วัดพระแท่นศิลาอาสน์

วัดในจังหวัดอุตรดิตถ์

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ เดิมชื่อ วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ที่บนเนินเขาเต่า หรือเขาทอง บ้านพระแท่น ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ติดกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บนเนินเขาลูกเดียวกันแต่คนละยอด

วัดพระแท่นศิลาอาสน์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระแท่นศิลาอาสน์
ที่ตั้งตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ 53210
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายเถรวาท (ธรรมยุตินิกาย)
เจ้าอาวาสพระวินัยสาทร (ถวิล ถาวโร)
ความพิเศษพระอารามหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระแท่นศิลาอาสน์ ปูชนียวัตถุสถานสำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์
จุดสนใจสักการะพระแท่นศิลาอาสน์, ชม พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนา ภายในวัด
กิจกรรมงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน สาม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้าง และสร้างแต่เมื่อใด ในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏข้อความกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ แต่เพิ่งมีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ เมื่อปี พ.ศ. 2283 ได้แสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์ได้มีมาก่อนหน้านี้แล้ว จนเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง และทางราชการได้นำพระแท่นศิลาอาสน์ไปประดิษฐานไว้ในตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แสดงถึงความศรัทธาเลื่อมใสและความสำคัญขององค์พระแท่นศิลาอาสน์ได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดธรรมยุตินิกาย เมื่อปี พ.ศ. 2549[1]

พระแท่นศิลาอาสน์ แก้

 
"องค์พระแท่นศิลาอาสน์" ตัวพระแท่นทำด้วยศิลาแลง

พระแท่นศิลาอาสน์เป็นพุทธเจดีย์ เช่นเดียวกับพระแท่นดงรัง เป็นที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งห้าพระองค์ในภัทรกัปนี้ ได้เสด็จและจะได้เสด็จมาประทับนั่งบนพระแท่นแห่งนี้ เพื่อเจริญภาวนา และได้ประทับยับยั้งในเวลาที่ตรัสรู้แล้ว เพื่อโปรดสัตว์ ซึ่งแสดงว่าพระแท่นศิลาอาสน์นี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ในพระพุทธศาสนามายาวนาน ตัวพระแท่นเป็นศิลาแลง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8 ฟุต ยาวประมาณ 10 ฟุต สูง 3 ฟุต ที่ฐานพระแท่นประดับด้วยลายกลีบบัวโดยรอบ มีพระมณฑป ศิลปะเชียงแสนครอบ อยู่ภายในพระวิหารวัดพระแท่นศิลาอาสน์

ประวัติ แก้

ไฟล์:วัดพระแท่น..jpeg
ภาพถ่ายเก่าพระวิหารหลวงประดิษฐานองค์พระแท่นศิลาอาสน์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันได้ทำการบูรณะใหม่แล้วหลังจากถูกไฟป่าไหม้ไปเมื่อปี พ.ศ. 2451

ในคัมภีร์ปัญจพุทธพยากร ซึ่งเป็นเรื่องแทรกอยู่ท้ายปัญญาสชาดก และตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองทุ่งยั้ง ได้กล่าวว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ 5 พระองค์ คือ กุกกุสันธโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นไก่เถื่อน โกนาคมนโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นนาคราช กัสสปโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นเต่า โคดมโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นโคอศุภราช เมตเตยยโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ ทั้ง 5 พระองค์ ได้มาบำเพ็ญบารมี ณ ระหว่างซอกเขากันทรบรรพต ต่างสัญญากันว่า ผู้ใดได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะต้องมาประกาศความเป็นพระพุทธเจ้าให้ปรากฏไว้ในที่นี้

เมื่อกุกกุสันธโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงเสด็จมาประทับบนแผ่นศิลา ณ กันทรบรรพต ทรงลูบพระเศียรประทานเส้นพระเกศาแด่หมู่พระอรหันต์ หมู่พระอรหันต์จึงมอบไว้กับพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงประดิษฐานพระเกศธาตุนั้นไว้ ณ บริเวณนั้น พระกุกกุสันธพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพาน จะมีกษัตริย์นำพระธาตุของพระองค์มาบรรจุ ณ เมืองนี้ แม้พระธาตุของพระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ก็จะมาอยู่ที่นี้เช่นเดียวกัน

สมัยโคดมโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระโคตมพุทธเจ้า พระองค์พร้อมกับพระอรหันต์ 500 องค์ ได้เสด็จมาประทับยับยั้งกันทรบรรพตนอกเมือง ภายหลังเรียกเมืองนั้นว่า ทุงยันตินคร (เมืองทุ่งยั้ง) เจ้าอาย (เอยยะ/อัยยะ) ลูกนายไทยซึ่งเป็นใหญ่แก่คนทั้งหลายบริเวณนั้น จึงได้ประกาศให้ชาวเมืองนำเต้าแตงถั่วงาปลาอาหารมาถวาย พระพุทธเจ้าจึงได้เทสนาสั่งสอน พระอานนท์ได้นำบาตรพระพุทธเจ้าไปแขวนห้อยไว้บนต้นพุทรา ภายหลังเรียกว่า ต้นพุทราแขวนบาตร พระเรวตะเตือนพระอานนท์ว่าได้เวลาภัตตกิจแล้ว พระอานนท์จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าให้กระทำภัตตกิจ แล้วพับผ้าสังฆาฏิ 4 ชั้น ปูผ้าเหนือแท่นศิลา พระพุทธเจ้าจึงทรงกระทำภัตตกิจบนแท่นศิลาที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์เคยนั่งบำเพ็ญบารมี ภายหลังเรียกว่า พระแท่นศิลาอาสน์

เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้วพระพุทธเจ้าทรงแย้มพระสรวล พระอานนท์กับพระเรวตะจึงทูลถามถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า อีกเดียวจะมีมหายักษ์ผู้หนึ่งได้นำเอาน้ำใส่คนโทแก้วมาถวาย ต่อมามีมหายักษ์นำคนโทแก้วใส่น้ำมาถวายจริง ๆ มหายักษ์ได้เหยียบมดง่ามใหญ่ 3 กำ ยาว 3 ศอก 4 ตัว ที่กำลังสูบดมกลิ่นภัตตาหารที่พระพุทธเจ้าเสวย แล้วไล่มดไป (ตำนานพระแท่นศิลาอาสน์ว่ามหายักษ์ให้มดง่ามนำคนโทแก้วไถวายพระพุทธเจ้า) พระพุทธเจ้าได้ตรัสให้ศีล 5 แก่มหายักษ์ มหายักษ์เลื่อมใสได้ถอดเขี้ยวแก้วถวายและลากลับไป และมีพุทธฎีกากับพระอานนท์ว่า ภายหลังพระองค์ปรินิพพานไปได้ 2,000 ปี มดง่ามทั้ง 4 จะได้กลับมาเกิดเป็นกษัตริย์ ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ใส่กระโถนศิลาแลงข้างพระแท่น ภายหลังเรียกว่า บ้วนพระโอษฐ์ (จากการค้นคว้าของอาจารย์ธีระวัฒน์ แสนคำ พบว่าเดิมวิหารพระแท่นศิลาอาสน์มีมุขยื่นออกมาจากตัววิหารด้านทิศเหนือเรียกว่า "มุขบ้วนพระโอษฐ์" ประดิษฐานบ้วนพระโอษฐ์ไว้ที่นั้น ภายหลังวิหารไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2451 ช่างบูรณะได้ตัดส่วนมุขบ้วนพระโอษฐ์นี้ไปเสีย ปัจจุบันบ้วนพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าถูกทิ้งไว้ข้าง ๆ ซุ้มประตูพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดพระแท่นศิลาอาสน์)[2]

ครั้นเสร็จแล้วพระองค์จึงลุกจากแท่นศิลา มาประทับยืนเหนือแท่นศิลาบนภูเขาอีกยอด หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ทอดพระเนตรหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ภายหลังเรียก หนองพระแล พระองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทบนก้อนศิลานั้น ภายหลังคือวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีพญากวางทองตัวพร้อมด้วยสัตว์บริวารทั้งหลาย คือ ช้าง ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือดาว นกแก้ว นกสาลิกา กระรอก พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า กระทำการน้อมตัวอภิวันทนาการ พระพุทธเจ้าทรงแย้มพระสรวล พระเรวตะจึงทูลถามถึงสาเหตุที่พระองค์ทรงแย้มพระสรวล พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว จะมีการนำพระธาตุของพระองค์มาบรรจุ ณ เมืองแห่งนี้ เมื่อผ่านไปได้ 2,000 ปี พญากวางทองจะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ สละสมบัติออกบวช มีนามว่า ปูริชาชิอุรุภิกษุ จะมาบูรณะให้รุ่งเรือง พร้อมกับบริวารสัตว์ก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์เช่นกันแต่คนละแห่ง ทั้งหมดจะพาครอบครัวมาอยู่บริเวณนี้จนเจริญรุ่งเรือง พระมหากษัตริย์และเทพดามนุษย์ทั้งหลายจะพากันมาสักการะ และเมื่อผ่านไป 2,000 ปี จะมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ทรงพระนามว่า สริราชวงศ์ ครองทุงยันตินคร และจังโกธิบดี ครองลโวตินคร (ละโว้) จะยกพระพุทธรูปสูง 18 ศอก ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่านขึ้นด้วยพระราชศรัทธา แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในราชรถ นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในบริเวณแท่นศิลาที่พระพุทธเจ้าเคยประทับยืน แล้วพระองค์เสด็จลงจากเนินเขาไปทางทิศเหนือเพื่อเดินจงกรม จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาบรรทมเหนือแท่นศิลาบริเวณเนินเขาอีกยอด ภายหลังคือวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จไปเมืองอื่นต่อไป

เมื่อผ่านไป 2,000 ปี มีพระมหากษัตริย์พระนามว่า พระญาสรีธัมมาโสกราช เสด็จมายังทุงยันตินคร ให้ขุดหลุมลึก 18 วา กว้าง 18 ศอก หล่ออ่างทองเอาน้ำใส่ในอ่างนั้นจนเต็มแล้ว หล่อรูปราชสีห์ทองคำตั้งไว้ในอ่างทอง หล่อรูปผอบทองคำตั้งไว้บนหลังรูปราชสีห์ทองคำ แล้วหล่อรูปพระนารายณ์ทองคำ พระหัตถ์ถือผอบแก้วบรรจุพระธาตุ ตั้งไว้บนผอบทองคำหลังรูปราชสีห์ทองคำ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หล่อรูปปราสาททองคำ หล่อรูปพระอินทร์ถือจักรทางทิศตะวันตก หล่อรูปท้าววิรุฬหกถือพระขรรค์ทางทิศใต้ ทำรูปภาพยนตร์เคลื่อนไหวไปมาหมุนอยู่รอบ ๆ ที่นั้น พระญาสรีธัมมาโสกราชสั่งรูปเหล่านั้นรักษาพระธาตุไว้ให้ดี แล้วปิดหลุมด้วยทองเงินอิฐหินกรวดทราย แเกลี่ยพื้นดินเสียให้เรียบ ปลูกต้นรังบริเวณนั้น แล้วเสด็จไปมาเลยยาราม (สวรรคโลก)

เมื่อผ่านไป 2,000 ปี พญากวางทองได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นภิกษุ มีนามว่า มหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ เวลานั้นมีคนเข็ญใจเทียมวัวออกไปทำไร่ถั่วบริเวณใกล้กับต้นรัง พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์แผ่ฉัพพรรณรังสี วัว 2 ตัวเห็นก็ตกใจหนีไป ฝ่ายคนเข็ญใจจึงนำความไปบอกนายคามกูต นายคามกูตจึงพาคนเข็ญใจไปเล่าเรื่องให้พระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุ พระมหากาลิเทยยปูชิราชิอุรุจึงออกไปดูบริเวณต้นรัง และอธิษฐานขอให้พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ พระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ ทั้งสามเกิดความศรัทธาเลื่อมใส จึงชักชวนคนทั้งหลายมาตัดต้นรังออก แล้วก่อพระเจดีย์สูง 5 วา 2 ศอก ภายหลังคือวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง นายคามกูตขุดหลุมลึก 1 ศอกกับกำมา 1 เอาเงินหมื่นหนึ่งฝังไว้ อธิษฐานว่าถ้าใครจะมาบูรณะพระเจดีย์ให้พบเงินในหลุมนี้ มารดาของนายคามกูตได้ขุดหลุมลึก 1 ศอกกับกำมา 1 เอาทองฝังไว้ แล้วเอารูปปลาตะเพียนศิลาปิดหลุมไว้ อธิษฐานเช่นเดียวกับนายคามกูต

ยังมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ทรงพระนามว่า สริราชวงศ์ ครองทุงยันตินคร และจังโกธิบดี ครองลโวตินคร (ละโว้) ได้ไปยกพระพุทธรูปสูง 18 ศอก ซึ่งจมอยู่ในแม่น้ำน่าน บริเวณตำบลพระจมขึ้นมาด้วยพระราชศรัทธา แล้วนำมาประดิษฐานไว้ในราชรถ ประโคมด้วยสุวรรณบัณเฑาะว์ นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ในบริเวณแท่นศิลาที่พระพุทธเจ้าเคยประทับยืน[3] [4]

สันนิษฐานว่าตำนานพระแท่นศิลาอาสน์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา เนื่องจากเมืองทุ่งยั้งอยู่ติดกับเขตล้านนา แม้ตำนานจะอ้างถึงยุพุทธกาล แต่พระแท่นศิลาอาสน์ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพียงช่วงยุคกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น

พ.ศ. 2283 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์อยุธยา เสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ณ เมืองพิษณุโลก แล้วเสด็จไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ พระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี สมโภชที่ละ 3 วัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

ครั้นลุศักราช ๑๑๐๒ ปีวอก โทศก ถึง ณะ เดือนสิบสอง สมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเสดจ์พระราชดำเนีรเปนขบวนพยุหบาตราใหญ่ทั้งทางบกทางเรือพร้อมจัตุรงคโยธาหาร สารสินทพอเนกนา ๆ แลนาวาเปนอันมาก เสดจ์ขึ้นไป ณะ เมืองพิณณุโลก นมัศการพระพุทธชินราช ชินศรี แล้วเสดจ์พระราชดำเนีรขึ้นไป ณะ เมืองพนมมาศ ทุ่งยั้ง นมัศการพระแท่นสินลาอาษณ์ แลพระมหาธาตุ์ ณะ เมืองสวางคบูรี ให้มีงานมหรรศภสมโพธแห่งละสามวัน แล้วเสดจ์กลับพระนคร

— พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน

[5]

พ.ศ. 2297 ออกพระศรีราชไชยมหัยสูรินทบูรินทพิริยะพาหะพระท้ายน้ำ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาสวรรคโลก ขึ้นมาตรวจพบวิหารร่มพระแท่นศิลาอาสน์ที่เมืองทุ่งยั้งชำรุดทรุดโทรมมาก จึงขอพระบรมราชานุญาต รื้อทำใหม่ โดยเกณฑ์พลเมืองลับแล เมืองทุ่งยั้ง รื้อวิหารร่มและกำแพงลงเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสาม ปีจอ พ.ศ. 2297 ได้ก่อรากวิหารร่มขึ้นใหม่เมื่อวันเสาร์ แรม 10 เดือน 3 พ.ศ. 2298 ทำการฉลองวิหารร่มหลังใหม่เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2301 ใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 4 ปี[6]

พ.ศ. 2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ชำระพระสงฆ์หัวเมืองฝ่ายเหนือ เสร็จแล้วเสด็จไปนมัสการสมโภชพระมหาธาตุเมืองสวางคบุรี 3 วัน บูรณะพระอารามให้บริบูรณ์ เสด็จไปนมัสการสมโภชพระแท่นศิลาอาสน์ เมืองศรีพนมมาศทุ่งยั้ง 3 วัน เสด็จลงไปนมัสการสมโภชพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลก 3 วัน เสด็จลงไปนมัสการสมโภชพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ 3 วัน แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงธนบุรี

พ.ศ. 2426 พระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarthy) ขณะเดินทางกลับจากเมืองหลวงพระบาง ได้แวะชมพระแท่นศิลาอาสน์ บันทึกไว้ว่า

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองอุตรดิตถ์ มีสถาปัตยกรรมเหมือนวัดสยามทั่วไปที่ปิดทองเหลืองอร่าม บานประตูขนาดใหญ่แกะลวดลายวิจิตรงดงาม กล่าวกันว่าเก่าแก่มาก ในพระวิหารมีพระมณฑปสร้างคร่อมแท่นหินปิดทอง ยาว ๑๒ ฟุต กว้าง ๖ ฟุต สูง ๒ ฟุต ตรงกลางเป็นรอยพระพุทธบาท ลึก ๖ นิ้ว ชาวบ้านนิยมมาปิดทองคำเปลวมากมาย รอบพระแท่นมีพระพุทธรูปหลายองค์ ผู้แสวงบุญที่มีศรัทธาจุดธูปเทียนบูชาพระและก็จุดบุหรี่จากเทียนดังกล่าวต่อ เป็นเรื่องแปลกและน่าขบขันไม่น้อยขณะที่คนหนึ่งกำลังจุดเทียนไหว้พระ อีกคนก็จ้องจะจุดบุหรี่ แต่ทุกคนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครว่ากล่าวอะไร ในวัดมีพระสงฆ์มากมายหลายรูป บางรูปก็หารายได้จากการรักษาผู้ป่วยหรือให้เช่าวัตถุมงคลป้องกันผีร้าย

— surveying and exploring in siam

[7]

พ.ศ. 2428 นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสง-ชูโต) นำกองทัพขึ้นมาประชุมพลที่เมืองพิชัย เพื่อจะยกไปทำสงครามปราบฮ่อในแขวงหัวพันและสิบสองจุไท ได้แวะมานมัสการพระแท่นศิลอาสน์ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม) เขียนถึงสภาพวัดไว้ว่า

พลางดูแท่นแผ่นผาศิลาลับ เข้าลูบจับจิตพะวงคิดสงสัย
เห็นพื้นแผ่นแล่นตะกั่วบุทั่วไป แลข้างในปูนสอก่อขึ้นมา
สูงหนึ่งศอกเสริมวางกลางมณฑป วัดตลบเหลี่ยมแท่นที่แผ่นผา
ได้หกศอกหกนิ้วยาวดังกล่าวมา กว้างได้ห้าศอกชัดสกัดกัน
ที่กลางแท่นทำเป็นช่องมองแล้วล้วง เป็นรุ่งร่วงรอยกลมช่างคมสัน
สำหรับใส่เงินทองของสำคัญ เป็นเครื่องกัณฑ์เก็บใส่ไว้บูชา
ชื่อพระแท่นแผ่นผาศิลาอาสน์ ไยมาดาดดีบุกไว้ไฉนหนา
นั่งพินิจพิศวงนึกสงกา สุดปัญญาที่จะแยกออกแจกแจง
ทัศนาอุโบสถงามหมดเหมาะ ช่างจงเจาะจัดไว้มิได้แหนง
พื้นศิลาลาดเลี่ยนเขาเปลี่ยนแปลง ค่อยตกแต่งสะอาดตาไม่ราคิน
โบสถ์ด้านขวางกว้างยี่สิบสี่ศอก ยาววัดออกสิบวาน่าถวิล
เสาทาชาดพิลาสล้วนก็ควรยิน ทรงกระบินทองระบายเป็นลายลอย
ผนังเขียนรูปภาพสอดสาบสี เรื่องบาลีละกิเลสเหตุละห้อย
รูปพระสงฆ์ปลงอสุภด้ายบุบดอย ตราสังร้อยรัดทิ้งดูนิ่งนอน
แลดูบานทวารวุ้งเป็นรุ้งร่วง สลักดวงดอกผการุกขาขอน
มีรูปเทพนมรายขจายจร นาคกินนรนรสิงห์งามจริงเจียว
สิงโตตั้งตากลมอมลูกหิน ไม่มีลิ้นแลแปลกยังแยกเขี้ยว
คอหอยตันฟันมีอยู่ซี่เดียว ทำองค์เอี้ยวโอษฐ์อ้านัยน์ตาพอง
กำแพงแก้วก่อกั้นเป็นคันคอก ที่มุมศอกมีพุทราสาขาสอง
ยอดเอนสู่บูรพทิศดังจิตปอง เอาอิฐกองก่อกันไว้มั่นคง
ซึ่งเรียกว่าพุทราที่แขวนบาตร พึ่งผุดผาดผ่องพ้นต้นระหง
พื้นอาวาสกวาดกว้างในกลางดง มีคนคงคอยรักษาพระอาราม
นิราศเมืองหลวงพระบาง

[8]

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทรงแวะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์

6 มิถุนายน พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้เสด็จมานมัสการและทอดพระเนตรโบราณสถานวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงกล่าวถึงพระแท่นศิลาอาสน์ในจดหมายระยะทางไปพิษณุโลกว่า

ลงจากเนินวัดพระยืนก็ขึ้นเนินพระแท่น มีวิหารหลังหนึ่ง ชอบกลมาก รูปร่างนั้นเก่า ฝาอิฐหลังคาแปเหลี่ยมแต่วางตะแคง แต่เมื่อดูข้างในเห็นเป็นเครื่องประดุ จึงเข้าใจได้ว่าไขราเห็นจะผุแล้วซ่อมต่อใหม่ แต่ช่างลักขู ต่อตะแคงเสียอย่างเดี๋ยวนี้ วิธีลดมุขก็ชอบกล มุขหน้าลดลงมากจนทำลายหน้าบรรพ์ชั้นบนได้อย่างมุขเด็จ แต่จะเรียกมุขเด็จไม่ได้ ด้วยมีพาไลเท่าใน ลวดลายนั้นก็ป่นปี้ เห็นได้ว่าทำเปนการซ่อมติดต่อกันหลายหน คือหน้าบรรพ์นอกเป็นลายจีน ในประธานเปนพระจีนมีสาวกสองข้าง พาไลยเป็นปลากินสาหร่ายแลอื่น ๆ อีก ขี้เกียจจดจำ แต่ล้วนเปนลายข้างจีนทั้งนั้น คงจะมีช่างจีนอะไรมาซ่อมสักคราวหนึ่ง หน้าบรรพ์ในเป็นลายไทยก้านขด ปลายออกเป็นภาพดอกใบเปนกนกแกมช่อไม้พระเจ้าห้าพระองค์ ฝีมือไม่เก่งแลไม่สู้เก่า ช่อฟ้าใบรกาก็ไม่ใช่ปั้นปูนอย่างเก่า ทำด้วยไม้อย่างไม่ดีในกรุงเทพ แต่ทวยเก่า รูปอย่างใช้ทุกวันนี้ แต่ไม่มีกนกหลังเพราะทวยตั้งชันมาก ด้วยเชิงชายสั้นกนกหลังเข้าไม่ได้

ซุ้มประตูเปนซุ้มจรณำตามธรรมเนียม แต่ทรงเปนอย่างเก่า ลายบรรพเปนเทพประนมมีกนกแทรกนิดหน่อย บานประตูเปนบานสลักอย่างสวรรค์เช่นบานพระวิหารวัดสุทัศน์กรุงเทพ ข้างลาวเขาเรียกว่าแกะ เพราะเขาทำด้วยพร้าเล่มเดียวเท่านั้น บานประตูนี้ ได้ตั้งใจมาแต่กรุงเทพว่าจะดูเพราะมีคนบอกว่าสลักงามนัก แต่เมื่อได้ดูแล้วออกเสียใจ ที่มันไม่งามเหมือนคาดหมาย คือลายก็ไม่สู้ดี ฝีมือแกะก็โปนเกินเหตุแลหยาบ ไม่ใช่แกะในตัวแท้ ต่อบ้าง ความโปนนั้นหนาเต็มเช็ดหน้า ตัวลายนั่น ล่างสุดเปนยักษ์สามตัวแบกฐานปัทม์ บนฐานปัทม์มีก้านขดงอกขึ้น ๖ ขดวงเดียว เรียงกันขึ้นไป ปลายขดล่างออกเปนรูปครุฑจับนาด ขดที่ ๒ เป็นกินนรรำ ขดที่ ๓ เป็นคชสีห์ ขดที่ ๔ เป็นกินนรรำ ขดที่ ๕ เป็นหัวราชสีห์ ขดที่ ๖ เปนกินนรรำ รูปกินนรแลครุฑเปนอย่างเก่าชั้นสรวมเทริด ที่ก้านลาย มีกาบเปนหน้าคาบบ้าง เป็นตัวผักบุ้งบ้าง ใบเปนใบไม้รูปเซ่อ ๆ อย่างใบมม่วงเรานี่เอง ไม่เปนลายที่คิดอยากน่าชมเลย อกเลาเปนรูปเทพประนมมีสินเทา ต่อซ้อนกันเปนรักร้อย เทพประนมสรวมเทริดประจำยามอกเลาไม่ยกเปนหน้าตรง หลบเหลี่ยมตามรูปอกเลาทั้งท้ายแลหัวกลางด้วย

ผนังโบสถ์เขียนเรื่องปฐมสมโพธิ์ เปนฝีมือบ้านนอก ดูไม่สู้เก่า แต่จะราวคราวไหนประมาณไม่ถูก เพราะยังไม่คุ้นเคยกับมือบ้านนอก ตัวพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ประดิษฐานอยู่ท่ามกลางวิหารภายในบุษบก พระแท่นนั้นมีขนาดวัดได้กว้าง ๒ เมตร ๑๔ เซนต์ ยาว ๓ เมตร ๔๙ เซนต์ มีความเสียใจที่ไม่ใช่ศิลา เปนก่ออิฐถือปูนเปนฐานบัลลังก์ทำลายอย่างปั้นไม่เปน ปิดทองล่องชาดพื้น ข้างบนปิดด้วยแผ่นโลหะปิดทอง กลางเจาะรูเปนที่ทิ้งเงินเรี่ยรายลงในพระแท่น พระอุตรดิฐว่าศิลาอยู่ข้างใน เขาก่อปูนเสริมไว้ข้างนอก อาจจะเห็นได้ในรูที่ทิ้งเงิน จึงได้เอาไม้ติดเทียนส่องลงไปดูก็เห็นแต่อิฐ เปนรอยขุดเป็นบ่อไว้พอที่จะขังเงินไว้ได้ เมื่อสิ้นฤดูนมัศการแล้ว ว่าเอาไม้ติดขี้ผึ้งจิ้มเอาเงินขึ้นมา กรมการรวบรวมไว้จัดการปฏิสังขรณ์ บุษบกที่ทรงพระแท่นนั้นทรงดูได้ คนเปนทำ เปนของรุ่นเก่าด้วย เสาไม้สิบสองนั้นเปนมุมละ ๓ เสา ตั้งห่างกัน เหมือนธรรมาศน์เทศน์ที่วัดมหาธาตุพิษณุโลกดังนี้ เดี่ยวเสาสั้น ยอดทรงแจ้สมกันดี แต่ลายซ่อมใหม่เสียมากแล้ว แลถึงลายเก่าก็ไม่สู้จะเก่งอะไรนัก

ข้างหัวพระแท่นมาข้างหน้าวิหารมีโต๊ะหมู่ตั้งเครื่องบูชาอย่างจีน ๆ มาก มีโกฐกดูกตั้งอยู่ด้วยใบหนึ่ง เห็นจะเปนท่านผู้ปฏิสังขรณ์ ที่ตอกหน้าบรรพ์ไว้เปนเจียกนั้น หลังพระวิหารยกเปนแท่นมีพนัก แลผนังเจาะเปนคูหา บรรจุพระเต็มไปหมดทั้งบนแท่นแลในคูหา งามก็มีไม่งามก็มี พระบ้านหล่อกรุงเทพก็มี ภายนอกวิหารด้านซ้าย ทำเปนมุขเล็กยื่นออกไปอย่างปอติโค (portico) ของเรือนฝรั่ง ในนั้นมีกะโถนหินตั้งไว้ใบหนึ่ง ปากกว้างประมาณศอกหนึ่ง ว่าเปนบ้วนพระโอฐพระพุทธเจ้า แลมีกุฎอีกหลังหนึ่งอยู่ริมนั้นแต่ห่างออกมาติดกับกำแพงแก้ว ในนั้นมีพระหัก ๆ เล็ก ๆ มาก ข้างขวาวิหารมีต้นพุทราต้นหนึ่ง เรียกว่าพุทราห้อยบาตร

— จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก

[9]

24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้เสด็จนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ตามพระราชหัตถเลขากล่าวว่า

ที่บริเวณพระแท่นนั้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เปนกำแพงหนาอย่างวัดโบราณ มีวิหารใหญ่หลังหนึ่งโตกว่าพระแท่นดงรัง ข้างในตรงกลางวิหารมีมณฑป ในมณฑปนั้นมีแท่นก่ออิฐถือปูนอย่างแท่นตั้งพระประธาน ยาว ๖ ศอกคืบ ๒ นิ้ว กว้าง ๕ ศอก ๔ นิ้ว ที่กลางเปนช่องสำหรับผู้มานมัสการบรรจุเงินแลเข็มตามปรกติ ปีหนึ่งได้เงินอยู่ใน ๑๐๐๐ บาท แต่เข็มได้ถึง ๒ ขัน ด้านริมผนังหลังวิหารมีพระพุทธรูปกองโต ต้นพุดซาอยู่ในกำแพงข้างขวาวิหาร ข้างซ้ายวิหารมีมุขยื่นออกไปเปนที่บ้วนพระโอษฐ แลประตูยักษ์อยู่ตรงนั้น แต่เยื้องกันหน่อยหนึ่ง มีวิหารอยู่ที่มุมกำแพงอิกวิหารหนึ่ง เปนที่พระเสี่ยงทาย หมดเท่านั้น เขาตั้งพลับพลาไว้พ้นลานน่าพระแท่นออกมาหยุดกินน้ำชา ที่นี่มีต้นสักเก่าบ้าง ปลูกขึ้นใหม่บ้าง

— พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ 5

[10]

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2448 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปมณฑลพายัพ ได้เสด็จแวะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ดังในพระนิพนธ์ลิลิตพายัพกล่าวว่า

๏ ที่สิบห้าพฤศจิกา ทรงอาชาแช่มช้อย
ราชญาติอมาตย์ต้อย ไต่เต้าตามเสด็จ ประพาสนา ฯ
๏ ยอกรก้มเกศเกล้า วันทา
แทบพระแท่นศิลา อาสน์น้อม
ผิวะโฉมวรนุชมา กับพี่
พี่จักพานุชค้อม เข่าคู้ถวายกร ฯ
ลิลิตพายัพ

[11]

16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2450 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทรงแวะนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์อีกครั้ง

วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2451 เกิดไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาถึงวัดจนไฟไหม้ทั้งวัด ไฟไหม้ครั้งนั้นเหลือกุฏิซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาพระยาวโรดมภักดีศรีอุตรดิตถ์นคร (อั้น หงสนันท์) เจ้าเมืองอุตรดิตถ์ ได้เรี่ยไรเงินสร้างและซ่อมแซมวิหารร่ม ภายในวิหารมีซุ้มมณฑปครอบพระแท่นศิลาอาสน์ไว้[12]

ลำดับเจ้าอาวาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ แก้

1. พระวินัยสาทร (ถวิล ถาวโร) พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน

งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ แก้

 
ปัจจุบันงานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ จัดขึ้นทุกปีโดยเริ่มวันงาน ตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน สาม

ประเพณีทำบุญไหว้พระแท่นศิลาอาสน์มีมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว มีผู้มาสักการบูชาทั้งในเทศกาลและนอกเทศกาลตลอดปี พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่า การได้มาสักการบูชาพระแท่นศิลาอาสน์ จะได้รับอานิสงส์สูงสุด และเช่นเดียวกับพระพุทธบาทสระบุรี พุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธา จะขวนขวายมานมัสการให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ตอนเหนือจังหวัดอุตรดิตถ์ จะพยายามเดินทางมานมัสการ พระแท่นศิลาอาสน์ แม้ว่าหนทางจะทุรกันดารเพียงใดก็ไม่ย่อท้อถอย และเห็นว่า เป็นการได้สร้างบุญกุศลที่มีค่าควร การมานมัสการจะกระทำทุกครั้งที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชา ณ วันเพ็ญ เดือนสาม

งานเทศกาลนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ณ วันเพ็ญ เดือนสาม อันเป็นวันมาฆบูชา จะเริ่มตั้งแต่ วันขึ้น 8 ค่ำ ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม บรรดาพระภิกษุสงฆ์จะธุดงค์มาปักกลดพักแรมที่บริเวณใกล้วัด เมื่อถึงวันมาฆบูชา เวลาประมาณ 19.30 น. พระภิกษุสงฆ์จะเข้าไปในพระวิหารแล้วสวดพระพุทธมนต์ มีพระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็ออกมาให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ในตอนเช้าของทุกวันในระหว่างเทศกาล บรรดาพระสงฆ์ที่ธุดงค์มานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์จะเดินทางเข้าไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน และบรรดาชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายที่วัดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะแบ่งปันอาหารร่วมรับประทานด้วยกัน รวมทั้งผู้ที่เดินทางมานมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ด้วย นับว่าเป็นการทำบุญกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี

เนื่องจากวัดพระนอนพุทธไสยาสน์และวัดพระยืนพุทธบาทยุคล มีอาณาบริเวณอยู่ติดต่อกัน จึงจัดงานประจำปีพร้อมกันกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์เป็นเวลา 8 วัน 8 คืน ทำให้พุทธศาสนิกชนที่มาในงานเทศกาลนี้ได้นมัสการพระบรมธาตุ และพระพุทธบาทด้วย เป็นการได้นมัสการพระพุทธเจดียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะได้ครบถ้วนในโอกาสเดียวกัน ยากจะหาที่ใดเสมอเหมือน

พระแท่นศิลาอาสน์ แก้

 
ตราประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ แสดงภาพมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์

ใน พ.ศ. 2483 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ดำริให้มีการออกแบบตราประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด และนำเสนอสถานที่สำคัญของแต่ละจังหวัดให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น คณะกรมการจังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้เสนอให้กรมศิลปากร นำรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มาประดิษฐ์เป็นตราประจำจังหวัด ตรานี้จึงได้รับการออกแบบครั้งแรกโดยพระพรหมพิจิตร เขียนลายเส้นโดย นายอุณห์ เศวตมาลย์ ลักษณะเป็นรูปมณฑปพระแท่นศิลาอาสน์มีลายช่อกนกขนาบอยู่สองข้างในวงกลม ต่อมาทางราชการจึงเพิ่มรูปครุฑ และอักษรบอกนามจังหวัดว่า "จังหวัดอุตรดิตถ์" เข้าไว้ที่ส่วนใต้ภาพพระแท่นด้วย ซึ่งตราดังกล่าวก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน[13]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง ยกวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวง, เล่ม ๑๒๓, ตอนที่ ๙๖ ง , ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙, หน้า ๑๖
  2. https://www.silpa-mag.com/history/article_39063
  3. https://vajirayana.org/ปัญญาสชาดก/ปัญจพุทธพยากรณ์
  4. ตำนานพระพุทธบาท ตำนานพระแท่นสิลาอาสน์ และ ตำนานพระฉาย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภนพิพัธนากร, 2486.
  5. ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)].
  6. https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมจดหมายเหตุ_สมัยอยุธยา_ภาค_1/หมวด_2/เรื่อง_12
  7. วิภาคภูวดล, พระ. สุทธิศักดิ์ ปาลโพธิ์ แปล. บุกเบิกสยาม การสำรวจของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาร์ธี) พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๓๖. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์, 2561
  8. https://vajirayana.org/นิราศเมืองหลวงพระบาง-และ-รายงานปราบเงี้ยว
  9. นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยา. จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2506.
  10. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขา คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือในรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ, 2520
  11. มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ลิลิตพายัพ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย (พิมพ์เป็นอนุสรณ์แด่พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร)) 2472.
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การปฏิสังขรณ์วิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งเป็นอันตรายด้วยลูกไฟเผาป่าปลิวมาตกไหม้, เล่ม ๒๖, ตอนที่ ๐ ง, ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๒, หน้า ๒๔๗
  13. สัญลักษณ์และเพลงประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ เก็บถาวร 2011-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (เว็บไซต์ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้