วัดพระยาญาติ

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดพระยาญาติ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ในหมู่ที่ 7 บ้านวัดปากง่าม ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบระหว่างคลอง 3 คลอง ได้แก่ คลองดาวดึงษ์ คลองวัดจุฬามณี และคลองอัมพวา ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดปากง่าม ในปัจจุบันเจ้าอาวาสคือ พระอธิการใจ ฐิตาจาโร

วัดพระยาญาติ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระยาญาติ, วัดปากง่าม
ที่ตั้งเลขที่ 50 หมู่ที่ 7 ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระอธิการใจ ฐิตาจาโร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

มีบันทึกว่าวัดพระยาญาติตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2343[1] แต่คาดว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าคุณบางช้าง (แก้ว) และสามีคือพระแม่กลองบุรีได้มาปฏิสังขรณ์ไว้ครั้งหนึ่ง แต่ต่อมาวัดได้ทรุดโทรมลง สมัยกรุงธนบุรี กรมขุนกษัตรานุชิตหรือเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ร่วมกับพระญาติพระวงศ์ของท่านได้บูรณะขึ้นมาใหม่เพื่อน้อมเกล้าถวายแด่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถเป็นของเก่า ไม่มีวิหาร ส่วนศาลาการเปรียญได้สร้างขึ้นในสมัยพระอธิการอุ แต่รื้อถอนและปลูกสร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2519 อุโบสถหลังใหม่สร้างในสมัยพระครูสมุทรภัทรกิจ (ทอง สุภปาโล) เป็นเจ้าอาวาส พระประธานในอุโบสถเป็นพระประธานที่สร้างขึ้นด้วยการก่ออิฐถือปูน แล้วลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 140 เซนติเมตร สูง 170 เซนติเมตร

โบราณวัตถุ แก้

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเก่าแก่ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง นอกจากนี้ยังมีธรรมาสน์เก่าที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งเดิมเป็นพระที่นั่งทรงธรรมในรัชกาลที่ 2[2] หอระฆังมีระฆังหล่อด้วยทองเหลืองลงหิน ตู้พระไตรปิฎกได้รับถวายเมื่อปี พ.ศ. 2496 โดยนายอุ้ยซิว นางน้อย ศุกรสุนทร และนายสิน นางกิมซ่วน สมสกุล สร้างถวาย

ประเพณี แก้

งานประเพณีตรุษไทยแห่พระทางน้ำ เริ่มวันแรกคือ แรม 13 ค่ำ เดือน 4 เป็นวันที่อัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเคราและเจ้าอาวาสลงเรือแห่ทางน้ำรอบเกาะอัมพวา และอีกสามวันที่เหลือ คือ แรม 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 4 และ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามลำดับ เป็นการปิดทอง รำแก้บน และนมัสการหลวงพ่อเขาตะเครา ทางวัดยังได้เตรียมเรือหางยาวสำหรับญาติโยมที่ต้องการนั่งเรือขบวนแห่พระอีกหลายสิบลำ

เส้นทางเริ่มจากวัดพระญาติ ผ่านวัดสำคัญและสถานที่หลักดังนี้ วัดจุฬามณี วัดทรงธรรม วัดช่องลม วัดบางกะพ้อม วัดแก้วฟ้า วัดนางวัง ตลาดน้ำอัมพวา และสิ้นสุดที่วัดพระยาญาติ ใช้เวลาทั้งสิ้นราว 3–4 ชั่วโมง จากนั้นจึงอัญเชิญหลวงพ่อเขาตะเคราขึ้นประดิษฐานในปะรำพิธีด้านข้างศาลาการเปรียญเพื่อให้ญาติโยมได้สักการะและปิดทอง และในตอนกลางคืนจะมีมหรสพทุกคืน ส่วนสามวันที่เหลือ จะเป็นการปิดทอง นมัสการหลวงพ่อเขาตะเครา หรือกระทั่งแก้บนด้วยละครรำตลอดทั้งวัน[2]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอธิการคำ
  • พระอธิการปิ่น
  • พระอธิการชม
  • พระอธิการอุ
  • พระอธิการเผือก
  • พระธรรมธรอุต
  • พระอธิการพ่วง
  • พระครูปลัดจะ
  • พระครูสมุทรภัทรกิจ
  • พระอธิการใจ ฐิตาจาโร

อ้างอิง แก้

  1. "วัดพระยาญาติ". พระสังฆาธิการ.
  2. 2.0 2.1 "ตรุษไทย แห่พระทางน้ำ". ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย.