วัดโปรดเกศเชษฐาราม

วัดในจังหวัดสมุทรปราการ

วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 11 บ้านคลองหลวง ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นวัดพุทธไทยเพียงวัดเดียวในย่านพระประแดงท่ามกลางวัดพุทธรามัญ[1]

วัดโปรดเกศเชษฐาราม
วัดโปรดเกศเชษฐาราม
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 45 หมู่ที่ 11 ถนนทรงธรรม ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธชินนาถศาสดา
เจ้าอาวาสพระครูวิสิฐธรรมรส (บุญสม ธมฺมรโส)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2365 ในสมัยรัชกาลที่ 2[2] ผู้สร้างวัดนี้คือ พระยาเพชรพิไชย (เกตุ) ต้นสกุล เกตุทัต ซึ่งเป็นบุตรของพระยาเพชรพิไชย (หง) ต้นสกุล หงสกุล วัดแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2368 ได้รับพระราชทานนามภายหลังว่า วัดโปรดเกศเชษฐาราม แต่เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า วัดปากคลอง เนื่องจากทางทิศเหนือของวัด มีคลองเล็ก ๆ คลองหนึ่งชื่อ คลองทองเมือง ปากคลองอยู่ทางคลองลัดหลวง ต่อมาพระยาเพชรพิไชย (หนู) บุตรพระยาเพชรพิไชย (เกศ) ได้มาบูรณะใหญ่ เช่น เขียนลายบนเพดานพระวิหารและพระอุโบสถ ย้ายประตูพระวิหาร สร้างเขื่อนรอบสระ

ในปี พ.ศ. 2542 มีการบูรณะวัดครั้งใหญ่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากพระอุโบสถได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากโดยเฉพาะส่วนของโครงสร้างภายในพระอุโบสถทางวัด มีศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ซึ่งเป็นทายาทสืบตระกูลของผู้สร้างวัดแห่งนี้ เป็นประธานกรรมการ และได้ขอกองอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบการบูรณะในด้านวิศวกรรมโครงสร้างและในด้านอนุรักษ์ศิลปะให้คงอยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด

วัดโปรดเกศเชษฐารามได้รับพระราชทานเป็นพระอารามหลวงเมื่อไร ไม่มีหลักฐาน แต่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2368

อาคารอาสนะและภาพจิตรกรรมฝาผนัง แก้

อาคารอาสนะ แก้

สิ่งก่อสร้างเดิม คือ พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ทรงลังกา 2 องค์ หอระฆัง พระมณฑป สร้างเสนาสนะที่อยู่อาศัยของสงฆ์ 3 คณะ

พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถา ประดับเครื่องลายคราม ภายในประดับด้วยภาพวาดศิลปะแบบตะวันตก ฝีมือของขรัวอินโข่ง พระประธานภายในพระอุโบสถ คือ พระพุทธชินนาถศาสดา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย รัชกาลที่ 9 เป็นผู้พระราชทานนาม ส่วนพระวิหารมีลักษณะการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังเช่นเดียวกัน ภายในมีพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ยาวตลอดจากพระรัศมีถึงพระบาท 16 วา 2 ศอก ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง

พระมณฑปตั้งอยู่กลางน้ำ เป็นพระมหามณฑปเจดีย์ย่อมุมไม้ 20 ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบดอกบัว 9 ชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ทำด้วยศิลาแลงมีรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยศิลาแลง ฐานรอบนอกประดับด้วยหินอ่อน กลีบบัวสลักด้วยศิลาแลงลงรักปิดทองลายฝ่าพระพุทธบาทประดับด้วยมุก เป็นรูปพรหมและรูปต่าง ๆ

วัดมีเก๋งจีน ตั้งอยู่รอบพระอุโบสถและวิหาร รวม 7 หลัง มีพระปรางค์ 4 องค์[3]

จิตรกรรมฝาผนังที่ซ่อนไว้ แก้

 
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เชื่อว่าเป็นฝีมือขรัวอินโข่ง

ในการบูรณะปี พ.ศ. 2542 ในการสกัดอิฐที่อยู่เต็มช่องซุ้ม ได้พบจิตรกรรมสีฝุ่นเทมเพอรา (Tempera) ประกอบกับมีการปิดทองประดับ เป็นรูปพระพุทธสาวิกานั่งพนมมือ และบนผนังด้านในตรงกับพระประธานเป็นภาพพระอัครสาวกและพระอัครสาวิกายืนพนมมือ มีความสมบูรณ์ของภาพถึง 60% หลังจากนั้นได้สกัดผนังปูนด้านหลังองค์พระประธาน ก็พบจิตรกรรมที่ถูกซ่อนไว้อีก และในบางส่วนมีการหลุดลอกของสีอยู่บ้าง เป็นจิตรกรรมภาพเขียนทั้งหมดเหมือนกับผนังทั้ง 3 ด้านที่ผ่านมา มีอยู่ 4 ซุ้มที่เป็นภาพประติมากรรมในรูปแบบที่เรียกกันว่าภาพนูนสูง (High relief) เป็นรูปพระพุทธสาวกยืนพนมมือผินหน้าไปหาพระประธานประกอบกับระบายสีฝุ่นในลักษณะของเทคนิคการเขียนสีภาพปูนเปียก

อีกซุ้มตรงกลางหลังพระประธานเป็นภาพเขียนสีรูปดอกไม้ร่วง ภาพเขียนเชื่อว่าเป็นฝีมือชั้นครูในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[4] อย่าง ขรัวอินโข่ง

อ้างอิง แก้

  1. "วัดโปรดเกศเชษฐาราม". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย.
  2. "วัดโปรดเกศเชษฐาราม". องค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-22. สืบค้นเมื่อ 2020-07-22.
  3. "รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดโปรดเกศเชษฐาราม งามน่าชมพระมณฑปกลางน้ำ". ผู้จัดการออนไลน์. 1 กันยายน 2559.
  4. เกรียงไกร โตประเทศ (11 พฤษภาคม 2563). "วัดโปรดเกศเชษฐาราม กับจิตรกรรมไทยที่ถูกซ่อนไว้". ศิลปวัฒนธรรม.