วย คุณปู่ซู่ซ่า คู่กับ ธัญญาเรศ รามณรงค์ และละครเทิดพระเกียรติ พ่อ ตอน ชีวิตที่พอเพียง ทางช่อง 5 จากนั้นในปี 2543 รับบทในละคร ดั่งสายน้ำไหล คู่กับ มัณฑนา โห่ศิริ ออกอากาศ 5 มกราคม 2543 - 17 กุมภาพันธ์ 2543

ปี 2543 รับบทพระเทียรราชา (สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท คู่กับหม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งรับบทพระสุริโยทัย

ปี 2544 ศรัณยูกลับมารับบทพระเอกท้องทุ่งนาอีกครั้งกับบทนายฮ้อยเคน ใน นายฮ้อยทมิฬ ค่าย ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น คู่กับ น้ำฝน โกมลฐิติ เป็นงานสร้างที่ทำได้ดีมาก และประสบความสำเร็จเป็นอันมากเช่นเดียวกัน[23] เรื่องนายฮ้อยทมิฬมีอัลบั้มเพลงละครวางแผงถึง 2 ชุด จากนั้นมีผลงานละครพิเศษวันพ่อแห่งชาติ เรื่อง รักของฟ้า คู่กับ รชนีกร พันธุ์มณี

พ.ศ. 2545 - 2549

ปี 2545 ศรัณยูเริ่มบทบาทใหม่อย่างเต็มตัวกับการกำกับการแสดงละครโทรทัศน์ทางช่อง 7 เรื่อง น้ำพุ นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช จิรายุส วรรธนะสิน และ ตะวัน จารุจินดา ปี 2546 ศรัณยูรับบทนำในละครแนวคอมเมดี้เรื่อง มหาเฮง ค่ายดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น ทางช่อง 7 ร่วมกับ ทราย เจริญปุระ ออกอากาศ 22 สิงหาคม 2546 - 13 กันยายน 2546 และได้มีผลงานการเขียนและกำกับละครโทรทัศน์ทางช่อง 7 เรื่องถัดมาในเรื่อง สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย นำแสดงโดย ตะวัน จารุจินดา วรนุช ภิรมย์ภักดี มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์ และ ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์

ปี 2547 ศรัณยูเป็นผู้กำกับและเขียนบทโทรทัศน์ในละคร เรื่อง หลังคาแดง ทางช่อง 7 นำแสดงโดย ดนุพร ปุณณกันต์ และ จีรนันท์ มะโนแจ่ม โดยศรัณยูเองได้รับบท นายแพทย์สินเงิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากไม่ค่อยประสบความสำเร็จในด้านยอดผู้ชม ทำให้ช่องตัดให้จบเร็วขึ้น

ปี 2548 ศรัณยู รับบท ส.อาสนจินดา ในละครช่อง 7 เรื่อง มิตร ชัยบัญชา มายาชีวิต และมีผลงานกำกับละครโทรทัศน์เรื่อง ร.ศ. 112 คนไทยรักแผ่นดิน เป็นละครพิเศษทางช่อง 5 นำแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช ชไมพร จตุรภุช อนุชิต สพันธุ์พงษ์ และ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร ละครเรื่องนี้ได้รับ รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 20 พ.ศ. 2549 ประเภท รางวัลพิเศษ ละครส่งเสริมความสมานฉันท์[24]

ปี 2549 ศรัณยูกลับรับบทเด่นในละครโทรทัศน์อีกครั้งในละครค่าย เอ็กแซ็กท์ เรื่อง ลอดลายมังกร คู่กับ บุษกร พรวรรณะศิริเวช ทางช่อง 5 ออกอากาศตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2549 - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

พ.ศ. 2550 - 2554

การเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในปี 2549 ของ ศรัณยู ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากส่งผลกระทบต่องานละครโทรทัศน์และงานพิธีกรรายการโทรทัศน์[25] อย่างไรก็ตามเขายังคงมีผลงานภาพยนตร์ ละครเวที และผลงานในบทบาทผู้กำกับและผู้จัดอย่างต่อเนื่อง

ปลายปี 2549 ศรัณยู นำแสดงและกำกับภาพยนตร์แนว psychological thriller เรื่อง อำมหิตพิศวาส ร่วมกับ บงกช คงมาลัย ตะวัน จารุจินดา และปรางทอง ชั่งธรรม[26] จากนั้นเขาได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์ชื่อเสียงระดับนานาชาติเรื่อง 13 เกมสยอง

ปี 2550 ศรัณยูรับบท สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา ในปีเดียวกัน ศรัณยู กลับมาร่วมงานกับ เอ็กแซ็กท์ อีกครั้ง โดยรับบท กษัตริย์อาเหม็ด ในละครเวที ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล ซึ่งเป็นละครเวทีเปิดโรงละครใหม่ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ ด้วยความนิยมจึงมีการเปิดการแสดงถึง 53 รอบ

ปี 2551 ศรัณยูรับหน้าที่กำกับละครพีเรียดค่าย เอ็กแซ็กท์ เรื่อง ตราบสิ้นดินฟ้า นำแสดงโดย ยุรนันท์ ภมรมนตรี และ คัทลียา แมคอินทอช สำหรับงานด้านการแสดงเขามีผลงานภาพยนตร์เรื่อง สลัดตาเดียวกับเด็ก 200 ตา โดยรับบทกัปตันฤทธิ์ ออกฉายในปีนี้ จากนั้นยังรับบท พระยาราชเสนา ในภาพยนตร์ องค์บาก 2 ปลายปี ศรัณยูนำแสดงละครเวที ทึนทึก 2 40 ปีผ่านคานเพิ่งขยับ ระหว่าง 20-23 พฤศจิกายน 2551 ณ เอ็มเธียเตอร์

ปี 2552 มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง สวยซามูไร ในบท วายิบ

ปี 2553 มีผลงานภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก 3 โดยกลับมารับบทเดิมคือ พระยาราชเสนา

ปี 2554 ศรัณยู มีผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง คนโขน โดยค่าย สหมงคลฟิล์ม นำแสดงโดย นิรุตติ์ ศิริจรรยา สรพงศ์ ชาตรี และ เพ็ญพักตร์ ศิริกุล

พ.ศ. 2555 - 2563

ปี 2555 ศรัณยู ทำงานเบื้องหลังเต็มตัวโดยก่อตั้งบริษัทผลิตละครและละครเวทีในชื่อ บริษัท สามัญการละคร จำกัด เปิดตัวด้วยละครเวทีเรื่อง หลังคาแดง[27] เป็นการนำละครที่เขาเคยกำกับและเขียนบทไว้มาทำให้สมบูรณ์ในฉบับละครเวที นำแสดงโดย โทนี่ รากแก่น และ รมิตา มหาพฤกษ์พงศ์

ปีถัดมา 2556 ศรัณยูกลับมาทำงานร่วมกับช่อง 7 อีกครั้ง โดยหยิบยกผลงานบทประพันธ์ของเขาเองเรื่อง สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย มารีเมคเวอร์ชันใหม่ นำแสดงโดย ศรัณย์ ศิริลักษณ์ และ ธัญญะสุภางค์ จิรปรีชานนท์

ปี 2557 ศรัณยูมีผลงานกำกับและเขียนบทโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์ช่อง 7 เรื่อง หัวใจเถื่อน[28] นำแสดงโดย อรรคพันธ์ นะมาตร์ และ อุษามณี ไวทยานนท์ ประสบความสำเร็จด้วยดี ต่อเนื่องด้วยผลงานทางช่อง 7 ในปี 2558 เรื่อง รอยรักแรงแค้น โดยศรัณยูรับหน้าที่กำกับและเขียนบทโทรทัศน์ ละครนำแสดงโดย ภัทรเดช สงวนความดี และ ฝนทิพย์ วัชรตระกูล ประสบความสำเร็จด้วยดีเช่นเดียวกัน กลางปี 2558 ศรัณยู มีผลงานนำแสดงละครเวที แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล ระหว่าง 12 - 28 มิถุนายน 2558 ณ เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์

ปี 2559 ศรัณยูกำกับและเขียนบทโทรทัศน์เรื่อง บัลลังก์หงส์ นำแสดงโดย ภัทรเดช สงวนความดี และ พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ อย่างไรก็ตาม บัลลังก์หงส์มีปัญหาโดนช่อง 7 ตัดให้จบเร็วเนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จด้านยอดผู้ชม [29] ปลายปีเดียวกัน ศรัณยู มีผลงานกำกับละครเทิดพระเกียรติทางช่อง 7 เรื่อง จงรักภักดี[30] นำแสดงโดย ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ และ กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า

ปี 2560 ศรัณยูกลับมาสู่งานแสดงอีกครั้งโดยร่วมแสดงกับเหล่าทัพนักแสดงทั่วฟ้าเมืองไทยในละครเทิดพระเกียรติคุณในองค์พระมหาบูรพกษัตราธิราชเจ้า เรื่อง ศรีอโยธยา[31] ผลงานสร้างของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล รับบท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ในสมัยอยุธยา วางแผนออกอากาศ 5 ธันวาคม 2560 ทางช่อง True4U

ในส่วนของงานผู้จัดละคร ศรัณยูเริ่มงานใหม่กับช่อง 8 ประเดิมด้วยละครเรื่องแรก ดงผู้ดี [32][33][34][35] ในปีเดียวกันศรัณยูและภรรยา หัทยา วงษ์กระจ่าง ยังเป็นแขกรับเชิญเซอร์ไพรส์ในบทพ่อแม่สุดเท่ที่ยอมรับและเข้าใจในตัวตนของลูกชายในละคร ไดอารีตุ๊ดซีส์ เดอะซีรีส์ ซีซั่น 2 ตอนอวสาน (ตอนที่ 12) ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 29 เมษายนทางช่อง GMM25 อีกด้วย ครึ่งปีหลังศรัณยู ร่วมงานแถลงข่าวรับบทในละคร Club Friday the Series 9 รักครั้งหนึ่ง ที่ไม่ถึงตาย ตอน "รักที่ไม่มีจริง" ร่วมกับ รฐา โพธิ์งาม และ ธนา สุทธิกมล ออกอากาศทางช่อง GMM25[36]

เขาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับระยะสุดท้ายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563[37] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ณ วัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ผลงานการแสดง

ละครโทรทัศน์

ปี เรื่อง รับบท หมายเหตุ
2527 เก้าอี้ขาวในห้องแดง บูรพา/เปี๊ยก ช่อง 3
บ้านสอยดาว เอื้อตะวัน ช่อง 7
เลือดขัตติยา อโณทัย ช่อง 3(ไม่ได้ออกอากาศ)
2528 มงกุฎเพชร กฤช ช่อง 5
ระนาดเอก เอก ช่อง 7
มัสยา ร้อยโทลักษณ์ รัตนมหาศาล ช่อง 7
2529 กามนิต-วาสิฏฐี กามนิต ช่อง 3
จิตรกร ช่อง 7
2530 อวสานของเซลล์แมน ชนะพล/พล ช่อง 3
บ้านทรายทอง ม.ร.ว.ภราดาพัฒน์ระพี สว่างวงศ์ / ชายกลาง ช่อง 7
พจมาน สว่างวงศ์ ม.ร.ว.ภราดาพัฒน์ระพี สว่างวงศ์ / ชายกลาง ช่อง 7
บ่วงกรรม หลวงวรจักร / เรืองศักดิ์ ช่อง 7
2531 อาศรมสาง นักสิทธิ์ สุรเมธี ช่อง 3
ทายาท ช่อง 3
บริษัทจัดคู่ อารมย์ ช่อง 7
เกมกามเทพ กำนันภู ช่อง 3
เจ้าสาวของอานนท์ อานนท์ วิทยาธร ช่อง 3
2532 ดอกฟ้าและโดมปู้จองหอง โดม ช่อง 3
รัตติกาลยอดรัก ดร.จักรกฤษณ์ อิศราลักษณ์ ช่อง 3
2533 โหด เลว อ้วน ช่อง 3
วนาลี ผู้กองศยาม/เสือมืด ช่อง 3
เธอคือดวงดาว (สันติภาพ - ชื่อละครเปลี่ยนจาก "คนขายคน" ถ่ายทำเมื่อ พ.ศ. 2531 ไม่ผ่าน กบว.) ช่อง 5
เทพธิดาบาร์ 21 ช่อง 3
สมหวังมนุษย์ทดลอง สมหวัง ช่อง 3
รอยมาร อุปมา/มาร์ค ช่อง 3
2534 วนิดา (พันตรีประจักษ์ มหศักดิ์ / ใหญ่) ช่อง 3
2535 ไฟโชนแสง (ชาติชาย) ช่อง 3
เมียนอกกฎหมาย นเรนทร์ ช่อง 5
2536 อยู่กับก๋ง (เพ้ง) ช่อง 3
น้ำเซาะทราย ภีม ประการพันธุ์ ช่อง 7
2537 ทวิภพ คุณหลวงอัครเทพวรากร - ได้รับรางวัลเมขลาผู้แสดงนำชายดีเด่นปี 2537 ช่อง 7
ปลายฝนต้นหนาว ลายคราม ช่อง 7
2538 เรือนแพ (เจน) ช่อง 5
ปราสาทสีขาว ตรีพิมาย/ตรี ช่อง 7
มนต์รักลูกทุ่ง คล้าว ช่อง 7
2539 ด้วยแรงอธิษฐาน กฤตย์ ช่อง 7
2540 ทานตะวัน (สาริศ) ช่อง 3
เขมรินทร์ อินทิรา เขมรินทร์ ช่อง 5
แก้วจอมแก่น ช่อง 5
ตะวันยอแสง ศักดิ์ระพี / อาเล็ก ช่อง 3
2541 ดวงยิหวา อาแมน ช่อง 3
เทพนิยายนายเสนาะ นายเสนาะ ช่อง 3
ตามรักคืนใจ ช่อง 5
พ่อม่ายทีเด็ด พายัพ ช่อง 7
พลังรัก อธิวัฒน์ ช่อง 7
2542 ละครเทิดพระเกียรติ พ่อ ตอน ชีวิตที่พอเพียง ชูชีพ ช่อง 5
โดมทอง (อดิศวร์ ศิโรดม(ปัจจุบัน) /เจ้าพระยาสรรักษ์ไกรณรงค์ (อดีต) ) ช่อง 7
คุณปู่ซู่ซ่า ช่อง 7
2543 ดั่งสายน้ำไหล พีรภัทร ช่อง 7
2544 นายฮ้อยทมิฬ นายฮ้อยเคน ช่อง 7
รักของฟ้า พีรพล ช่อง 7
2546 มหาเฮง เฮง ช่อง 7
2547 หลังคาแดง (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคจิต (นายแพทย์สินเงิน)) ช่อง 7
2548 มิตร ชัย บัญชา มายาชีวิต ส.อาสนจินดา ช่อง 7
2549 ลอดลายมังกร เหลียง ช่อง 5
2560 ศรีอโยธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ / สมเด็จพระภูมินทรมหาราชาบรมโกศ [38][39] ช่องทรูโฟร์ยู
ไดอารีตุ๊ดซีส์ เดอะซีรีส์ ซีซั่น 2 พ่อของวิน(รับเชิญ) ช่องจีเอ็มเอ็ม 25
2561 Club Friday the Series 9 รักครั้งหนึ่ง ที่ไม่ถึงตาย[36] ช่องจีเอ็มเอ็ม 25
2564 ลวงฆ่าล่ารัก วี (รับเชิญ) ละครเรื่องสุดท้าย ช่องพีพีทีวี

ภาพยนตร์

ละครเวที

ผลงานพิธีกร

ผลงานเพลง

อัลบั้ม

  • 2535 : อัลบั้ม ครั้งหนึ่ง ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
  • 2538 : อัลบั้ม รวมเพลงประกอบละคร มนต์รักลูกทุ่ง ชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2
  • 2539 : อัลบั้ม หัวใจลูกทุ่ง ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
  • 2544 : อัลบั้ม เพลงประกอบละคร นายฮ้อยทมิฬ ชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2
  • 193 วัน รำลึก
  • 7 ตุลา รำลึก

เพลง

ปี ชื่อเพลง รายละเอียด
2527 อยากลืม เพลงที่ร้องโดยตัวละคร "บูรพา" ในละคร เก้าอี้ขาวในห้องแดง
เพียงความทรงจำ
2531 เกมกามเทพ เพลงประกอบละคร เกมกามเทพ
2531 รักนิรันดร์ เพลงประกอบละคร เจ้าสาวของอานนท์
2533 วนาสวาท (ร้องคู่กับ รัญญา ศิยานนท์) เพลงประกอบละคร วนาลี
2533 รอยมาร (เวอร์ชันคู่ ร้องกับ เพ็ญ พิสุทธิ์) เพลงประกอบละคร รอยมาร
รอยมาร (เวอร์ชันเดี่ยว)
2534 บุพเพสันนิวาส (เวอร์ชันเดี่ยว) เพลงประกอบละคร วนิดา
บุพเพสันนิวาส (เวอร์ชันคู่ ร้องกับ รัญญา ศิยานนท์)
ยามรัก
ยามชัง
2535 ไฟโชนแสง เพลงประกอบละคร ไฟโชนแสง
2537 ปลูกรัก เพลงประกอบละคร ทวิภพ
2538 สัญญาก่อนลา (ร้องคู่ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) เพลงประกอบละคร มนต์รักลูกทุ่ง ชุดที่ 1
สิบหมื่น
เปิดหัวใจ (ร้องคู่ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์)
แม่ร้อยใจ
ลาก่อนเพื่อนยาก
ทวงสัญญา (ร้องคู่ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) เพลงประกอบละคร มนต์รักลูกทุ่ง ชุดที่ 2
ลุยกรุง (ร้องคู่ อนันต์ บุนนาค)
2539 ทุกสิ่งสำคัญที่ใจ เพลงประกอบภาพยนตร์ เรือนมยุรา
2542 รักนิรันดร์ (ร้องคู่ ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์) เพลงประกอบละคร โดมทอง
2544 เกี่ยวก้อยสัญญา (ร้องคู่ น้ำฝน โกมลฐิติ) เพลงประกอบละคร นายฮ้อยทมิฬ ชุดที่ 1
คนขายควาย (ร้องร่วมกับ ไมค์ ภิรมย์พร & ดิเรก อมาตยกุล)
อภัยอ้ายด้วย
ต้อนควาย เพลงประกอบละคร นายฮ้อยทมิฬ ชุดที่ 2
ใจคนจร

ผลงานเบื้องหลัง

ผู้จัดละครและผู้กำกับการแสดง

ละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์
พ.ศ. เรื่อง ประเภท ผลิตโดย ออกอากาศ/สถานที่เปิดแสดง นักแสดงนำ อ้างอิง
2541 เทพนิยายนายเสนาะ ละครโทรทัศน์ มิวสิค บั๊กส์ ช่อง 3 ศรัญยู วงษ์กระจ่าง / คลาวเดีย จักรพันธุ์ / สุเทพ ประยูรพิทักษ์ / ชรัส เฟื่องอารมย์ / จรัสพงษ์ สุรัสวดี

อุทุมพร ศิลาพันธ์ / ญาณี ตราโมท / ภัทรวรินทร์ ทิมกุล / พอลล่า เทเลอร์ / วงละอ่อน

2545 น้ำพุ ละครโทรทัศน์ คลิค เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง 7 สินจัย เปล่งพานิช / จิรายุส วรรธนะสิน / ตะวัน จารุจินดา / เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์
ถนนสายหัวใจ ละครโทรทัศน์ คลิค เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง ไอทีวี ดนัย สมุทรโคจร / ภัครมัย โปตระนันทน์ / แอนนี่ บรู๊ค / สราวุฒิ พุ่มทอง / ชรัส เฟื่องอารมย์ / กาญจนาพร ปลอดภัย
2546 สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ละครโทรทัศน์ คลิค เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง 7 ตะวัน จารุจินดา / วรนุช ภิรมย์ภักดี / มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์ / ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์
2547 หลังคาแดง ละครโทรทัศน์ คลิค เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง 7 ดนุพร ปุณณกันต์ / จีรนันท์ มะโนแจ่ม / สินจัย เปล่งพานิช / ศรัณยู วงษ์กระจ่าง
2548 ร.ศ. 112 คนไทยรักแผ่นดิน ละครโทรทัศน์ (ละครพิเศษ) แชนแนลซี ช่อง 5 สินจัย เปล่งพานิช / ชไมพร จตุรภุช / อนุชิต สพันธุ์พงษ์ / พิมลรัตน์ พิศลยบุตร
2549 อำมหิตพิศวาส ภาพยนตร์ สหมงคลฟิล์ม ศรัณยู วงษ์กระจ่าง / บงกช คงมาลัย / ตะวัน จารุจินดา / ปรางทอง ชั่งธรรม
2551 ตราบสิ้นดินฟ้า ละครพีเรียด บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด ช่อง 5 ยุรนันท์ ภมรมนตรี / คัทลียา แมคอินทอช / อนุวัฒน์ นิวาตวงศ์
/ วิทวัส สิงห์ลำพอง / เมย์ เฟื่องอารมย์ / ณหทัย พิจิตรา
2554 คนโขน ภาพยนตร์ สหมงคลฟิล์ม นิรุตติ์ ศิริจรรยา / สรพงศ์ ชาตรี / เพ็ญพักตร์ ศิริกุล / พิมลรัตน์ พิศลยบุตร
/ นันทรัตน์ ชาวราษฎร์ / อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ / ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์
2555 หลังคาแดง ละครเวที สามัญการละคร M Theatre โทนี่ รากแก่น / อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ [46]
2556 สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ละครโทรทัศน์ สามัญการละคร ช่อง 7 ศรัณย์ ศิริลักษณ์ / ธัญญะสุภางค์ จิรปรีชานนท์ / ณัฐชา นวลแจ่ม / ปิยพันธ์ ขำกฤษ / กรเศก โคนินทร์
2557 หัวใจเถื่อน ละครโทรทัศน์ สามัญการละคร ช่อง 7 อรรคพันธ์ นะมาตร์ / อุษามณี ไวทยานนท์ / พิชยดนย์ พึ่งพันธ์ / รัญดภา มันตะลัมพะ
/ สุรวุฑ ไหมกัน / พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ / ศรัณย่า ชุณหศาสตร์
2558 รอยรักแรงแค้น ละครโทรทัศน์ สามัญการละคร ช่อง 7 ภัทรเดช สงวนความดี / ฝนทิพย์ วัชรตระกูล / ธัญญะสุภางค์ จิรปรีชานนท์ / วัชรบูล ลี้สุวรรณ
/ นวพล ภูวดล / รัญดภา มันตะลัมพะ / พลรัตน์ รอดรักษา / ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์
2559 บัลลังก์หงส์ ละครโทรทัศน์ สามัญการละคร ช่อง 7 ภัทรเดช สงวนความดี / พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์ / วีรคณิศร์ กานต์วัฒนกุล / รัญดภา มันตะลัมพะ / เพ็ญพักตร์ ศิริกุล / พีรกร โพธิ์ประเสริฐ / ปทิตตา อัธยาตมวิทยา / อนิสา นูกราฮา / พรรัมภา สุขได้พึ่ง / ฐิตินันท์ สุวรรณถาวร
จงรักภักดี ละครเทิดพระเกียรติ สามัญการละคร ช่อง 7 ศิวัฒน์ โชติชัยชรินทร์ / กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า / วริฏฐิสา ลิ้มธรรมมหิศร / อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา / จิณณะ นวรัตน์ / ศรัณย่า ชุณหศาสตร์
2561 สัมผัสรัตติกาล ละครโททัศน์ สามัญการละคร จีเอ็มเอ็ม 25 อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา / มชณต สุวรรณมาศ / ณัฐ ศักดาทร / ธันย์ชนก ฤทธินาคา / นิรุตติ์ ศิริจรรยา / วิลลี่ แมคอินทอช / สันติสุข พรหมศิริ
Club Friday the Series 10 รักนอกใจ ตอน รักที่ไม่อยากเลือก ละครซีรีส์ สามัญการละคร จีเอ็มเอ็ม 25 อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา / นิดา พัชรวีระพงษ์ / ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา / ศรุชา เพชรโรจน์
2562 ดงผู้ดี ละครโทรทัศน์ สามัญการละคร ช่อง 8 เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ / กฤษฎา พรเวโรจน์ / ณัฐชา เจกะ / พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์ / สุพจน์ จันทร์เจริญ / อริสรา ทองบริสุทธิ์/ เดือนเต็ม สาลิตุล / มยุริญ ผ่องผุดพันธ์ [32][34]
2566 ปาฏิหาริย์กาลเวลา ละครโทรทัศน์ สามัญการละคร พีพีทีวี อนุวัฒน์ ชูเชิดรัตนา / คะนึงนิจ จักรสมิทธานนท์

ผลงานพากย์เสียง

  • 2541 : ภาพยนตร์ The X-Files Fight The Future (บท Fox Mulder)
  • 2542 : ภาพยนตร์ Three Kings (บท Major Archie Gates)

ชีวิตส่วนตัวและชีวิตครอบครัว

ศรัณยู สมรสกับ หัทยา เกตุสังข์ นักแสดงและดีเจชื่อดัง โดยเข้าพิธีหมั้น เมื่อ วันศุกร์ ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2537 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระตำหนักสวนจิตรลดา เมื่อ วันพฤหัสบดี ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ตามด้วยงานฉลองพิธีสมรสใน วันเสาร์ ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2537[5] ทั้งคู่มีบุตรสาวฝาแฝด ชื่อ ศุภรา วงษ์กระจ่าง (ชื่อเล่น: ลูกหนุน) และ ศีตลา วงษ์กระจ่าง (ชื่อเล่น: ลูกหนัง) ซึ่งเกิดในปี พ.ศ.2539 [47]

ศรัณยูรักอาชีพนักแสดงที่สุด

ศรัณยูได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งตับมาตั้งแต่ปลายปี 2562 และได้ปิดข่าวเป็นเวลาหลายเดือน สุดท้ายเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ปี2563 ศรัณยูก็อาการทรุดหนักลง ความดันต่ำจนในที่สุด ศรัณยูก็ได้เสียชีวิตเมื่อค่ำคืนในวันที่ 10 มิถุนายน ปี2563 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สิริอายุรวม 59 ปี 7 เดือน 27 วัน

ญาติและครอบครัวได้นำร่างของศรัณยูไปประกอบพิธีตามศาสนา ที่วัดนาคปรก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีบรรดาญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้อง แฟนคลับ ดารานักแสดงศิลปินในวงการบันเทิง ร่วมไว้อาลัยเป็นจำนวนมาก และได้พระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2563[8]

การเมือง

ศรัณยูเคยเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และเคยมีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย รุ่นที่ 2[48] แต่ในวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2550 ศรัณยูเป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเข้าร่วมชุมนุมตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งกลุ่ม คือ วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งได้เข้าร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้งและได้ขึ้นเวทีปราศรัยร่วมกับพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เพื่อนนักแสดงที่หน้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2549

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง ศรัณยูเป็นบุคคลหนึ่งที่เข้าร่วมในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 และได้ขึ้นเวทีร้องเพลงกับ ไก่ แมลงสาบ และวงซูซู อย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งถูกแต่งตั้งให้เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 พร้อมกับนางมาลีรัตน์ แก้วก่า ใน วันอาทิตย์ ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ต่อมาใน วันอังคาร ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เขาได้รับเลือกให้เป็นรองเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ของทางกลุ่มพันธมิตรฯ

รางวัล

รางวัลหลัก

ปี (พ.ศ.) รางวัล ผลงานที่ได้เข้าชิง สาขา ผล อ้างอิง
2537 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี หรือ รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 26 ภาพยนตร์ มหัศจรรย์แห่งรัก นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [49]
2537 รางวัลเมขลา ครั้งที่ 14 ละคร ทวิภพ ผู้แสดงนำชายดีเด่น ชนะ [19]
2537 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 9 รายการ คืนวันอาทิตย์ ผู้ดำเนินรายการชายดีเด่น ชนะ
2538 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 5 ภาพยนตร์ บินแหลก นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [49]
2543 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี หรือ รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 24 ภาพยนตร์ สตางค์ ผู้แสดงประกอบชายยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
2549 รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี หรือ รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 36 ภาพยนตร์ The Passion อำมหิตพิศวาส นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [49]
2549 รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 16 ภาพยนตร์ The Passion อำมหิตพิศวาส ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [50]
2556 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 5 ละคร สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ผู้กำกับยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [51]
กำกับภาพยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [51]
บทโทรทัศน์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [51]
2556 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 28 ละคร สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ผู้กำกับละครดีเด่น เสนอชื่อเข้าชิง
2556 คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 11 ละคร สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย ผู้กำกับละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง
2559 รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 30 ละคร รอยรักแรงแค้น องค์ประกอบศิลป์ดีเด่น เสนอชื่อเข้าชิง
2559 คมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 13 ละคร รอยรักแรงแค้น ผู้กำกับละครยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [52]
บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [52]
2559 รางวัลนาฏราช ครั้งที่ 7 ประจำปี พ.ศ. 2558 ละคร รอยรักแรงแค้น รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม เสนอชื่อเข้าชิง [53]

รางวัลโหวต

  • รางวัลดราม่าอวอร์ด 2013 สาขาผู้กำกับละครยอดเยี่ยม จากละคร สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย (2556)
  • รางวัล EFM Awards ประจำเดือน กรกฎาคม สาขาละครยอดนิยม จากละคร หัวใจเถื่อน (2557)[54]
  • เข้าชิงรางวัล เฉลิมไทยอวอร์ด ครั้งที่ 4 ประจำปี 2549 (25/2/2550) ภาพยนตร์ The Passion อำมหิตพิศวาส

อื่น ๆ

  • เพลงเมล็ดกล้าในดินกร้าว ในนิทานเพลง ชุด หยั่งรากฝากใบ มูลนิธิเด็ก พ.ศ. 2534
  • ผู้กำกับการแสดงละครเวทีประวัติพรรคประชาธิปัตย์ งานเลี้ยงฉลองครบรอบ 60 ปี พรรคประชาธิปัตย์ (6 เมษายน พ.ศ. 2549)

อ้างอิง

  1. 'ตั้ว ศรัณยู' ชีวิต งานแสดง และอุดมการณ์ - กรุงเทพธุรกิจ
  2. ภัทรพร อภิชิต, ในความทรงจำ... ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, นิตยสารมนต์รักแม่กลอง, ปีที่ 1 ฉบับที่ 5, ตุลาคม 2551, หน้า 41
  3. "ปรากฏการณ์เฉลียง-ถมดิน". www.chaliang.com. สืบค้นเมื่อ 9 April 2017.
  4. Virasathienpornkul, Patra. "Saranyu "Tua" Wongkrajarng On Politics, Movie Flop and Today's Industry". BK Magazine Online (ภาษาอังกฤษ).
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "ศรัณยู วงษ์กระจ่าง พระเอกยอดนิยมของวงการบันเทิงยุค 80-90". ALWAYS ON MY MIND.
  6. "ตั้ว ย้อนรอยละครถา'ปัตย์". Manager Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-21. สืบค้นเมื่อ 2017-03-26.
  7. 7.0 7.1 7.2 "ปิดม่านโรงละครอักษรฯ จุฬาฯ เวทีแห่งความฝันในความทรงจำ". ผู้จัดการรายวัน.[ลิงก์เสีย]
  8. 8.0 8.1 ""ผมถอดแล้ว... คุณล่ะ ถอดหัวโขนออกหรือยัง?"". MGR Online. สืบค้นเมื่อ 15 April 2017.[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 ตั้ว.. ชีวิตไม่ใช่ละคร ..แต่ละครคือชีวิต, นิตยสารPunch, ปีที่ 1 ฉบับที่ 1, มิถุนายน 2527, หน้า34-37
  10. "พริกกะเกลือ : การเมืองแบนละคร?". คมชัดลึก.
  11. "ละครเรื่องระนาดเอก". MUE 101 Survey of Thai Music.
  12. "โลกของ "ไก่-วรายุฑ" โลกนี้คือละคร". Sakulthai.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-16. สืบค้นเมื่อ 2017-04-15.
  13. ชาติสุทธิชัย, ยุรชัฏ. "ชวนไปดูคนโขน หนังดีที่ต้องดู". MGR Online. สืบค้นเมื่อ 15 April 2017.[ลิงก์เสีย]
  14. "เหยื่ออธรรม-สู่ฝันอันยิ่งใหญ่". MGR Online. สืบค้นเมื่อ 15 April 2017.[ลิงก์เสีย]
  15. "THEATRE REVIEW The dream lives on". The Nation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-20. สืบค้นเมื่อ 2017-04-14.
  16. ""ดอนกีโฮเต้" สู่ฝันอันยิ่งใหญ่...จะไกลแค่ไหนไม่เคยสิ้นหวัง". ThaiOctober.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-01. สืบค้นเมื่อ 15 April 2017.
  17. "60 ปี ธนิตย์ จิตนุกูล กับ 4 หนังไทยระดับปรากฏการณ์ในอดีต". Bioscope magazine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-09. สืบค้นเมื่อ 10 April 2017.
  18. "ย้อนรอย.... ความคลาสสิค ทวิภพ (ทมยันตี)". Dek-D.com.
  19. 19.0 19.1 "ทวิภพ เวอร์ชัน 'ละคร'". Teenee Entertain.
  20. "มนต์รักลูกทุ่งเวอร์ชันเพลงละครทีวีที่ถูกถามหามากที่สุด". Oknation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-06. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
  21. "5 ละครเรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของช่อง 7". Sanook Movie!.
  22. "ลูกทุ่งไทย กลายพันธุ์ ตีตลาดอินเตอร์". ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์.[ลิงก์เสีย]
  23. "7 ละครไทย...ที่ผู้จัดคิดหนักที่สุด เมื่อรีเมคอีกครั้ง". Postjung.
  24. "" โทรทัศน์ทองคำ" กร่อย, "ใหม่ สุคนธวา" เต้า!ส่งให้เกิด". Superบันเทิง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-03-05. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
  25. ""ตั้ว-ศรัณยู" ตอบโจทย์ ลั่นไม่เสียใจร่วมสู้กับ พธม. แม้กระทบอาชีพ". ASTVผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-26. สืบค้นเมื่อ 2017-03-27.
  26. "5 อำมหิตพิศวาส: อำมหิตสมชื่อ ด้วยการแสดงและการกำกับที่น่าทึ่ง". Sanook Movie!.
  27. "Beneath the red roof : Director Sarunyoo Wongkrachang explores the blurry line between sanity and insanity in his musical theatre production Langkha Daeng". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 8 April 2017.
  28. "เปิดกล้องบวงสรวง หัวใจเถื่อน คู่พระนาง อ๋อม ขวัญ". trueid.[ลิงก์เสีย]
  29. "5 ค่ายละคร "บัลลังก์หงส์" ออกโรงแจง หลังดราม่า..ตัดตอนจบ!". Sanook News!.
  30. ""ศรัณยู-ซี-เกรซ-ฐิสา-กอล์ฟ-จิณณ์-เจด้า" ร่วมใจถ่ายทอด "จงรักภักดี"". MGR Online.[ลิงก์เสีย]
  31. "บวงสรวงบูรพกษัตราธิราชเจ้า "หม่อมน้อย"สร้าง"ศรีอโยธยา"". บ้านเมือง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-04-15. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
  32. 32.0 32.1 "คลื่นรบกวน 22/04/60". Thairath.co.th. สืบค้นเมื่อ 22 April 2017.
  33. "คมชัดลึก เม้าท์นอกจอ จันทร์ 24 เม.ย.60". www.komchadluek.net. สืบค้นเมื่อ 24 April 2017.
  34. 34.0 34.1 ""เฮียฮ้อ"ปลื้ม"ช่อง 8"เรตติ้งพุ่ง คว้า"ตั้ว"เสริมทัพละคร". Khaosod. สืบค้นเมื่อ 10 July 2017.[ลิงก์เสีย]
  35. "คุยกับ 'ตั้ว ศรัณยู' เรื่องงาน ในวันที่ 'เราไม่ใช่จุดขาย'". Matichon Online. สืบค้นเมื่อ 10 July 2017.
  36. 36.0 36.1 "GMM25 เปิดตัว Club Friday The Series 9 รักครั้งหนึ่ง..ที่ไม่ถึงตาย และ Club Friday Celebs Stories "พี่ฉอด-พี่เอส" ยกทัพดาราดังมารวมกันมากที่สุด". efm.fm. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-24. สืบค้นเมื่อ 23 June 2017.
  37. "ช็อก! วงการบันเทิง "ตั้ว ศรัณยู" เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับในวัย 59 ปี". เดลินิวส์. June 10, 2020. สืบค้นเมื่อ June 10, 2020.
  38. "นักแสดง ชุดที่ 3 แห่ง "ศรีอโยธยา"". ไทยรัฐฉบับพิมพ์.
  39. "ยิ่งใหญ่! 'หม่อมน้อย' นำทีม 'ศรีอโยธยา' บวงสรวง". Komchadluek.
  40. การแสดงละครเวทีจิ้งจอกลอกลาย ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Little Foxes ปี 1941 (ชื่อไทย : เรือนอาญารัก) รำลึก เบตตี เดวิส
  41. 41.0 41.1 41.2 "Dreambox Previous Works : Plays & Musicals". Dreamboxtheatrebkk.com.
  42. "ดรีมบ็อกซ์ ชวนชมละครเวที ทึนทึก 40 ปีผ่าน..คานเพิ่งขยับ". MThai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-27. สืบค้นเมื่อ 2017-04-14.
  43. "กู๊ด โชว์ เปิดตัวละครเวทีสุดอลังการแห่งปี "แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล"". MThai Gossipstar.
  44. "แม่น้ำของแผ่นดิน ปีที่ 3 ชุดมหาราชจอมราชัน". Sanook! Travel.
  45. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก (November 19, 2003). ""ตั้ว" นั่งแป็นพิธีกร "เอ็กซ์เกมฯ"". kapook.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2003-11-21. สืบค้นเมื่อ March 28, 2018.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  46. "ผู้กำกับมือทอง ตั้ว - ศรัณยู ดึงบทละครชิ้นเอก หลังคาแดง สร้างความท้าทายใหม่ในเวอร์ชันละครเวทีบำบัด สำหรับคนปกติ". ThaiTicketMajor. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-18. สืบค้นเมื่อ 22 April 2017.
  47. Issara. ""เพราะเราเข้าใจ" นิยามรัก ในแบบฉบับครอบครัววงษ์กระจ่าง". GOODLIFEupdate.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-21. สืบค้นเมื่อ 2017-03-30.
  48. ตั้ว-ศรัณยู วงศ์กระจ่าง เอนเตอร์เทนเนอร์กู้ชาติ
  49. 49.0 49.1 49.2 "หนึ่งเดียว" (2006). พิพิธภัณฑ์หนังไทย ฉบับ ประวัติการณ์ที่สุดหนังไทย (1 ed.). [กรุงเทพมหานคร]: สำนักพิมพ์ Popcorn. ISBN 974-94228-8-0. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-21. สืบค้นเมื่อ 2021-08-29.
  50. "รายชื่อผู้เข้าชิง "รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 16"". MThai.com.[ลิงก์เสีย]
  51. 51.0 51.1 51.2 "เปิดโผผู้เข้าชิงนาฏราช ครั้งที่ 5 ป๋อ - ณเดช กับ นุ่น - แต้ว เบียดชิงนำชายหญิง". trueid.[ลิงก์เสีย]
  52. 52.0 52.1 "เปิดโผ 5 อันดับเข้าชิง 'ละครโทรทัศน์' มาวัดกันใครคว้ารางวัล". คมชัดลึก.
  53. "รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล นาฏราช ครั้งที่ 7 ประจำปี 2558". PPTVThailand.com.
  54. ""ขวัญ อุษามณี"จูงมือ"ตั้ว ศรัณยู"เหมาสองรางวัล "EFM Awards"". โพสต์ทูเดย์.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • MAN OF ‘มัฆวานรังสรรค์’ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง : สู่ฝันอันสูงสุด, นิตยสาร Mars, พฤศจิกายน 2551