วัดมณีวนาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

วัดมณีวนาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมณีวนาราม, วัดป่าน้อย
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระแก้วโกเมน
เจ้าอาวาสพระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู ป.ธ.9)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2322 ผู้สร้างคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล) มีพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของเมืองอุบลราชธานีในอดีต วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2518[1]

อาคารเสนาสนะ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ หอไตรและอุโบสถสร้างในสมัยพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาส กุฏิธรรมระโตสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456[2] ลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นด้านข้างทางทิศตะวันออก บริเวณบันไดทำเป็นชายคามุงสังกะสีคลุมโดยตลอด บนเรือนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนชานเรือนกั้นผนังด้วยไม้ระแนง ส่วนโถงหน้าห้องซึ่งทำพื้นเป็น 2 ระดับ คือระดับล่างอยู่กึ่งกลางเรือนและยกพื้นสูงบริเวณหน้าห้องก่อนจะเป็นประตูห้องพัก ส่วนห้องพักกั้นผนังแบ่งออกเป็น 3 ห้อง โดยห้องกลางมีป้ายชื่อกุฏิบอกประวัติไว้ ช่องลมตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย ฝ้าเพดานเป็นไม้กระดาน เสากุฏิปัจจุบันเป็นเสาปูนซีเมนต์

กุฏิอีกหลังคือ กุฏิแดง เป็นเรือนไม้ทรงไทยยกพื้นสูง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ขนาด 7 ช่วงเสา หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่วและมีชายคาลดชั้นโดยรอบ ปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องลอนแบบสมัยใหม่ ตัวเรือนหันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้นกึ่งกลางด้าน ตัวบันไดทำจากปูน ที่หัวเสาบันไดบนและล่างมีสิงห์แบบศิลปะจีนซึ่งปั้นจากปูนทาสีน้ำตาลประดับอยู่ทั้งสองด้าน ราวระเบียงทำจากปูนเลียนแบบลูกกรงไม้บนเรือนด้านหน้ามีชานพักยาวตลอดด้าน กั้นตัวเรือนด้วยฝาปะกน แบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ ส่วนกลางเรือน 2 ห้อง เป็นห้องขนาดใหญ่ขนาด 3 ช่วงเสา 1 ห้องทางด้านซ้ายของตัวเรือน มีประตูห้องอยู่กึ่งกลางและบานหน้าต่างด้านหลัง 3 ช่อง ส่วนห้อง 2 ช่วงเสาทางขวาของตัวเรือน มีประตูอยู่ชิดทางด้านขวาและมีบานหน้าต่างเปิดออกหาระเบียงด้านหน้าได้ ที่บานหน้าต่างปรากฏภาพจิตรกรรม (ฮูบแต้ม) รูปเทวดาซึ่งซีดจางมาก ทางด้านซ้ายและหน้าต่างด้านหลังอีก 2 ช่อง สองด้านทางทิศเหนือ-ทิศใต้ของอาคารกั้นเป็นห้องขนาดเล็กมีประตูแยกเฉพาะ ทั้ง 2 สองห้องมีหน้าต่างทางด้านข้างสองช่องไม่มีหน้าต่างด้านหลัง ปัจจุบันผนังอาคารทางด้วยสีชมพูและสีน้ำเงิน ซึ่งน่าจะทาในภายหลังจากสีเดิมซีดจางลงแล้ว[3]

พระแก้วโกเมน แก้

วัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร สร้างด้วยแก้วโกเมน (สีแดงเข้ม) ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว สันนิษฐานว่าเป็นศิลปะล้านนา มีตำนานเล่าว่า พระแก้วโกเมนอุบัติมารพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายกทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับต่อกันมา โดยทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วนั้นไว้ ที่เรียกกันว่า งุม ในช่วงประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานี จะอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำด้วย[4]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ ป.ธ.3) พ.ศ. 2371–2395
  • อาชญาท่านจันลา จันทรังสี พ.ศ.(ไม่ปรากฎ)–2421
  • อาชญาท่าคำ สุวัณโณ พ.ศ.(ไม่ปรากฎ)–2429
  • อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธัมปาโล) พ.ศ.(ไม่ปรากฎ)–2464
  • พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธัมมทีโป) พ.ศ. 2464–2480
  • พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหัปผโล ป.ธ.5) พ.ศ. 2481–2538
  • พระครูอาทรกิจโกศล (ทอน กนฺตสีโล) พ.ศ. 2539–2541
  • พระกิตติญาณโสภณ (แสง นาคเสโน ป.ธ.7) พ.ศ. 2442–2551
  • พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู ป.ธ.9) พ.ศ. 2552–ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "วัดมณีวนาราม". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "กุฎีธรรมระโต กุฏิโบราณ อายุร้อยกว่าปี วัดมณีวนาราม อุบล".
  3. "วัดมณีวนาราม". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  4. "พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.