วัดพระเจ้าล้านทอง

วัดในจังหวัดเชียงราย

วัดพระเจ้าล้านทอง เป็นวัดและโบราณสถานในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองเชียงแสน วัดพระเจ้าล้านทองเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงแสน เป็นประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงแสน

วัดพระเจ้าล้านทอง
อุโบสถวัดพระเจ้าล้านทอง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ประเภทโบราณสถาน
พระประธานพระเจ้าล้านทอง
พระพุทธรูปสำคัญพระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสน, พระเจ้าแสนแสว้ (แสนแซ่), พระเจ้าทองทิพย์
ความพิเศษวัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานสะดือเวียงเชียงแสน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดพระเจ้าล้านทอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2032 โดยพระยาสรีรัชฏเงินกอง (หมื่นหอยงั่ว หรือ หมื่นงั่ว) เจ้าเมืองเชียงแสน ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาราชวงศ์มังราย องค์ที่ 9 เมื่อครั้งวันที่หมื่นงั่วได้ครองเชียงแสน ได้เกิดเหตุการณ์อันพิศดารคือ มีเงินทองงอกโผล่มาจากพื้นดินในบริเวณลานราชฐานเป็นกอง จึงได้พระนามยศใหม่ว่า พระยาสรีรัชฏเงินกอง เมื่อเฉลิมฉลองกับตำแหน่งและพระนามใหม่แล้ว พระยาสรีรัชฏเงินกองพร้อมเสนาอามาตย์ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น สร้างวิหาร 1 หลัง กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร ณ บริเวณหัวใจเมือง พร้อมหล่อพระพุทธรูปสำริดด้วยสาร 5 ชนิด น้ำหนักล้านหนึ่ง (1,200 กิโลกรัม) และสร้างเจดีย์ขึ้น 1 องค์ ฐานกว้าง 6 เมตร สูง 14 เมตร บรรจุหัวใจพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แล้วให้ชื่อว่าวัดพระเจ้าล้านทอง ตามพื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า

"ยามนั้นพระญาอติโลกราชเจ้าค็จิ่งยกเอาหมื่นหอยงั่วตนเปนหลาน อันเปนพรองเมืองมาแต่ก่อนนั้น หื้อขึ้นกับเมืองเล่าแล ทีนี้จักจาด้วยหมื่นงั่ว ได้เสวิยเมืองเงินยางเชียงแสนที่นี่ก่อนแล สกราชได้ 851 ตัว (พ.ศ. 2032) เดือน 5 ออก 7 ค่ำ วัน 4 แล ในรวายตรีคืนอันท่านได้ขึ้นเสวิยราชสัมปัตตินั้น โลหะแลหิรัญญะคือว่า เงินทองค็บังเกิดบุแผ่นดินออกมาตั้งอยู่ในข่วงราชฐานแห่งท่านเปนกอง ตั้งอยู่ค็มีแลที่นั้น ลวดค็ปรากฏนามวิเลสว่า พระญาสรีรัชฏเงินกอง ว่าอั้นค็มีแล

แต่เมื่อสกราชได้ 851 ตัว นั้นมาพระญารัชฏเงินกองตนนั้น ท่านค็มาด้วยเสนาอามาตย์ทังหลายค็ส้างวัดหลัง 1 วิหารกว้าง 5 วา ยาว 9 วา ยังที่หัวใจเมืองนั้นแล้ว ค็ส้างยังพระพุทธรูปเจ้าองค์ 1 หน้าเพลามี 4 สอกปลาย 2 กำฝู หล่อด้วยทองปัญจะทังมวล เสี้ยงทอง 5 สิ่ง ล้านนึ่ง แล้วส้างเจติยะ กว้าง 3 วา สูง 7 วา จุธาตุหัวใจพระพุทธเจ้าองค์ 1 แล้วใส่ชื่อว่า วัดพระเจ้าล้านทอง ว่าอั้นแล"[1]

ภายหลังเมื่อเมืองเชียงแสนถูกตีแตก และได้รับการฟื้นฟูใหม่ใน พ.ศ. 2420 โดยการนำของพระยาราชเดชดำรง (เจ้าอินต๊ะ) เจ้าเมืองเชียงแสนในยุคฟื้นฟูเมืองคนแรก ได้เกณฑ์ชาวเมืองลำพูนและชาวเชียงแสนเดิมที่อพยพไปอยู่เชียงใหม่ - ลำพูน กลับมาแผ้วถางและร่วมมือฟื้นฟูวัดวาอารามต่างๆ วัดพระเจ้าล้านทองจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง[2]

พระพุทธรูปสำคัญ แก้

พระเจ้าล้านทอง แก้

 
พระเจ้าล้านทองในอุโบสถ

พระเจ้าล้านทอง สร้างในปี พ.ศ. 2032 โดยพระยาสรีรัชฏเงินกอง หนักประมาณ 1,200 กิโลกรัม หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตรเศษ

พระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสน แก้

พระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสน เดิมประดิษฐานอยู่วัดเจดีย์หลวง เชียงแสน ขณะยังเป็นวัดร้าง ต่อมาถูกอัญเชิญประดิษฐานที่วัดพระเจ้าล้านทอง ใต้ฐานมีจารึก แต่ไม่ค่อยชัด ปริวรรตโดย นายณัฐพงษ์ ปัญจบุรี ความว่า

...ขาสองเจ้าแม่ลู(ก)
...หล่อพระหาม...ลิ   
...หล่อไว้ใน(พิหาร)
...วัดนี้ ให้...  

พื้นเมืองเชียงแสนกล่าวว่า พ.ศ. 1925 มหาเถรเจ้าสิริวังโสนำพระพุทธรูป 2 องค์คือ พระแก้ว พระคำ มาจากช้าพร้าว ใคร่สร้างวัดบนเกาะดอนแท่น จึงให้คนไปทูลขออนุญาตพญากือนา ยามนั้นพระองค์ป่วย จึงขออนุญาตมหาเทวีเจ้า (นางยสุนทรา) เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว สิริวังโสมหาเถรจึงชักชวนนายกอง นายแพง สร้างวัดพระแก้ว วัดพระคำบนเกาะดอนแท่น แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 1929 แล้วแผ่บุญถวายเป็นพระราชกุศลแด่พญาแสนเมืองมา และมหาเทวีทั้ง 2 แม่ลูก มหาเทวีมีอาชญาให้หมื่นยี่นาขุน (พระมังขุนยี่) เจ้าเมืองเชียงแสนไปถวายทานนา 5 นา กับ คน 2 คนไว้กับวัดพระแก้ว วัดพระคำ อภิชิต ศิริชัย สันนิษฐานว่าสองเจ้าแม่ลูกในจารึกพระสิงห์หนึ่งชุ่มเชียงแสนคือ นางยสุนทราเทวีและพญาแสนเมืองมา เป็นไปได้ว่าทั้งสองพระองค์อาจมีคำสั่งให้เจ้าเมืองเชียงแสนหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ถวายในวัดใดวัดหนึ่งในเมืองเชียงแสน หรืออาจเป็นวัดเจดีย์หลวงก็เป็นได้ เพื่อเป็นการทำบุญในเหตุการณ์ครั้งนี้[3]

พระเจ้าแสนแสว้ (แสนแซ่) แก้

พระเจ้าแสนแสว้ (แสนแซ่) เดิมประดิษฐานอยู่วัดแสนเมืองมา (ร้าง) ต่อมาถูกอัญเชิญประดิษฐานที่วัดพระเจ้าล้านทอง ใต้ฐานมีจารึกระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2272 ผู้สร้างคือมังพละสแพก (ส่างกอละ) เจ้าเมืองเชียงราย โมยหวาน (เมียวหวุ่น) เมืองเชียงแสน และพระนางบุษบาสิริวัฒนเทพาราชกัญญาเจ้า มเหสีของเจ้าฟ้าลักที เจ้าฟ้าเชียงแสน สร้างพระพุทธรูปองค์นี้เพื่ออุทิศให้กับเจ้าฟ้ายอดงำเมือง (พระยอดงำเมือง) เจ้าฟ้าเชียงแสน พระโอรสของพระนาง[4][5]

พระเจ้าทองทิพย์ แก้

พระเจ้าทองทิพย์ อัญเชิญมาจากวัดพระเจ้าทองทิพย์ (ร้าง) หน้าตักกว้าง 1 ศอก 15 นิ้ว ปัจจุบันเก็บรักษาไว้บนกุฏิ[6]

พระเจดีย์ แก้

พระเจดีย์วัดพระเจ้าล้านทอง มีลักษณะแปลกตา พื้นเมืองเชียงแสนระบุขนาดเจดีย์องค์เดิมว่าฐานกว้าง 6 เมตร สูง 14 เมตร แต่ปัจจุบันฐานเจดีย์มีความกว้าง 13 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นการสร้างใน 2 ยุคสมัย คือมีองค์เจดีย์เดิมอยู่ข้างใน โดยส่วนบนยังปรากฏให้เห็นอยู่ และมีการสร้างครอบฐานเดิมเพื่อเสริมความมั่นคงให้เจดีย์หรือสร้างครอบเจดีย์องค์เดิมแต่ไม่สำเร็จ เหลือเพียงเฉพาะส่วนฐาน[7]


ศาลหลักเมืองเชียงแสน แก้

 
สะดือเมืองเชียงแสนองค์ปัจจุบัน สร้างด้วยลักษณะคล้ายจตุรมุขลึงค์

ในพื้นเมืองเชียงแสนระบุว่าบริเวณวัดพระเจ้าล้านทองเป็นหัวใจเมืองของเมืองเชียงแสน วัดพระเจ้าล้านทองจึงมีอีกชื่อเรียกว่าวัดหลวงกลางเวียง, วัดสะดือเมือง ในยุคฟื้นฟูเมืองเชียงแสน เจ้าอาวาสรูปแรกคือครูบาโพธิ์ มีเชื้อสายชาวเชียงแสนเดิมที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่เชียงใหม่ ท่านได้แผ้วถางบริเวณสถานที่ๆ เป็นสะดือเมืองเชียงแสน และกระทำบุญครั้งใหญ่ให้สะดือเมือง โดยยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ

พ.ศ. 2519 พระครูสุวรรณวิสุทธิคุณ (พระมหาทองสืบ วิสุทธาจาโร) เจ้าอาวาสวัดพระเจ้าล้านทอง ท่านได้ปรารภกับญาติโยมในการสร้างศาลหลักเมืองเชียงแสน จึงได้เริ่มปรับพื้นที่และรวบรวมสรรพกำลังและละปัจจัย และเริ่มลงทอสร้างศาลหลักเมืองในปี พ.ศ. 2522 จนกระทั่ง พ.ศ. 2532 ได้จัดทำผ้าป่าเชิญชวนศรัทธาร่วมสมทบทุน และวางรากฐานสิ่งก่อสร้าง ใช้เวลาอยู่นานหลายปีไม่แล้วเสร็จ ต่อมาจึงมีศรัทธาหลายๆ ท่านร่วมสมทบปัจจัยเพิ่มขึ้น จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542

อ้างอิง แก้

  1. สรัสวดี อ๋องสกุล ปริวรรต. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2546
  2. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  3. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  4. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  5. https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/1950
  6. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559
  7. อภิชิต ศิริชัย. ประวัติวัดพระเจ้าล้านทอง. พิมพ์ครั้งที่ 1 เชียงราย : ล้อล้านนา, 2559