วัดพายัพ (จังหวัดนครราชสีมา)

วัดในจังหวัดนครราชสีมา

วัดพายัพ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

วัดพายัพ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดพายัพก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2200 ไม่สามารถค้นหาประวัติว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างเมืองนครราชสีมาเสร็จแล้ว ได้ทรงสั่งบูรณะวัดที่อยู่ในกำแพงเมืองนครราชสีมา ทั้ง 6 วัด คือ วัดพระนารายณ์มหาราช วัดบูรพ์ วัดสระแก้ว วัดบึง วัดพายัพ และวัดอิสาน วัดพายัพได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2508 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 2240 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2539

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551 มีการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง[1]

อาคารเสนาสนะ แก้

 
พระพุทธรูปภายในถ้ำ วัดพายัพ

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถศิลปะอยุธยาตอนปลาย มีรูปทรงแอ่น โค้งคล้ายเรือสำเภา ใช้ธรรมจักรตกแต่งบริเวณซุ้มหน้าต่างรอบอุโบสถ ภายในประดิษฐานพระประธาน ปางปฐมเทศนาห้อยพระบาท ภายนอกมีกำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูน เสากลม ทรงไทยแบบเสาตะลุงล่ามช้าง ยอดเสาลูกแก้วเม็ดทรงมัณฑ์

กุฏิวายุภักษ์ อาคารทรงไทย 2 ชั้น ชั้นบนเป็นสำนักงานเจ้าอาวาส ชั้นล่างเป็นถ้ำหินงอกหินย้อยจำลอง ก่อด้วยอิฐถือปูน มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เป็นนกนกวายุภักษ์ ซึ่งเป็นนกประจำทิศพายัพ หอพระธรรมจักร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยประยุกต์ รูประฆังยอดโดมติดวงล้อธรรมจักร และหอระฆัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงบุษบก กว้าง 5 เมตร สูง 5 เมตร

วัดยังมีพระบรมราชานุเสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในท่าประทับยืน ประดิษฐานอยู่ในศาลาทรงไทย ก่อด้วยอิฐถือปูน โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-แผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2511 และสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 81[2]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระครูปลัดหร่าย อินฺทโชโต พ.ศ. 2469–2507
  • พระศรีวราภรณ์ (พิศวงศ์ พุทฺธสโร) พ.ศ. 2508-2519
  • พระราชวิมลโมลี (ดำรง ทิฏฐธมฺโม) พ.ศ. 2520–2559
  • พระศรีวชิรานุวัตร (พงษ์เชฏฐ์ ธีรวํโส) พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "วัดพายัพ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดพายัพ". สารสนเทศท้องถิ่นนครราชสีมา.