วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ หมายถึง อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา เป็นธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาอ่อนๆ (ตรุณวิปัสสนา) สภาพน่าชื่นชมแต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางไม่ให้ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ อย่าง คือ

  • โอภาส หมายถึง แสงสว่าง(ที่ปรากฏเป็นธรรมารมณ์ในใจ)
  • ญาณ หมายถึง ความหยั่งรู้
  • ปีติ หมายถึง ความอิ่มใจ
  • ปัสสัทธิ หมายถึง ความสงบเย็น
  • สุข หมายถึง ความสุขสบายใจ
  • อธิโมกข์ หมายถึง ความน้อมใจเชื่อ ศรัทธาแก่กล้า ความปลงใจ
  • ปัคคาหะ หมายถึง ความเพียรที่พอดี
  • อุปัฏฐาน หมายถึง สติแก่กล้า สติชัด
  • อุเบกขา หมายถึง ความมีจิตเป็นกลาง
  • นิกันติ หมายถึง ความพอใจ ติดใจ

เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนาสามารถยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลาย ขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ที่ละอย่างๆ จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เกิดเป็นวิปัสสนาญาณอ่อนๆ (หรือตรุณวิปัสสนา เช่น ในช่วงอุทยัพพยานุปัสสนาญาณ) ในช่วงนี้ก็จะเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้นมา

วิปัสสนูปกิเลสทั้งสิบนี้ เป็นภาวะที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และไม่เคยเกิดมี ไม่เคยประสบมาก่อน จึงชวนให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิด คิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว หรือหลงยึดเอาคิดว่าวิปัสสนูปกิเลสนั้นเป็นทางที่ถูก ถ้าหลงไปตามนั้นก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอันปฏิบัติผิดไป คือพลาดทางวิปัสสนา แล้วก็จะทิ้งกรรมฐานเดิมเสีย นั่งชื่นชมอุปกิเลสของวิปัสสนาอยู่นั่นเอง

แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก้ไขได้ ก็จะกำหนดได้ว่าวิปัสสนูปกิเลสนั้นไม่ใช่ทาง รู้เท่าทัน เมื่อมันเกิดขึ้น ก็กำหนดพิจารณาด้วยปัญญาว่า โอภาสนี้ ญาณนี้ ฯลฯ หรือนิกันตินี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่มันเป็นของไม่เที่ยง เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง จะต้องเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทาง ซึ่งจะพึงเดินต่อไป

ผู้ที่ไม่เกิดวิปัสสนูปกิเลส แก้

วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดขึ้นแก่

  • พระอริยสาวก ผู้บรรลุปฏิเวธแล้ว
  • ผู้ปฏิบัติผิด (เริ่มต้นมาแต่ศีลวิบัติ)
  • ผู้ละทิ้งกรรมฐาน
  • บุคคลเกียจคร้าน (แม้ปฏิบัติถูกมาแต่เริ่มต้น)

แต่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติโดยชอบ ประกอบความเพียร ผู้เริ่มต้นบำเพ็ญวิปัสสนาแล้ว เท่านั้น

ความยึดถือวิปัสสนูปกิเลส แก้

อุปกิเลสแห่งวิปัสสนานี้มี ๑๐ อย่าง แต่ละอย่างมีความยึดถือได้อย่างละ ๓ แบบ (รวมเป็น ๓๐) ได้แก่

  • ทิฏฐิคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยทิฏฐิ เช่น ยึดถืออยู่ว่า "โอภาสเกิดขึ้นแก่เราแล้ว"
  • มานคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยมานะ เช่น ยึดถืออยู่ว่า "โอภาสน่าพึงพอใจจริงหนอ เกิดขึ้นแล้ว"
  • ตัณหาคาหะ หมายถึง ยึดถือด้วยตัณหา เช่น ชื่นชมโอภาสอยู่

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้