วัดเรไร (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดเรไร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของคลองชักพระ ใกล้ปากคลองบางระมาด ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

วัดเรไร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 548 ซอยแก้วเงินทอง 36 ถนนแก้วเงินทอง แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหากฤษณะ ดรุโณ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดเรไรสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2323 หรืออาจก่อนหน้านี้ กล่าวกันว่าผู้สร้างวัดคือเจ้าต่างกรม 3 องค์ ต่อมากลายเป็นวัดร้าง ชาวบ้านจึงได้ช่วงกันบูรณปฏิสังขรณ์ให้กลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2419[1] บางสำนวนเล่าว่าผู้ปฏิสังขรณ์วัดใหม่คือเจ้านาย 3 พระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ กรมพระนราเทเวศน์ กรมหลวงนเรศโยธี และกรมหลวงเสนีบุรีรัตน์

จากหลักฐานเอกสารในราชกิจจานุเบกษา รัชกาลที่ 5 เล่ม 1 แผ่นที่ 43 ระบุผู้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ตรงกับวันศุกร์ เดือน 8 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรีศก พ.ศ. 2424 คือ หม่อมเจ้ากำพร้า หม่อมเจ้าเขียน หม่อมเจ้าสว่าง กับหลวงพุทธมากร พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าทั้งสามเป็นพระธิดาในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ต้นราชสกุลอิศรางกูร[2]

พ.ศ. 2554 เริ่มมีการประกาศเชิญชวนให้ผู้มี่จิตศรัทธาร่วมซื้อที่ดินเพื่อทำถนนเข้าวัด

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถมีพาไลรอบ หน้าบันก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าเป็นปูนปั้นแบบนกหัวเจ่า (รูปหัวนาค) หน้าบันประดับลายปูนปั้น หน้าบันด้านหน้าเป็นปูนปั้นลายเครือเถาประดับเครื่องถ้วยลายคราม ด้านล่างเป็นลายก้านขด หน้าบันด้านหลังตอนบนเป็นลายรูปวิมาน มีปราสาทอยู่บนก้อนเมฆ ตอนล่างเป็นรูปครุฑเบือน จับลายก้านขดช่อหางโต มีสิงห์เกาะอยู่ที่ตัวลาย กรอบซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนเป็นลายเทศประดับสวยงาม ในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หล่อด้วยโลหะ หน้าตัก 3 ศอก 9 นิ้ว ครองจีวรลายดอกพิกุลแบบพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์

ใบเสมาเป็นเสมาหินใบเล็ก ส่วนที่มุมทางด้านหน้าของกำแพงแก้วอุโบสถ มีเจดีย์รายเป็นเจดีย์ทรงระฆังองค์เล็ก ๆ อยู่ทั้งทางซ้ายและขวา เป็นแบบเจดีย์ที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เจดีย์องค์ใหญ่เป็นทรงระฆัง คล้ายเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 วิหารหลวงพ่อดำติดกับเจดีย์องค์ใหญ่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 3 องค์ ปิดทองทั้งหมด ที่สำคัญคือ หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย

มณฑปพระพุทธฉาย ผนังด้านในมีภาพปูนปั้นนูนรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนอุ้มบาตร พร้อมด้วยพระอัครสาวก 2 องค์ เบื้องซ้าย-ขวา อยู่ในอิริยาบถยืนอุ้มบาตรเช่นเดียวกัน[3]

งานประเพณี แก้

วัดเรไรการจัดงานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ เช่น งานประจำปีปิดทองหลวงพ่อดำและพระพุทธฉายจำลอง จัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 13–15 มีนาคม

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอาจารย์ลื่น
  • พระอาจารย์เผือก
  • พระอาจารย์เอี่ยม
  • พระสมุห์ด้วง
  • พระอาจารย์บัว
  • พระครูสุนทรธรรมกิจ
  • พระครูใบฎีกาสุพจน์
  • พระครูธรรมกิจสุนทร พ.ศ. 2502–2528
  • พระครูสิริจันทโสภิต (สมจิตต์ จนฺทูปโม) พ.ศ. 2528–2554
  • พระมหากฤษณะ ดรุโณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2545

อ้างอิง แก้

  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-21.
  2. วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน : ย่านเก่า[ก่อน]กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2555. หน้า 107.
  3. "วัดเรไร". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°46′16″N 100°27′13″E / 13.771013°N 100.453512°E / 13.771013; 100.453512