วัดไร่เกาะต้นสำโรง

วัดในจังหวัดนครปฐม

วัดไร่เกาะต้นสำโรง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม วัดเป็นเกาะเนื้อที่ 14 ไร่ มีลำห้วยและคลองล้อมรอบคลองต้นสำโรงเป็นลำครองธรรมชาติที่เชื่อมต่อกับคลองเจดีย์บูชาได้และเดิมมีต้นสำโรงใหญ่อยู่มาก ปัจจุบันมีเหลืออยู่ 1 ต้นเท่านั้น[1]

วัดไร่เกาะต้นสำโรง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไร่เกาะต้นสำโรง, วัดเกาะปทุม, วัดไน่เกาะ
ที่ตั้งตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดไร่เกาะต้นสำโรง เดิมชื่อ วัดเกาะปทุม เพราะที่ตั้งวัดมีคลองล้อมรอบเป็นเกาะและมีดอกบัวขึ้นตามคลองมากมาย ชาวบ้านแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ทำไร่ ทำสวน ปลูกต้นคราม ชาวจีนพวกนี้เรียกวัดเกาะปทุมว่า วัดไน่เกาะ หมายถึงเกาะแห่งดอกบัว เพราะคำว่า "ไน่" ในภาษาจีนแปลว่า ดอกบัว บวกกับคำว่าเกาะ จึงกลายเป็น วัดไน่เกาะ ซึ่งเป็นสำเนียงการพูดของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ต่อมาคลองเริ่มตื้นเขินทำให้ดอกบัวลดน้อยลง แต่กลับมีต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งเป็นจำนวนมาก คือ ต้นสำโรง และมีอยู่ต้นหนึ่งมีขนาดใหญ่มาก แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ชาวบ้านเชื่อว่า มีรุกขเทวดาสถิตย์อยู่ จึงตั้งศาลให้ ประกอบกับพื้นที่โดยรอบทำไร่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ชื่อของวัด เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดไร่เกาะต้นสำโรง"

จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส เป็นวัดทีมีมาตั้งแต่ช่วงการปฏิสังขรณ์ใหญ่องค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีการขุดคลองเจดีย์บูชาตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ ไปจนถึงมณฑลนครชัยศรี โดยขุนนางทหารได้แวะพักบริเวณวัดนี้ และสร้างศาลาพักร้อนขึ้น ต่อมามีคณะสงฆ์คณะหนึ่ง เดินธุดงค์ผ่านมาทางนี้ จึงได้หยุดพัก และเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการบำเพ็ญศีลภาวนา เมื่อชาวบ้านรู้ว่ามีพระมาอาศัยอยู่ ต่างก็มาทำบุญกันเรื่อย ๆ และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้น มีศาลาหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่ง และมีกุฎิอีกสองสามหลัง และในปี พ.ศ. 2502 ได้สร้างสุสานไว้ทางทิศเหนือของวัด เพื่อเป็นที่เก็บกระดูกของชาวจีนที่ไร้ญาติ ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 ทางวัดได้จัดงานทำพิธีล้างป่าช้าขึ้น ได้เงินบริจาคจำนวนหนึ่ง จึงนำมาสร้างอุโบสถหลังใหม่ ในปี พ.ศ. 2538 ได้จัดให้มีงานปิดทองฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา อุโบสถหลังใหม่ และได้ใช้อุโบสถหลังนี้ในการประกอบศาสนกิจมาจนถึงปัจจุบัน[2] วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2514[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • หลวงพ่อแสง ประมาณ พ.ศ. 2430
  • หลวงพ่อเอม
  • พระวินัยธร จันทร์ ประมาณ พ.ศ. 2440–2483
  • พระอธิการสายหยุด พ.ศ. 2483–2496
  • พระอธิการพร้อม พ.ศ. 2496–2500
  • พระอธิการสุทธิสุนทร (แฉล้ม กลฺยาโณ) พ.ศ. 2500–2501
  • พระครูสังฆรักษวิชิต พ.ศ. 2501–2515
  • พระครูวิจิตรนันทคุณ (อิด อานนฺโท) พ.ศ. 2515–2527
  • พระอธิการปราโมทย์ ฐานทินฺโน พ.ศ. 2528–2531
  • พระครูสุวรรณเมธาภรณ์ (ทอง ติกฺขเวโท) พ.ศ. 2536

อ้างอิง แก้

  1. "วัดไร่เกาะต้นสำโรง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดไน่เกาะ vs วัดไร่เกาะต้นสำโรง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-28. สืบค้นเมื่อ 2021-06-28.
  3. "วัดไร่เกาะต้นสำโรง". พระสังฆาธิการ.