"วิชาแพะ" เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 11 ของวงคาราบาว ออกจำหน่ายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 ภายใต้สังกัดดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ วางจำหน่ายทั้งรูปแบบแผ่นเสียง, แผ่นซีดี และ เทปคาสเซตต์ โดยมีสมาชิกของวงเพียง 3 คน คือ ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย และ อนุพงษ์ ประถมปัทมะ

วิชาแพะ
สตูดิโออัลบั้มโดย
วางตลาดธันวาคม พ.ศ. 2534
บันทึกเสียงเซ็นเตอร์ สเตจ
แนวเพลงเพลงเพื่อชีวิต, เฮฟวี่เมทัล
ความยาว40.30
ค่ายเพลงดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (2534)
วอนเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2543)
โปรดิวเซอร์ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย
ลำดับอัลบั้มของคาราบาว
ห้ามจอดควาย
(2533)ห้ามจอดควาย2533
วิชาแพะ
(2534)
สัจจะ ๑๐ ประการ
(2535)สัจจะ ๑๐ ประการ2535
ปกอัลบั้มเวอร์ชันแรก

ประวัติ แก้

หลังจากคาราบาว ประสบความสำเร็จกับอัลบั้มห้ามจอดควายประกอบกับความโด่งดังของเพลง สัญญาหน้าฝน ที่เขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร เป็นผู้ขับร้อง ทำให้เขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวงตั้งแต่อยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ตัดสินใจแยกจากวงคาราบาวเพื่อทำอัลบั้มเดี่ยวของตนเอง

ในปี พ.ศ. 2533 สมาชิกหลักของคาราบาวได้แยกย้ายกันไปทำอัลบั้มเดี่ยวหลายคน โดยเทียรี่ เมฆวัฒนา และเขียว - กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ได้ออกอัลบั้มเดี่ยวของตนเป็นครั้งแรกโดยเทียรี่ ออกอัลบั้มชุด เจาะเวลา และเขียว ออกอัลบั้มชุดก่อกวน นอกจากนี้ แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ก็ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดโนพลอมแพลม รวมถึง เล็ก - ปรีชา ชนะภัย ที่ออกอัลบั้มเดี่ยวชุด 1945 นางาซากิ

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2534 คาราบาว ได้จัดคอนเสิร์ตคนคาราบาวขึ้นเพื่อประกาศถึงการแยกวงของสมาชิกยุคคลาสสิกอย่างเป็นทางการ ต่อมาในเดือนธันวาคม สมาชิกของคาราบาว 3 คน ประกอบไปด้วย แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล, เล็ก - ปรีชา ชนะภัย และ อ็อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ได้กลับมารวมตัวเพื่อทำผลงานเพลงร่วมกันอีกครั้ง จึงได้เกิดเป็นผลงานเพลงชุด วิชาแพะ ขึ้น

เนื่องจากสมาชิกหลักที่ทำงานชุดนี้เหลือเพียงแค่ 3 คน ทางคาราบาวจึงจำเป็นต้องหานักดนตรีอาชีพเข้ามาช่วยทำงานเพื่อให้สามารถบันทึกเสียงและออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกันได้ จึงได้ ดุก - ลือชัย งามสม ซึ่งเคยเล่นเป็นแบ็กอัพให้กับเล็ก - ปรีชา ชนะภัย ตอนออกอัลบั้มเดี่ยว มาเล่นคีย์บอร์ด และได้ โก้ - ชูชาติ หนูด้วง อดีตมือกลองของวงคาไลโดสโคป และเคยตีกลองให้กับ กิตติ กาญจนสถิตย์ หรือ กิตติ กีตาร์ปืน รวมถึงเคยออกอัลบั้มกับชัคกี้ ธัญญรัตน์และปู - อานนท์ สายแสงจันทร์ ในนามวง บลู พลาเน็ต นอกจากนี้ยังได้ น้อย - ธีระวิสาล จุลมกร ซึ่งเพิ่งมีผลงานเพลงชุดแรกในนาม น้อย ซานตานอย มาเล่นเครื่องเป่าในบางเพลงด้วย (โดยต่อมาดุก - ลือชัย งามสม และ โก้ ชูชาติ หนูด้วง ได้กลายมาเป็นสมาชิกใหม่ของวงในอัลบั้มชุดต่อมา)

แนวทางดนตรีในอัลบั้มชุดนี้มีความหลากหลาย มีความเป็นเพลงร็อกอยู่มาก จากพัฒนาการทางเพลงร็อคของเล็ก ปรีชา ชนะภัย และเนื้อหาของเพลงในอัลบั้มยังคงเกี่ยวข้องกับการเมืองและสังคม โดยมีเพลง วิชาแพะ เพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มเป็นเพลงโปรโมต โดยเพลงดังกล่าวพูดถึงแพะรับบาป และวางจำหน่ายในช่วงปลายของปีแพะ นอกจากนี้ยังมีเพลง นรกคอรัปชั่น ที่ได้รับความนิยมจนเกิดเป็นวลียอดนิยมในสังคมสมัยนั้นว่า "...โกหกนั้นตายตกนรก" เป็นเรื่องของนักการเมืองที่อ้างตนว่าพูดจริงทำจริงแต่สุดท้ายกลับเป็นเพียงเรื่องโกหก และนักการเมืองเหล่านั้นเมื่อตายไปต้องตกนรก เพลง "นรกคอรัปชั่น" นี้ โดยได้ ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ มาเล่นในมิวสิกวิดีโอนี้อีกด้วย เพลงนี้ใช้จังหวะดนตรีสไตล์เร้กเก้ มีเสียงสนทนาระหว่างสมาชิกในวงคั่นระหว่างเพลง

นอกจากนี้ยังมี เพลง นาย ก. เป็นการเรียกร้องผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพลง พ่อหลี ที่เป็นการร้องคู่กันของแอ๊ดและเล็ก กล่าวถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมแห่งความฟุ่มเฟือย ใช้ดนตรีสามช่าพร้อมเสียงเครื่องเป่า [1],เพลง บิ๊กสุ ที่ทำในจังหวะร็อกแอนด์โรล ซึ่งชื่อเพลงมาจากการเสียดสี พล.อ.สุจินดา คราประยูร บุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงในทางการเมืองขณะนั้น คาราบาวจึงใช้ชื่อนี้มาแต่งเพลงให้มีเนื้อหาสดุดีสองขุนพลเพลงไทย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แอ๊ด - ยืนยง โอภากุล ยืนอยู่บนเส้นทางดนตรี คือ ครูสุรพล สมบัติเจริญ และ สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน เพลง ลุงหริ ซึ่งเป็นเพลงที่ 3 ที่อ๊อด - อนุพงษ์ ประถมปัทมะ ทำหน้าที่ร้องนำในวง ต่อจาก กระถางดอกไม้ให้คุณ และ ปอดแหก

การผลิต แก้

วิชาแพะ เป็นอัลบั้มภาคปกติชุดแรกของวงที่ออกภายใต้สังกัด ดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยมีโค้กเป็นผู้สนับสนุน ( ปัจจุบันลิขสิทธิ์เป็นของ วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์) และเป็นชุดที่ใช้ปกมากถึง 3 แบบ โดยครั้งแรกผลิตเป็นแผ่นเสียงพร้อมเทปคาสเซตต์ โดยเวอร์ชันแผ่นเสียงเป็นภาพของสมาชิกทั้ง 3 คน และลงชื่อศิลปินบนปกว่า ยืนยง โอภากุล, ปรีชา ชนะภัย, นุพงษ์ ประถมปัทมะ โดยที่ไม่มีคำว่าคาราบาว ส่วนเวอร์ชัน เทปคาสเซตต์ เป็นภาพเดียวกับแผ่นเสียงและลงชื่อศิลปินบนปกว่า ยืนยง, ปรีชา, นุพงษ์ และญาติ โดยไม่มีคำว่าคาราบาว อีกเช่นกัน ต่อมาได้มีการผลิตเป็นแผ่นซีดี โดยภาพปกซีดี เป็นภาพของสมาชิกทั้ง 3 แต่เป็นคนละภาพกับปกแผ่นเสียงและเทปคาสเซตต์

ในเทปคาสเซตต์ ที่ผลิตครั้งแรกได้มีการลงสโลแกนโฆษณาของ โค้ก ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักบนปกว่า โกหกนั้นตายตกนรก ดื่มโค้กดีกว่าขึ้นสวรรค์ ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสโลแกนที่ไม่เหมาะสม เพราะถือเป็นการทำร้ายอดีตและอนาคตของสังคมโดยตรง และไม่คำนึงถึงผู้ฟังที่ศรัทธาต่อศิลปิน

ต่อมามีการเปลี่ยนปกเทปคาสเซตต์ใหม่เป็นอีกรูปหนึ่ง จึงได้ตัดสโสแกนนั้นออกและกลับมาใช้ชื่อศิลปินบนปกว่า คาราบาว พร้อมสัญลักษณ์รูปหัวควายของวง เพื่อเป็นการยืนหยัดรับใช้เสียงเพลงต่อไปภายใต้ชื่อวงเดิม[2]

อัลบั้มได้รับความนิยมจากผู้ฟังเป็นอย่างสูง ภายหลังถูกนำมาปรับปรุงคุณภาพเสียงจากระบบอนาล็อก เป็นดิจิตอล และจัดจำหน่ายอีกครั้งโดยวอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ ซึ่งเปลี่ยนมาจากต้นสังกัดเดิมในปี พ.ศ. 2543 โดยการนำอัลบั้มชุดนี้กลับมาจัดจำหน่ายของวอร์นเนอร์ มิวสิก ใช้ปกแบบเดียวกับปกเทปคาสเซตต์ เวอร์ชันสุดท้ายของดี-เดย์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ผลิตเป็นรูปเดียวกันทั้งแผ่นซีดีและเทปคาสเซตต์

รายชื่อเพลง แก้

ลำดับชื่อเพลงยาว
1."วิชาแพะ"4.06
2."นาย ก."5.08
3."นรกคอรัปชั่น"4.32
4."ดงพญาใจเย็น"2.50
5."หนาวมั๊ยปู่ ?"3.36
6."พ่อหลี"4.17
7."เล็กเคียวร็อกอะโลน"4.18
8."ลุงหริ"3.05
9."บิ๊กสุ"4.23
10."หัวใจรำวง"4.15
ความยาวทั้งหมด:40:30

มิวสิควีดีโอ แก้

  1. นรกคอรัปชั่น
  2. หัวใจรำวง
  3. พ่อหลี
  4. นายกอ
  5. บิ๊กสุ

ผู้ร่วมงาน แก้

สมาชิกในวง แก้

  1. ยืนยง โอภากุล - ร้องนำ, กีต้าร์
  2. ปรีชา ชนะภัย - กีต้าร์ (ร้องเพลง หนาวมั้ยปู่?, พ่อหลี)
  3. อนุพงษ์ ประถมปัทมะ - กีต้าร์เบส (ร้องเพลง ลุงหริ)

นักดนตรีแบ็คอัพ แก้

  1. ลือชัย งามสม (ดุก) - คีย์บอร์ด, ทรัมเป็ต
  2. ชูชาติ หนูด้วง (โก้) - กลองชุด
  3. กิตติ กาญจนสถิตย์ - กีตาร์ไฟฟ้า
  4. ธีระวิสาล จุลมกร (น้อย) - แซกโซโฟน, เมาท์ออร์แกน

งานในชุดนี้ ฉันและเพื่อนๆ ทุกคนมีความสนุกและมันส์ในอารมณ์

การจัดจำหน่าย แก้

ปี ค่าย รูปแบบ
พ.ศ. 2535 ดี - เดย์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ แผ่นเสียง
เทปคาสเซตต์
แผ่นซีดี
พ.ศ. 2554 วอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ แผ่นซีดี (ปกครบรอบ 30 ปี คาราบาว)
พ.ศ. 2556 แผ่นซีดี (Remaster)


ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-28. สืบค้นเมื่อ 2009-12-21.
  2. ทิวา สารจูฑะ กล่าวในบทวิจารณ์ นิตยสาร "สีสัน" ปีที่ 4 ฉบับที่ 10 ธันวาคม 2534 : หน้า 76-77