วิทยาการระบาด (อังกฤษ: epidemiology) เป็นการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชากร และเป็นพื้นฐานและตรรกะที่ทำให้เกิดแนวคิดความสนใจในสาธารณสุขและเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาวิชานี้วิธีที่สำคัญพื้นฐานของงานวิจัยด้านสาธารณสุข และเกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์อิงหลักฐาน (evidence-based medicine) ในการหาปัจจัยเสี่ยงของโรคและประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

งานของนักวิทยาการระบาดที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ มีขอบเขตตั้งแต่การสืบค้นการระบาดของโรค (outbreak investigation) ไปจนถึงการออกแบบการศึกษา การเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์ รวมทั้งการพัฒนาแบบจำลองทางสถิติเพื่อทดสอบสมมติฐานและการเตรียมผลการวิจัยเพื่อเสนอผลการวิจัย นักวิทยาการระบาดอาจอาศัยระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์หลายอย่างเช่นชีววิทยาในการทำความเข้าใจการดำเนินโรค และระเบียบวิธีทางสังคมศาสตร์ เช่นสังคมศาสตร์และปรัชญาเพื่อช่วยในการทำความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงใกล้เคียงและไกล

นิรุกติศาสตร์ แก้

วิทยาการระบาดมาจากภาษาอังกฤษว่า "Epidemiology" ซึ่งแปลตามตัวแปลว่า การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดบนประชากร มาจากรากศัพท์ภาษากรีกว่า epi = บน, ระหว่าง; demos = ประชาชน, เขต; logos = การศึกษา, คำ, การบรรยาย ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเป็นการประยุกต์เฉพาะกับประชากรมนุษย์ แต่วิชานี้สามารถใช้ในการศึกษาในประชากรสัตว์ (เรียกว่า วิทยาการระบาดทางสัตวแพทย์ (veterinary epidemiology หรือ epizoology)) และยังประยุกต์ใช้ในการศึกษาประชากรพืช (เรียกว่า วิทยาการระบาดทางพฤกษศาสตร์ (botanical epidemiology)) [1]

ประวัติ แก้

ในบางครั้งอาจกล่าวได้ว่าแพทย์ชาวกรีกนาม ฮิปโปเครติส (Hippocrates) เป็นบิดาของวิชาวิทยาการระบาด เขาเป็นคนแรกที่พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดโรคและอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เขาเป็นคนแรกที่คิดคำว่า โรคเฉพาะถิ่น (endemic) สำหรับโรคที่โดยทั่วไปแล้วพบได้ในบางที่แต่ไม่พบในถิ่นอื่นๆ และ โรคระบาด (epidemic) สำหรับโรคที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่งแต่ไม่พบในเวลาทั่วไป[2]

ทฤษฎีแรกๆ ทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวถึงกำเนิดของโรค คือเชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดของความสุขหรือความสบายของมนุษย์ ข้อความข้างต้นนี้กล่าวโดยนักปรัชญา เช่น เพลโต[3] และรุสโซ[4] และโดยนักวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่าง โจนาธาน สวิฟท์ (Jonathan Swift) [5]

ในยุคกลางของโลกอิสลาม แพทย์ได้ค้นพบการแพร่กระจายของโรคติดต่อ แพทย์ชาวเปอร์เซียชื่อว่า อวิเซนนา (Avicenna) ผู้ซึ่งนับเป็น "บิดาของการแพทย์แผนใหม่"[6] กล่าวถึงในหนังสือ The Canon of Medicine (ราวทศวรรษที่ 1020) ว่าได้พบการติดต่อกันได้ของวัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการกระจายของโรคผ่านทางน้ำและดิน[7] อวิเซนนายังกล่าวด้วยว่าสารคัดหลั่งจากร่างกายนั้นปนเปื้อนด้วยเชื้อที่เขาเรียกว่า foul foreign earthly bodies ที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ[8] เขาได้เสนอวิธีการกักกัน (quarantine) เพื่อจำกัดการแพร่โรคติดต่อ และเขายังใช้วิธีการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง และเสนอแนวคิดของกลุ่มอาการในการวินิจฉัยโรคเฉพาะ[9]

ในระหว่างกาฬโรคระบาดในยุโรป เมื่อกาฬโรคระบาดมาจนถึงอัล-อันดาลัส (Al Andalus) ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 อิบน์ คะติมะ (Ibn Khatima) ได้ตั้งสมมติฐานว่าโรคติดต่อน่าจะเกิดจากสารเล็กๆ ซึ่งเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และทำให้เกิดโรค แพทย์ชาวอันดาลัส-อาหรับอีกคนหนึ่งชื่อว่า อิบน์ อัล-คะติบ (ค.ศ. 1313-ค.ศ. 1374) ได้เขียนบทความชื่อว่า On the Plague ซึ่งมีเนื้อความอธิบายวิธีที่โรคติดต่อสามารถติดต่อระหว่างคนผ่านการสัมผัส และ "ผ่านทางเสื้อผ้า, ภาชนะ, และต่างหู"[10]

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 แพทย์ที่มีชื่อเสียงชาวฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ชื่อว่า จีโรลาโม ฟราคัสโตโร (Girolamo Fracastoro) เป็นคนแรกที่เสนอทฤษฎีกล่าวว่าอนุภาคขนาดเล็กที่มองไม่เห็นซึ่งก่อให้เกิดโรคนั้นเป็นอนุภาคที่มีชีวิต อนุภาคเหล่านี้เชื่อว่าสามารถกระจายได้ในอากาศ แบ่งตัวเพิ่ม และถูกทำลายได้ด้วยไฟ ข้อความดังกล่าวเป็นการปฏิเสธทฤษฎีของกาเลนที่กล่าวว่าคนเราเจ็บป่วยเพราะมีแก๊สพิษอยู่ในร่างกาย ใน ค.ศ. 1543 เขาได้แต่งตำรา De contagione et contagiosis morbis ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รณรงค์การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรค การพัฒนากล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงของ อันโทนี ฟาน ลิวเวนเฮิค (Antonie van Leeuwenhoek) ในปี ค.ศ. 1675 ช่วยสนับสนุนหลักฐานของอนุภาคเล็กๆ ที่มีชีวิตกับทฤษฎีเชื้อก่อโรค (germ theory of disease)

 
แผนที่ดั้งเดิมของ ดร. จอห์น สโนว์ แสดงกลุ่มของผู้ป่วยอหิวาตกโรคในช่วงอหิวาตกโรคระบาดในลอนดอน เมื่อ ค.ศ. 1854

จอห์น กรอนท์ (John Graunt) คนขายเสื้อผ้าและนักวิทยาศาสตร์สมัครเล่นได้ตีพิมพ์บทความ Natural and Political Observations ... upon the Bills of Mortality (การสังเกตเชิงธรรมชาติและเชิงการเมือง ... ต่อร่างกฎหมายการเสียชีวิต) ในปี ค.ศ. 1662 ซึ่งเขาได้วิเคราะห์จำนวนการเสียชีวิตในลอนดอนก่อนการเกิดกาฬโรคระบาดในลอนดอน เพื่อแสดงเป็นตารางชีพ (life tables) ซึ่งนับเป็นตารางแรกๆ ของโลก และได้รายงานแนวโน้มเวลาของโรคหลายโรคทั้งเก่าและใหม่ เขายังได้แสดงหลักฐานทางสถิติสำหรับทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับโรค และปฏิเสธแนวความคิดต่างๆ เกี่ยวกับการกระจายของโรค

จอห์น สโนว์ (John Snow) แพทย์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงจากการควบคุมการระบาดของอหิวาตกโรคในเขตโซโฮของลอนดอนใน ค.ศ. 1854 ได้ระบุสาเหตุของการเกิดการระบาดของโรคว่ามาจากเครื่องสูบน้ำสาธารณะบนถนนบรอด (Broad Street) และได้จัดการป้องกันการระบาดจนหมดไป เหตุการณ์ดังกล่าวถือกันว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติการสาธารณสุข และถือเป็นการถือกำเนิดของศาสตร์ของวิทยาการระบาด

ผู้บุกเบิกทางวิทยาการระบาดคนสำคัญคนหนึ่งคือ พี. เอ. ชไลส์เนอร์ (P. A. Schleisner) แพทย์ชาวเดนมาร์ก ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการป้องกันการระบาดของบาดทะยักในเด็กแรกเกิด (tetanus neonatorum) บนเกาะเวสท์แมนนา (Vestmanna Islands) ประเทศไอซ์แลนด์ในปี ค.ศ. 1849 และยังมีแพทย์ชาวฮังการีชื่อว่า อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignaz Semmelweis) ซึ่งลดจำนวนการตายของทารกในโรงพยาบาลเวียนนาในปี ค.ศ. 1847 โดยการเริ่มทำกระบวนการฆ่าเชื้อ การค้นพบของเขาได้ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1850 แต่งานของเขาก็ถูกละเลยในเวลาต่อมา เพราะไม่มีการใช้กระบวนการฆ่าเชื้ออย่างแพร่หลายจนกระทั่งศัลยแพทย์ชาวอังกฤษ โจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) ค้นพบสารระงับเชื้อในปี ค.ศ. 1865 ซึ่งต่อยอดมาจากการศึกษาของหลุยส์ ปาสเตอร์

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้มีการนำกระบวนการทางคณิตศาสตร์เข้ามาใช้ในวิชาวิทยาการระบาดโดยโรนัลด์ รอสส์ (Ronald Ross), แอนเดอร์สัน เกรย์ แม็คเคนดริค (Anderson Gray McKendrick) และคนอื่นๆ

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1954 เป็นการตีพิมพ์การศึกษาของแพทย์ชาวอังกฤษ โดยริชาร์ด ดอลล์ (Richard Doll) และออสติน แบรดฟอร์ด ฮิลล์ (Austin Bradford Hill) ซึ่งค้นพบความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งของการสูบบุหรี่และการเกิดมะเร็งปอด

วิธีปฏิบัติทางวิทยาการระบาด แก้

นักวิทยาการระบาดทำงานเกี่ยวข้องกับการออกแบบการศึกษาทั้งจากการเฝ้าสังเกตไปจนถึงการทดลอง ซึ่งแบ่งออกเป็นการศึกษาวิทยาการระบาดเชิงพรรณนา, วิทยาการระบาดเชิงวิเคราะห์ (จุดประสงค์เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ศึกษาแล้วหรือจากสมมติฐาน), และวิทยาการระบาดเชิงทดลอง (ซึ่งเทียบเท่ากับการทดลองในเชิงคลินิก หรือการทดลองรักษาหรือปัจจัยแทรกแซงในชุมชน) การศึกษาทางวิทยาการระบาดมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มสุราและสูบบุหรี่, เชื้อโรค, ความเครียด, หรือสารเคมี กับการป่วยหรือการตายโดยปราศจากอคติ การระบุความสัมพันธ์อย่างเป็นเหตุและผลกันระหว่างการสัมผัสปัจจัยเสี่ยงและผลลัพธ์เป็นแง่มุมสำคัญของวิชาวิทยาการระบาด

ในทางวิทยาการระบาดจะมีคำว่า 'epidemiologic triad' ซึ่งใช้อธิบายความเกี่ยวเนื่องกันของ ตัวให้อาศัย (Host), ตัวกระทำ (Agent), และ สิ่งแวดล้อม (Environment) ในการวิเคราะห์การระบาด

การอนุมานเกี่ยวกับสาเหตุ แก้

แม้ว่าวิชาวิทยาการระบาดในบางครั้งจะเป็นเหมือนกลุ่มของเครื่องมือทางสถิติเพื่อช่วยในการหาความสัมพันธ์ของปัจจัยเสี่ยงและผลลัพธ์ทางสุขภาพ แต่การจะทำความเข้าใจให้ลึกลงไปในศาสตร์แขนงนี้คือการค้นหาความสัมพันธ์เกี่ยวกับสาเหตุ (causal relationships)

แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำนายอย่างถูกต้องแม่นยำว่าระบบทางกายภาพที่ง่ายที่สุดจะแสดงอย่างไรในอนาคตข้างหน้า เช่นกันกับสาขาวิชาที่ซับซ้อนอย่างวิทยาการระบาด ซึ่งต้องอาศัยชีววิทยา, สังคมศาสตร์, คณิตศาสตร์, สถิติศาสตร์, มานุษยวิทยา, จิตวิทยา และนโยบาย จึงมีคำกล่าวโดยทั่วไปในงานเขียนเชิงวิทยาการระบาดว่า "ความสัมพันธ์กันไม่ได้บอกเป็นนัยถึงความเป็นเหตุผลกัน" สำหรับนักวิทยาการระบาดจะใช้ศัพท์ว่า การอนุมาน (inference) นักวิทยาการระบาดจะรวบรวมข้อมูลและทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับชีวเวชศาสตร์และจิตสังคมในวิธีทำซ้ำเพื่อสร้างหรือขยายความทฤษฎี, เพื่อทดสอบสมมติฐาน, และเพื่อการศึกษา เพื่อยืนยันว่าความสัมพันธ์ใดที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร นักวิทยาการระบาด รอธแมนและกรีนแลนด์ (Rothman and Greenland) ได้ให้ความสำคัญว่า ความเข้าใจที่ว่า "1 สาเหตุ - 1 ผล" นั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นการป่วยหรือการตายนั้นมีสาเหตุมาจากสาเหตุย่อยๆ หลายอย่างประกอบกันเป็นห่วงโซ่หรือโครงข่าย

อ้างอิง และเชิงอรรถ แก้

  1. Nutter, Jr., F.W. (1999). "Understanding the interrelationships between botanical, human, and veterinary epidemiology: the Ys and Rs of it all". Ecosys Health. 5 (3): 131–40. doi:10.1046/j.1526-0992.1999.09922.x.
  2. "Changing Concepts: Background to Epidemiology" (PDF). Duncan & Associates. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-25. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  3. "The Republic, by Plato". The Internet Classic Archive. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  4. "A Dissertation on the Origin and Foundation of the Inequality of Mankind". Constitution Society.
  5. Swift, Jonathan. "Gulliver's Travels: Part IV. A Voyage to the Country of the Houyhnhnms". สืบค้นเมื่อ 2008-02-03.
  6. Cesk, Cas Lek (1980). "The father of medicine, Avicenna, in our science and culture: Abu Ali ibn Sina (980-1037)". Becka J. (ภาษาเช็ก). 119 (1): 17–23.
  7. George Sarton, Introduction to the History of Science.
    (cf. Dr. A. Zahoor and Dr. Z. Haq (1997) , Quotations From Famous Historians of Science, Cyberistan.
  8. Tschanz, David W. (August 2003). "Arab Roots of European Medicine". Heart Views. Qatar: The Gulf Heart Association. 4 (2). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-03. สืบค้นเมื่อ 2008-05-25.
  9. Goodman, Lenn Evan (2003). Islamic Humanism. Oxford University Press. p. 155. ISBN 0195135806.
  10. Ibrahim B. Syed, Ph.D. (2002). "Islamic Medicine: 1000 years ahead of its times", Journal of the Islamic Medical Association 2, p. 2-9.

ที่มาของข้อมูล แก้

  • Clayton, David and Michael Hills (1993) Statistical Models in Epidemiology Oxford University Press. ISBN 0-19-852221-5
A thorough introduction to the statistical analysis of epidemiological data, focussing on survival rates - their estimation, analysis and comparison.
  • Last JM (2001). "A dictionary of epidemiology", 4th edn, Oxford: Oxford University Press.
  • Morabia, Alfredo. ed. (2004) A History of Epidemiologic Methods and Concepts. Basel, Birkhauser Verlag. Part I.
  • Smetanin P., Kobak P., Moyer C., Maley O (2005) “The Risk Management of Tobacco Control Research Policy Programs” The World Conference on Tobacco OR Health Conference, July 12-15, 2006 in Washington DC.
  • Szklo MM & Nieto FJ (2002). "Epidemiology: beyond the basics", Aspen Publishers, Inc.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้