วัดไก่จ้น

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดไก่จ้น ถิ่นกำเนิด สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)1 [1] ตั้งอยู่ เลขที่ 1 บ้านไก่จ้น หมู่ 10 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา[2] วัดตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแควป่าสัก ทิศใต้ยาว 150 เมตร ติดต่อกับทางสาธารณะและที่ดินของเอกชน[3] อาณาเขตทิศเหนือยาว 110 เมตร ติดต่อกับชลประทานท่าหลวงและแม่น้ำแควป่าสัก ทิศตะวันออกยาว 198 เมตร ติดต่อกับชลประทานท่าหลวงและทางสาธารณะ ทิศตะวันตกยาว 980 เมตร ติดต่อกับที่ดินของเอกชนและแม่น้ำแควป่าสัก พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ริมแม่น้ำแควป่าสัก

วัดไก่จ้น
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไก่จ้น
ที่ตั้งตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 18270
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อแสนสุข
เจ้าอาวาสพระครูวิสุทธิธรรมากร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดไก่จ้นเป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณ ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. 2375 เดิมเรียกว่า "วัดบ้านไก่จ้น" มีหลักฐานประกฎอยู่ในใบพระราชทานวิสุงคามสีมา ของอุโบสถหลังเก่า ความว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาให้แก่ "วัดบ้านไก่จ้น" แควนครน้อย แขวงกรุงเก่า ซึ่งมี "เจ้าอธิการดิส" เป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. 2431 เมื่อคราวพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดสะตือซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดบ้านไก่จ้น เจ้าอธิการดิสได้แต่งซุ้มรับเสด็จฯ ที่หน้าวัดบ้านไก่จ้น โดยแต่งซุ้มเป็นรูปไก่ ประดับไฟตะเกียง พร้อมทั้งเขียนโครงยอพระเกียรติไว้ 1 บท มีผู้จำได้เพียงตอนท้ายบทว่า "ดับร้อนราษฎร์เกษม" พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเจ้าอธิการดิสเจ้าอาวาสวัดบ้านไก่จ้น ที่เขียนคำโครงยอพระเกียรติ แต่งซุ้มรับเสด็จฯ ประกอบทั้งคุณงามความดีของเจ้าอธิการดิสในด้านการศึกษาและพัฒนาวัด จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาไปอยู่วัดสุวรรณดาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระสุวรรณวิมลศิล" และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณดารามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2445 จนถึงมรณภาพในปี พ.ศ. 2468

วัดไก่จ้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลัง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ปัจจุบัน "พระครูวิสุทธิธรรมากร" ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลท่าหลวง

วัดไก่จ้นมีวัตถุมงคลหลายรุ่นที่มีชื่อเสียง เช่น พระเครื่องบางรุ่นได้มวลสารมาจากสมเด็จบางขุนพรหมกรุ พ.ศ. 2500 หลวงพ่อลำภูวัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม ได้นำมาสร้างเป็นพระพิมพ์สมเด็จหลายพิมพ์[1] เช่น ปี พ.ศ. 2501 สมเด็จโอ๊ก ปี พ.ศ. 2502 โด่งดังมาก ปี พ.ศ. 2516 ปี พ.ศ. 2517 ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้น

ปีที่สำคัญของวัด แก้

  • พ.ศ. 2521 – เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินวัดไก่จ้น ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ ทรงตัดลูกนิมิตร ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เกตุพระประธานในอุโบสถ ทรงลงนามพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธยที่แผ่นศิลา ทรงพระสุหร่ายพระประธานในอุโบสถ และพระประธานจำลอง ณ อุโบสถ พระราชทานของแก่ผู้มีจิตศรัทธาโดยพระราชกุศล ทรงปลูกต้นพิกุลด้านหน้าอุโบสถ 2 ต้น พระราชทานทรัพย์ทำบุญบำรุงวัด 10,000 บาท
  • พ.ศ. 2523 – เมื่อวันที่ 8 เมษายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินวัดไก่จ้น ทรงประกอบพิธีวาศิลาฤกษ์วิหารสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปจำลองพระประธานอุโบสถ ทรงลงพระนามาภิไธยที่แผ่นศิลา พระราชทานของแก่ผู้มีจิตศรัทธาโดยเสด็จพระราชกุศล ทรงปลูกต้นพิกุลด้านหน้าอุโบสถ 2 ต้น และเสด็จฯ เยี่ยมประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จฯ
หมายเหตุ:

^1 กล่าวกันว่าสมเด็จโตเกิดในเรือซึ่งในขณะนั้นกำลังลอยลำอยู่หน้าวัดไก่จ้น

สมุดภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "เปิดประวัติ'หลวงปู่ลำภู' : ข่าวสดออนไลน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.
  2. วัดไก่จ้น - ข้อมูลสารสนเทศระดับโรงเรียน[ลิงก์เสีย]
  3. "วัดร้างใต้ดิน เมืองลพบุรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-01. สืบค้นเมื่อ 2011-05-26.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

14°33′21.11″N 100°45′33.77″E / 14.5558639°N 100.7593806°E / 14.5558639; 100.7593806