วัดยางกวง

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดยางกวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดยางกวง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดยางกวง, วัดยางกวงจ๋อมสะหลีปุรีนามน่างรั้ว (กาดประตูก้อม), วัดแสนแส้ว, วัดน่างรั้ว, วัดหน่างรั้ว
ที่ตั้งตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดยางกวงน่าจะเป็นวัดขึ้นมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 จัดเป็นวัดรุ่นแรก ๆ ของเมืองเชียงใหม่ สันนิษฐานได้จากการพบเศียรพระพุทธรูปหล่อสำริดที่จัดเป็นสกุลช่างของล้านนารุ่นแรกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปกรรมแบบนี้ขึ้นที่วัดนี้ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า แสนแส้ว วัดนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดแสนแส้ว และยังมีอีกชื่อว่า วัดน่างรั้ว หรือ วัดหน่างรั้ว คำว่า หน่างรั้ว คือ รั้ว หรือแนวกัน ที่ทำให้คนหรือสัตว์เข้ามาติดแล้วออกไปไม่ได้

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า พญามังรายทรงออกแสวงหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่ พระองค์เสด็จออกจากเวียงกุมกามและทรงแวะตั้งค่ายพักแรม ณ บริเวณแห่งนี้ โดยให้ทหารและเสนาอำมาตย์สร้างหน่างรั้วขึ้นมา วัดนี้มีหลักฐานปรากฏใน โคลงนิราศหริภุญชัย (พ.ศ. 2060) จนเมื่อเชียงใหม่ถูกพม่ายึดครอง ทำให้วัดอยู่ในสภาพวัดร้าง วัดได้รับการบูรณะอีกครั้งหลังจากที่พระเจ้ากาวิละกลับมาขับไล่พม่าครั้งสุดท้ายออกจากล้านนา ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดยางกวง" เหมือนในเชียงตุง เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าผู้ที่บูรณะมาจากบ้านนายางกวงเชียงตุง ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดยางกวงแห่งนี้กับกลายเป็นวัดร้างอีก[1]

พ.ศ. 2549 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรครองราชย์ครบ 60 ปี พระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รองเจ้าคณะภาค 7 เห็นว่าวัดยางกวงซึ่งร้างอยู่ ยังมีหลักฐานหลงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ คือ เจดีย์ และพระพุทธรูป จึงเห็นสมควรทำการฟื้นฟูและบูรณะขึ้นใหม่[2]

วัดยางกวงตั้งเป็นวัดอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557[3]

อาคารและเสนาสนะ แก้

เจดีย์ทรงปราสาทแปดเหลี่ยมประกอบด้วย ฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมรองรับฐานบัวแปดเหลี่ยมสองชั้น ฐานบัวทั้งสองมีลวดบัวลูกแก้วอกไก่คาดประดับชั้นละสองเส้น ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุแปดเหลี่ยม ทุกด้านมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป เหนือเรือนธาตุเป็นบัวถลาแปดเหลี่ยมชั้นเดียวรองรับองค์ระฆัง บัลลังก์และปล้องไฉนทรงแปดเหลี่ยมและปลีทรงกลม เจดีย์วัดยางกวงมีลักษณะใกล้เคียงกับเจดีย์แปดเหลี่ยมวัดอินทขีลสะดือเมืองมาก ซึ่งเจดีย์กลุ่มนี้รับอิทธิพลทางศิลปะมาจากเจดีย์แปดเหลี่ยมในศิลปะหริภุญชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 นอกจากยังพบเศียรพระพุทธรูปหล่อสำริดที่เรียกว่า แสนแส้ว อีกด้วย

วิหารมีการพัฒนามา 4 ยุค โดยจากหลักฐานการขุดแต่ง หลักฐานยุคแรกครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2350–2450[4]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดยางกวง (Yang Guong Temple)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-15. สืบค้นเมื่อ 2021-12-15.
  2. "ฮือฮา!! นักโบราณฯ ขุดพบฐานวิหารลายคำเดิมวัดยางกวง ขณะบูรณะวิหารหลังใหม่". ข่าวสด.
  3. "วัดยางกวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  4. "ศิลปากรเชียงใหม่เผยผลศึกษาละเอียดยิบ"วัดยางกวง"ไขปริศนาฐานพระกระจกจีนสุดฮือฮา". มติชน.