วัดหอมเกร็ด

วัดในจังหวัดนครปฐม

วัดหอมเกร็ด เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนครชัยศรี ในหมู่ที่ 4 บ้านหัวไทร ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

วัดหอมเกร็ด
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 70 หมู่ที่ 4 ซอยหอมเกร็ด ซอย 12 ถนนพุทธมณฑล สาย 7 ตำบลหอมเกร็ด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73110
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อโต
เจ้าอาวาสพระครูจารุวัฒนคุณ (เพ้ง จารุวณฺโณ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดหอมเกร็ดเป็นวัดเก่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานเอกสารเก่าของวัดได้แก่ โฉนดที่ดินของวัดได้จดทะเบียนเมื่อปี ร.ศ. 125 ตรงกับปี พ.ศ. 2449 และจากหลักฐานโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีอยู่ในวัด จากหนังสือ ประวัติวัดหอมเกร็ด ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินทางมาจากมณฑลราชบุรี มีนามว่า หลวงพ่อรุ่ง มาปักกลดอยู่ในบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลหอมเกร็ดปัจจุบัน ชาวบ้านต่างเลื่อมใสจึงได้สร้างวัดและนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาส เรียกว่า "วัดไร่" หรือ "วัดบ้านไร่" ต่อมาวัดเกิดความแห้งแล้งและกันดาร ประชาชนจึงได้นิมนต์หลวงพ่อรุ่งมาจำพรรษาอยู่ในที่แห่งใหม่อันเป็นที่ตั้งของวัดหอมเกร็ดในปัจจุบัน[1]

วัดหอมเกร็ดประกาศตั้งวัดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2425 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2514 ปัจจุบันมีพระครูจารุวัฒนคุณ (เพ้ง จารุวณฺโณ) เป็นเจ้าอาวาสวัด

อาคารเสนาสนะ แก้

พระอุโบสถมีหลวงพ่อโตเป็นพระประธาน ชาวบ้านนิยมมาขอพรจากหลวงพ่อและมาแก้บนกับหลวงพ่อด้วยขนุนหาบและประทัด เดิมวัดมีเจดีย์มอญ แต่ปัจจุบันได้รับการบูรณะใหม่โดยการสร้างพระเจดีย์ทรงพระปฐมเจดีย์ขนาดย่อครอบไว้ โดยยังคงตำแหน่งเดิมไว้ไม่ได้ขยับย้ายที่ตั้ง[2]

อาคารหอปริยัติธรรมเป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น ยาวประมาณ 10 ช่วงเสา หลังคาสร้างแบบอาคารยุโรป ทรงจั่วธรรมดา ไม่มีชายคากันสาด มุงกระเบื้องปูน ฝาผนังไม้สักลักษณะสภาพทรุดโทรม[3] ศาลาการเปรียญยกสูงเป็นที่ปฏิบัติธรรมและสวดมนต์ของผู้ปฏิบัติทุกวันอาทิตย์และทำบุญในวันสำคัญต่าง ๆ

อ้างอิง แก้

  1. "วัดหอมเกร็ด". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "ประวัติวัดหอมเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-30. สืบค้นเมื่อ 2020-12-30.
  3. "วัดหอมเกร็ด". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.