วิลเลียม เบเวอริดจ์

วิลเลียม เฮนรี เบเวอริดจ์, บารอนเบเวอริดจ์ที่ 1 (อังกฤษ: William Henry Beveridge, 1st Baron Beveridge) เป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวางแผนสังคมชาวอังกฤษเชื้อสายสกอต เป็นผู้มีบทบาทในการวางรากฐานระบบประกันสังคมให้แก่รัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้รับการยอมรับนับถือเป็นผู้สร้างรัฐสวัสดิการในสหราชอาณาจักร

ท่านลอร์ดเบเวอริดจ์
เบเวอริดจ์ในช่วงวัยรุ่น
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 มีนาคม ค.ศ. 1879(1879-03-05)
เขตปกครองเบงกอล บริติชราช
เสียชีวิต16 มีนาคม ค.ศ. 1963(1963-03-16) (84 ปี)
ออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
พรรคการเมืองลิเบอรัล
คู่สมรสJessy Janet Philip (1942–59)
อาชีพนักเศรษฐศาสตร์, นักการเมือง

ประวัติและผลงาน แก้

เบเวอริดจ์เกิดที่เมืองรัมปุระ เขตปกครองแบงกอล ในบริติชราช (ปัจจุบันอยู่ในประเทศบังกลาเทศ) บิดาเป็นผู้พิพากษาประจำอินเดีย แต่ลอร์ดเบเวอริดจ์เติบโตและได้รับการศึกษาในประเทศอังกฤษโดยตลอด เขาสำเร็จการศึกษาสาขาคณิตศาสตร์และวิชาคลาสสิกจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในปีค.ศ. 1902

หลังจบการศึกษา เขาเริ่มทำงานเป็นนักกฎหมาย และเริ่มมีความสนใจระบบบริการสังคม เขาเริ่มเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Morning Post เกี่ยวกับสาเหตุของภาวะว่างงานในปีค.ศ. 1903 ซึ่งนั่นทำให้เขาได้รับตำแหน่งรองผู้ดูแลโถงทอยบี (Toynbee Hall) อันเป็นสถานที่ในละแวกของชนชั้นแรงงานและคนยากจนที่เหล่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งใช้ทำงานและรับฟังปัญหาในการดำรงชีพ

ในปีค.ศ. 1909 บรรดาบทความที่เขาเขียนลงหนังสือพิมพ์ Morning Post ถูกรวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ชื่อว่า Unemployment : A Problem of Industry (การว่างงาน : ปัญหาของอุตสาหกรรม) ถือเป็นงานเขียนทางสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงฉบับแรกของเขา เขาเสนอว่าปัญหาการว่างงานหรือคนไม่มีงานทำนั้น สามารถแก้ไขได้โดยจัดระบบอุตสากรรมเสียใหม่ เขายังสนับสนุนให้รัฐเข้าไปแทรกแซงบางประการต่ออุตสาหกรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมไม่ให้สังคมอ่อนแอลง

ความปราดเปรื่องของเบเวอริดจ์เป็นที่ต้องตาของนางเบียทริช เวบบ์ (Beatrice Webb) นักสังคมนิยมชื่อดัง นางเสนอให้วินสตัน เชอร์ชิล รัฐมนตรีพาณิชย์ในขณะนั้น ให้โอกาสเบเวอริดจ์แสดงความสามารถ ทำให้ในปีค.ศ. 1909 เบเวอริดจ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักจัดหางานคนแรก ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงค.ศ. 1916 ในช่วงเวลาดำรงตำแหน่งนี้เอง เขามีส่วนช่วยร่างพระราชบัญญัติจัดหางาน ค.ศ. 1909 และพระราชบัญญัติประกันสังคมแห่งชาติ ค.ศ. 1911 สำนักจัดหางานของเบเวอริดจ์สามารถจัดแจงคนเข้าทำงานได้มากกว่าหนึ่งล้านอัตราต่อปีภายหลังก่อตั้งเพียงสี่ปี

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เกิดภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคบางประเภท เบเวอริดจ์เป็นผู้คิดระบบปันส่วนอาหารและสินค้า โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ชา และน้ำตาล ซึ่งมีราคาในตลาดสูงขึ้นเป็นเท่าตัวก่อนสงคราม ภาพประชาชนรอซื้อสินค้ายาวเหยียดเป็นภาพปกติในเวลานั้น ในที่สุดรัฐบาลก็เริ่มดำเนินการปันส่วนสินค้าตามข้อเสนอของเขาในต้นปีค.ศ. 1918 ซึ่งก็ดำเนินไปอย่างราบรื่นดี

แหล่งข้อมูลอื่น แก้