วัดภคินีนาถวรวิหาร

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดภคินีนาถวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ประเภทมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เดิมเขียนว่า วัดภัคินีนาฎ เปลี่ยนมาเป็น ภคินีนารถ และเปลี่ยนมาเป็น ภคินีนาถ วัดยังมีการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม[1]

วัดภคินีนาถวรวิหาร
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 295 ซอยราชวิถี 21 ถนนราชวิถี แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อดำ
เจ้าอาวาสพระราชอุดมมงคล (วิสิทธิ์ นนฺทิโย ป.ธ.๕)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

สันนิษฐานว่าสร้างวัดนี้เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อว่า วัดบางจาก เนื่องจากตั้งอยู่ปากคลองบางจาก แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดนอก (คู่กับวัดใน คือวัดเปาโรหิตย์ วัดทอง และวัดสิงห์) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ทรงเห็นว่า พระอุโบสถเดิมนั้นคับแคบ จึงโปรดให้เปลี่ยนเป็นพระวิหาร และทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ รวมถึงสร้างพระประธานในพระอุโบสถ พระระเบียง พระพุทธรูปปูนปั้น 80 องค์ พระเจดีย์ 4 องค์ที่มุมพระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ และศาลาเก๋งหน้าพระอุโบสถ รัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดภคินีนาถ ซึ่งแปลว่า วัดพระน้องนาง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทอดกฐินที่วัดนี้ และมีรับสั่งให้รื้อพระตำหนักของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว มาปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 มีการปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ มุขพระระเบียงอุโบสถ ปูพื้นหน้าพระวิหาร ขุดสระ พระวิหาร ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ศาลาเก๋งหน้าพระอุโบสถ ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ได้แก่ พระอุโบสถ บานหน้าต่าง เขียนลายรดน้ำ ซุ้มลงรักปิดทองประดับกระจก ซ่อมหลังคา เปลี่ยนคันทวย ช่อฟ้า ใบระกา และปรับพื้นพระอุโบสถ รวมทั้งบูรณะพระระเบียง กุฏิเสนาสนะต่าง ๆ และหอระฆัง เป็นต้น

วัดมีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมานับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ขณะนั้น ทรงมีพระราชดำริให้ปัจจัยในการทอดกฐินทั้งหมดในครั้งนั้น ใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์จิตรกรรมฝาผนัง ปี พ.ศ. 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีโครงการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยเริ่มจากพระอุโบสถ พระระเบียงคต จิตรกรรมฝาผนัง[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

 
พระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง
 
พระประธานในพระอุโบสถ

พระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ยาว 57 เมตร กว้าง 11 เมตร หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก มีทวยรองรับหลังคาปีกนกรอบพระอุโบสถ หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังจำหลักลาย ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มปูนปั้นทรงเรือนแก้ว บานประตูหน้าต่างด้านนอกเป็นลายรดน้ำพุ่มข้าวบิณฑ์ เพดานมีรูปค้างคาวรุมล้อมลูกไม้ ฉลุลายทองล่องชาด มีการระบายสีศิลปะแบบจีนลายดอกไม้ บริเวณเหนือหน้าต่าง ด้านล่างเป็นลายเครื่องบูชาของจีน บานประตูหน้าเป็นภาพเขียนสีเครื่องโต๊ะบูชาแบบจีน องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปางมารวิชัย มีพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย จำนวน 80 องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระระเบียงวิหารคต พระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร 4 องค์ ขนาดสูงเท่าตัวคน แกนในเป็นหินทรายสีแดง ตั้งอยู่หลังอุโบสถ

พระวิหาร กว้าง 8 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นพระอุโบสถหลังเดิม หลังคามุงกระเบื้อง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีพาไลหน้าหลังรองรับด้วยเสาสี่เหลี่ยม ประตูหน้าต่างเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมไม่มีซุ้ม พระประธานในวิหาร นามว่า หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย

กุฏิตำหนัก เป็นตำหนักเรือนไทยของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี ที่รื้อมาปลูกเป็นกุฏิเจ้าอาวาส มีนอกชานเป็นตัวเชื่อม[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระราชาคณะ
  • พระเทพธรรมาธาร (คง)
  • พระประสิทธิสุตคุณ (นาค)
  • พระวิสุทธิสมาจารย์ (ฉัตร)
  • พระครูวิสุทธิสังวร (ผ่อง)
  • พระธรรมถาวร (เซ่ง สงฺกิจฺโจ)
  • พระครูวิริยกิจโกศล (ฤทธิ์)
  • พระครูอุปการประชากิจ (หงส์ ผุสฺสนารโต)
  • พระราชมงคลมุนี (เงิน สุทนฺโต)
  • พระราชอุดมมงคล (วิสิทธิ์ นนฺทิโย ป.ธ.๕)

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "วัดภคินีนาถ" (PDF). รัฐสภา.
  2. "รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดภคินีนาถ วัดของพระน้องนาง". ผู้จัดการออนไลน์. 4 มีนาคม 2557.
  3. สมาน สุดโต (1 พฤษภาคม 2562). ""นอกชาน"สิ่งอัศจรรย์ในวัดภคินีนาถวรวิหาร". โพสต์ทูเดย์.

commonscat|Wat Phakhini Nat, Bang Phlat District, Bangkok|วัดภคินีนาถวรวิหาร}}