วัดอัมพาวาส (จังหวัดสุราษฎร์ธานี)

วัดอัมพาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วัดอัมพาวาส
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอัมพาวาส, วัดท่าม่วง
ที่ตั้งตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดอัมพาวาส หรือ วัดท่าม่วง ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2325 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2345 ประวัติความเป็นมาไม่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดี เจดีย์ที่อยู่ภายในบริเวณวัด สันนิษฐานว่าบริเวณนี้คงเป็นชุมชนเดิมของอำเภอท่าชนะ รูปแบบศิลปกรรมของเจดีย์มีอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมเข้าใจว่าคงเป็นวัดร้างมาก่อน นอกจากนั้นยังพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ที่พบบริเวณชุมชนใกล้เคียงวัดอัมพาวาส ได้แก่ ลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน หินอาเกต หินควอตซ์ ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ[1] และกำไลแก้ว จึงคาดว่าบริเวณนี้คงเป็นเส้นทางการค้าสมัยโบราณร่วมสมัยเดียวกับแหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ไชยา

ถาวรวัตถุ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกว้าง 13 เมตร ยาว 19 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2345 ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารไม้ทรงไทยชั้นเดียว กุฏิสงฆ์ จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ 4 หลัง และตึก 2 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ 1 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2544 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุสล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง สร้างด้วยไม้ 1 หลัง หอระฆัง หอกลอง กุฏิเจ้าอาวาส และเรือนรับรอง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานประจำอุโบสถ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว สูง 80 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2345 พระประธานประจำศาลาการเปรียญ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว สูง 48 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546[2]

เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทฐานเขียงทรงสูงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดด้านละ 5 เมตร สูงประมาณ 70 เซนติเมตร รองรับเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง มีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศอาจใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปยืน แต่ก็ไม่มีหลักฐานเหลือให้เห็น องค์เจดีย์ทั้งหลังถูกปกคลุมอยู่ภายใต้รากต้นโพธิ์ใหญ่ ด้านที่สมบูรณ์ที่สุดคือด้านทิศใต้ยังสามารถเห็นลักษณะรูปแบบศิลปกรรมได้ชัดเจนกว่าด้านอื่น เหนือซุ้มจระนำทิศมีซุ้มหน้าบันทำเป็นซุ้มเรือนแก้ว ภายในมีภาพปูนปั้นประดับเป็นรูปเทพนมผุดมาจากดอกบัวอยู่ในร่มพฤกษชาติ มีนก 3 ตัวอยู่บนต้นไม้ส่วนที่อยู่เหนือเรือนธาตุขึ้นไปอยู่ภายใต้รากต้นโพธิ์ยอดเจดีย์หักหมดแล้ว

อ้างอิง แก้

  1. "วัดอัมพาวาส (วัดท่าม่วง)". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดอัมพาวาส (วัดท่าม่วง)". ฐานข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวฮาลาล เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย.