วัดศาลาทอง

วัดในจังหวัดนครราชสีมา


วัดศาลาทอง ตั้งอยู่เลขที่ 12 ถนนเบญจรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่เศษ เป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมยังเรืองอำนาจ

วัดศาลาทอง
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 12 ถนนเบญจรงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระประธานหลวงพ่อใหญ่ (ปางป่าเลไลย์)
ความพิเศษพระสัมพุทธเจดีย์ศรีสิงหนาท
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ที่มาของชื่อวัด แก้

เมื่อสมัยขอมยังปกครองอยู่ วัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดป่าเลไลย์ ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น วัดป่าเลไลย์ทอง และเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้สร้างเมือง"โคราฆปุระ"หรือเมืองนครราชสีมา จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดศาลาทอง จวบจนปัจจุบัน

ประวัติและการบูรณปฏิสังขรณ์วัด แก้

วัดศาลาทอง เป็นวัดที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมยังเรืองอำนาจ

ปี พ.ศ. 2483

วัดศาลาทอง ได้สังกัดฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

ในสมัยที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้ส่งพระครูใบฏีกาหรั่ง ชินวํโส มาเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาทอง

ปี พ.ศ. 2477

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

พ.ศ. 2481

นางเลียบ ชิ้นในเมือง พร้อมผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันสร้าง พระอุโบสถหลังใหม่แทนอุโบสถหลังเก่าซึ่งเป็นไม้ แต่ยังคงลักษณะเดิมไว้ โดยผู้ออกแบบพระอุโบสถคือ พระครูปลัดสัมพิพัฒน์วิริยาจารย์ (พระมหาสุทัศน์ สุทสสโน ป.ธ.6) ได้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง นำพระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนร่วมกันก่อสร้าง จนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2483

พ.ศ. 2489

ทำพิธีวางศิลาฤกษ์และทำการก่อสร้าง พระสัมพุทธเจดีย์ศรีสิงหนาท เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2489

พ.ศ. 2496

จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในโอกาสมาเป็นประธานพิธีบรรจุพระบรมสารริกธาตุภายในพระเจดีย์ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2496

ปี พ.ศ. 2535

ได้มีการบูรณะพระอุโบสถ โดยเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาครั้งใหญ่ และทาสีใหม่ทั้งหลัง โดยการนำของพลตำรวจตรี ชนัน ชานะมัย อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 3

ปี พ.ศ. 2547

มีการบูรณะโครงหลังคาพระอุโบสถ จากไม้เป็นโครงเหล็กทั้งหลัง รวมถึงบันไดทางขึ้นอุโบสถทั้ง 4 ด้าน โดยพระครูสิริเจติยาภิบาล เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน[1]

ทำเนียบรายนามเจ้าอาวาส แก้

  1. พระมหาถิน (ไม่ปรากฏฉายา)
  2. พระคณุใบฎีกาหรั่ง ชินวํโส
  3. พระครูใบฎีกาแอ๋ว จิตตมโล
  4. พระครูพรหมจักร (พรหม พรหฺมสโร)
  5. พระครูสุทธศิลสังวร (สุวรรณ นนฺทิโย)
  6. พระครูสิริสารสุธี (พระมหาอุทิศ ไม่ปรากฏฉายา)
  7. พระครูศรีเจติยาภิบาล (พระมหาใส สุธรรมโม)
  8. พระครูสังฆรักษ์สนัด อนามโย
  9. พระมหาคำมี สุขวัฒโน
  10. พระครูวรญาณปรีชา (พระมหาปรีชา สุรญาโณ)
  11. พระครูปลัดไวยตะวัน อรุโณ
  12. พระมหาวุฒิกรณ์ กาญจโน
  13. พระครูสิริเจติยาภิบาล (สมชัย ญาณวีโร)

สิ่งปลูกสร้างภายในวัด แก้

พระอุโบสถ แก้

เป็นทรงจตุรมุขหรือมีหน้าบัน 4 ด้าน อย่างพระปรางค์ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ถ้าตัดมุขทั้ง 4 ด้านออก ซึ่งจะไม่เหมือนรูปอุโบสถอย่างไทยนิยมในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีหลังคาลาดชัน

พระประธาน

เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ทรงนั่งห้อยพระบาททั้งสองเฉกเดียวกับปางปฐมเทศนา ซึ่งนิยมสร้างกันมากในสมัยทวาราวดี ผิดกันแต่พระกรขวาท่อนล่างพาดอยู่บนพระเพลา ทรงหงายพระหัตถ์ ส่วนปางปฐมเทศนานั้นพระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วเป็นรูปวงธรรมจักร แต่พระประธานวัดศาลาทองทรงประทับนั่งบนแท่นศิลาไม่พิงพนัก ทอดพระเนตรต่ำ สีพระวรกายเป็นสีทองอร่าม ริมพระโอษถ์สีแดงสด ความสูงจากพระบาทฐานถึงพระรัศมี 5.10 เมตร วัดโดยรอบพระต้นพระกร รวมอุระ 3.10 เมตร พระบาทสูงจากพื้น 0.50 เมตร พื้นพระอุโบสถยกสูงจากพื้นดิน 1.80 เมตร ไม่มีดอกบัวรองรับพระบาท ครองผ้าเฉวียงอังสะ พาดสังฆาติคล้ายพระสงฆ์ลงโบสถ์ทำสังฆกรรม ผินพระพักต์ไปทางทิศตะวันออกพระกรทั้งสองพาดพระเพลา เป็นกิริยารับถวายน้ำเต้าและรวงผึ้งจากช้างและวานร

พระสัมพุทธเจดีย์ศรีสิงหนาท แก้

ทำพิธีวางศิลาฤกษ์และทำการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2489 ตรงกับวันเสาร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ อัฐศก มีลักษณะ เป็นพระเจดีย์เป็นสององค์ครอบทับกันอยู่ องค์ใหญ่ความสูง 32.60 เมตรฐานวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 21.60 เมตร องค์เล็ก ความสูง 7.20 เมตร ฐานวงกลมเส็นผ่านศูนยบ์กลาง 4.80 เมตร

ตามหลักฐานคำกล่าวรายงานของ พลโท ส.ไสว แสนยากร ต่อ จอมพลผิน ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ในโอกาสมาเป็นประธานพิธีบรรจุพระบรมสารริกธาตุ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2496 ตรงกับวันอังคาร แรม 13 ค่ำ เดือน ยี่ ปีมะเส็ง เบญจศก ความตอนหนึ่งว่า

ในวันที่ 15 มกราคม พุทธศักราช 2485 ขณะที่กองพลทหารที่ 3 (กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี ในปัจจุบัน)ขณะทำการปฏิบัติ ก่อสร้างสะพานสำรอง ข้ามแม่น้ำอิง ที่ อ.พะเยา จ.เชียงราย ร้อยโทวงศ์ เสริมธน ได้ขุดพบ ผอบ 7 ชั้น จำนวน 4 องค์ สันนิษฐานว่าน่าจะมี สิ่งสำคัญบรรจุอยู่ภายใน กองพลที่ 3 จึงได้ตั้งเรื่องตรวจสอบไปยังกรมศิลปากร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร ขณะนั้น คือ หลวงบริบาลบุรีรภัณฑ์ ได้ทำการพิสูจน์และยืนยันว่า เป็นพระบรมสารีริกธาตุ

เมื่อเป็นที่ปรากฏฉะนี้ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองจึงได้จัดงานฉลองพระบรมสารีริกธาตุขึ้นที่ พระนคร จนเกิดความน่าอัศจรรย์ต่อการเคารพบูชาขึ้นหลายสิ่ง ต่อมา จอมพลผิน ชุณหะวัณ ท่านได้ขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ออกเป็นสองส่วน ส่วนนึง อัญเชิญไปประดิษฐานยัง วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระนคร อีกส่วนหนึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานยัง มณฑลอิสาน ณ วัดศาลาทอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อก่อให้เกิดมิ่งขวัญ และความเป็นสิริพิพัฒนมงคล แก่บรรดา เหล่าทหารและพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป อนึ่งท่านจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้ตั้งปณิธานไว้ว่า

แม้นเมื่อเสร็จศึกสงครามมหาเอเชียบูรพาลงเมื่อใด แลบังเกิดความผาสุกขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จักได้สร้างพระเจดีย์อันเป็นเหมาะสม บังควรถวายเป็นศรีสง่า ให้พุทธบูชา ของประชาชนชาวอิสาน และประเทศชาติสืบไปเบื้องหน้า

ดังที่ปรากฏเป็นสาระสำคัญที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

งานวัดประจำปี แก้

เทศกาลตรุษสงกรานต์

ในทุกๆปี จะมีเทศกาลตรุษสงกรานต์ได้มีพิธีสรงน้ำพระประธาน " หลวงพ่อใหญ่ " (ปางป่าเลไลย์) ในพระอุโบสถ

ความสำคัญ แก้

มวลสารวัตถุจากโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่วัดศาลาทอง รัชกาลที่ 9 ได้นำมาเป็นส่วนประกอบในการทำพระสมเด็จจิตรลดา

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดศาลาทอง". คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้