วัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในวัดในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา วัดมหาธาตุเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และเป็นที่พำนักของสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคามวาสีอีกด้วย วัดแห่งนี้จึงได้รับการก่อสร้างและดูแลตลอดเวลาจวบจนถูกทำลายและถูกทิ้งร้างลงหลังเสียกรุงครั้งที่ 2

วัดมหาธาตุ
ปรางค์ประธาน ปัจจุบันได้พังทลายมาแล้ว
วัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
ที่ตั้งของวัดมหาธาตุในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)ตั้งอยู่ในประเทศไทย
วัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
วัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัด
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
ความเป็นมา
ผู้สร้างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1
สร้างพ.ศ. 1917
ละทิ้งพ.ศ. 2310
สมัยอยุธยา
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.00-18.30 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา
เกณฑ์วัฒนธรรม: (iii)
ขึ้นเมื่อ1991
เป็นส่วนหนึ่งของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เลขอ้างอิง576
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนวัดมหาธาตุ
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
เลขอ้างอิง0000328

ประวัติ แก้

 
พระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 ก่อนที่จะพังทลายเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2447

วัดมหาธาตุเป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ใกล้วัดราชบูรณะ ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างในสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ขุนหลวงพะงั่ว เมื่อปี พ.ศ. 1917 แต่ไม่แล้วเสร็จ เสด็จสวรรคตเสียก่อน และได้สร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ ในสมัย สมเด็จพระราเมศวร โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. 1927 ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

ความสำคัญของวัดมหาธาตุนั้น นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัด ส่วนพระสังฆราช ฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล) นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ ๆ พระศรีศิลป์และจหมื่นศรีสรรักษ์ พร้อมคณะได้ซุ่มพลที่ปรางค์วัดมหาธาตุ ก่อนยกพลเข้าพระราชวังทางประตูมงคลสุนทร เพื่อจับกุมสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ปรางค์ของวัดองค์เดิมที่สร้างด้วยศิลาแลง ยอดพระปรางค์ได้ทลายลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ แต่จะด้วยเหตุผลประการใดไม่ทราบ จึงยังมิได้ซ่อมแซมให้คืนดีดั้งเดิมในรัชกาลนั้น ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงบูรณะใหม่รวมเป็นความสูง 25 วา เมื่อปี พ.ศ. 2176 และในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2275 - 2301 จนถึงช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2 วัดมหาธาตุโดนทำลายจนเหลือเพียงซากปรักหักพังและถูกทิ้งร้าง ต่อมายอดพระปรางค์ได้พังทลายลงมาอีกครั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

สิ่งก่อสร้าง แก้

  1. พระปรางค์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันพังทลายลงมาหมดแล้ว แต่ราชทูตลังกาที่ได้เคยมาเยี่ยมชมวัดมหาธาตุ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไว้ว่า ที่ฐานของพระปรางค์ มีรูปราชสีห์ หมี หงส์ นกยูง กินนร โค สุนัขป่า กระบือ มังกร เรียงรายอยู่โดยรอบ รูปเหล่านี้อาจหมายถึงสัตว์ในป่าหิมพานต์ที่รายล้อมอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล
  2. เจดีย์แปดเหลี่ยม เป็นเจดีย์ลดหลั่นกัน 4 ชั้น 8 เหลี่ยม ชั้นบนสุดประดิษฐานปรางค์ขนาดเล็ก ซึ่งเจดีย์องค์นี้จัดว่าเป็นเจดีย์ที่แปลกตา พบเพียงองค์เดียวในอยุธยา
  3. วิหารที่ฐานชุกชี ของพระประธานในวิหาร กรมศิลปากรพบว่ามีผู้ลักลอบขุดลงไปลึกถึง 2 เมตร จึงดำเนินการขุดต่อไปอีก 2 เมตร พบภาชนะดินเผาขนาดเล็ก 5 ใบ บรรจุแผ่นทองเบารูปต่างๆ
  4. วิหารเล็ก วิหารเล็กแห่งนี้ มีรากไม้แผ่รากขึ้นเกาะเต็มผนัง รากไม้ส่วนหนึ่งได้ล้อมเศียรพระพุทธรูปไว้
  5. พระปรางค์ขนาดกลางภายในพระปรางค์ มีภาพจิตรกรรม เรือนแก้วซึ่งเป็นตอนหนึ่งในพุทธประวัติ
  6. ตำหนักพระสังฆราช บริเวณพื้นที่ว่างทางด้านทิศตะวันตก เคยเป็นที่ตั้งพระตำหนักพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสี ราชทูตลังกาได้เล่าไว้ว่า เป็นตำหนักที่สลักลวดลายปิดทอง มีม่านปักทอง พื้นปูพรม มีขวดปักดอกไม้เรียงรายเป็นแถวเพดานแขวนอัจกลับ (โคม) มีบังลังก์ 2 แห่ง

จารึกแผ่นดีบุก แก้

เมื่อ พ.ศ. 2500 มีการขุดค้นพบจารึกแผ่นดีบุกบริเวณกรุฐานพระปรางค์ พร้อมกับโบราณวัตถุอีกหลายอย่าง ตัวจารึกเป็นอักษรไทยอยุธยา เนื้อหาโดยสังเขปเป็นคำอุทิศส่วนกุศลจากการหล่อพระพุทธพิมพ์เท่าจำนวนวันเกิด การภาวนา และการบูชาพระรัตนตรัย ตอนท้ายระบุชื่อและอายุของผู้สร้างพระพิมพ์คือ พ่ออ้ายและแม่เฉา อายุ 75 ปี และระบุจำนวนวันตามอายุของตนว่า “..ญิบหมื่นเจ็ดพันห้าร้อยวัน..” (หมายถึง 27,500 วัน ซึ่งหากคำนวณแล้วจะพบว่าจำนวนวันมากกว่าตามความจริงเล็กน้อย) เนื้อหาในจารึกแผ่นนี้จึงทำให้ทราบถึงการสร้างพระพิมพ์ในสมัยอยุธยาว่า นอกจากจะสร้างเพื่อสืบทอดศาสนาแล้ว ยังมีขนบการสร้างตามจำนวนเท่ากับวันเกิดของตนด้วย[1]

คลังภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/672 จารึกแผ่นดีบุก วัดมหาธาตุ
  • วิไลรัตน์. 2546. กรุงศรีอยุธยา. อมรินทร์พริ้นติ้ง

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

14°21′25″N 100°34′03″E / 14.35694°N 100.56750°E / 14.35694; 100.56750