วัดสองพี่น้อง (จังหวัดสุพรรณบุรี)

วัดในจังหวัดสุพรรณบุรี

วัดสองพี่น้อง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีที่ดินตั้งวัด 39 ไร่ 2 งาน ปัจจุบัน พระปริยัติวรคุณ (สมชาย ทตฺตชีโว) เป็นเจ้าอาวาส

วัดสองพี่น้อง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสองพี่น้องตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2212 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานว่าพระพิรอดหรือขรัวตาคง ได้ตั้งวัดสองพี่น้องขึ้น คำว่า "สองพี่น้อง" มาจาก "คลองสองพี่น้อง" ซึ่งเป็นคลองที่มีช้างสองเชือกเดินย่ำเป็นที่ลุ่ม มีการเอ่ยถึงวัดนี้ในจารึกเจ้าแม่ดุสิต พูดถึงอาจารย์พิรอดหรืออาจารย์คง[1] ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนิมนต์ไปอยู่กรุงศรีอยุธยา จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ พบแผ่นจารึกลานเงินลานทองถูกค้นพบเมื่อครั้งบูรณะซ่อมแซมเจดีย์ 3 องค์ เมื่อ พ.ศ. 2536 เนื้อความในจารึกทำให้ทราบว่าผู้สร้างเจดีย์ 3 องค์ คือ เจ้าสามอู วัดสองพี่น้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2470 ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถกว้าง 8.02 เมตร ยาว 19.08 เมตร ศิลปะอยุธยาตอนปลาย หลังคามุงกระเบื้องขึ้นลายมีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันเป็นไม้แกะสลักบูรณะเพิ่มเติม เมื่อ พ.ศ. 2543 วิหารพระพุทธไสยาสน์ กว้าง 6.5 เมตร ยาว 19.08 เมตร หน้าบันมีขนาดใหญ่ ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอนใหญ่) ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย พระเจ้าปิดเคราะห์ เป็นพระพุทธรูปสำริดสีทอง นั่งขัดสมาธิแบบเข่าซ้อน เข่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง 1.22 เมตร กว้าง 96 เซนติเมตร และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย กว้าง 1.80 เมตรยาว 10.05 เมตร[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดสองพี่น้องพบเบี้ยหอยโบราณ". คมชัดลึก.
  2. "วัดสองพี่น้อง". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-02. สืบค้นเมื่อ 2022-02-02.