วัดพระงาม (จังหวัดนครปฐม)

พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในจังหวัดนครปฐม

วัดพระงาม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 44 ไร่ 48 ตารางวา สถานที่ตั้งของวัดอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 500 เมตร

วัดพระงาม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดพระงาม, วัดโสภาพุทธาราม, วัดโสดาพุทธาราม
ที่ตั้งเลขที่ 45 ถนนพญาพาน ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
ประเภทพระอารามหลวง
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระอุดมธรรมเมธี (สมศักดิ์ รตนปญฺโญ ป.ธ.๙)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

จากซากเจดีย์ขนาดใหญ่ของวัด คาดว่าน่าจะสร้างสมัยทวารวดีในศตวรรษที่ 11 หรือ 12 ถึงศตวรรษที่ 16 เช่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ พระปรางค์วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร และวัดทุ่งพระเมรุที่บริเวณสวนอนันต์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเคยเสด็จมาเยี่ยมวัดนี้ก็เห็นว่า น่าจะสร้างสมัยเดียวกับเมืองนครปฐมเป็นราชธานี ที่ชื่อ ทวารวดี เพราะพบวัตถุโบราณในสมัยทวารวดีทั้งสิ้น ปัจจุบันวัตถุโบราณเหล่านี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บางส่วนที่แตกหักได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์องค์พระปฐมเจดีย์

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ ใช้เวลาบูรณะ 52 ปี มีพระภิกษุ 2 รูปจากวัดพระปฐมเจดีย์ คือ พระวินัยธรจุ้ยและพระอาจารย์ฮะ ได้มาจำพรรษาที่วัดพระงามซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง จึงได้แผ้วถางที่รกร้างว่างเปล่าพบกุฏิโบราณ 1 หลัง วิหารบนเนินดิน มีพระพุทธรูปเก่าและซากเจดีย์ใหญ่หักอยู่ 1 องค์ สันนิษฐานว่าเนินดินนั้นคงเป็นซากเจดีย์พังทลายลงตามกาลเวลา ส่วนวิหารบนเนินดินสันนิษฐานว่าเป็นวิหารที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เพราะเป็นวิหารรูปเรือสำเภาแบบอยุธยา

พระอาจารย์ฮะและพระวินัยธรจุ้ยได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระงามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 ทั้งสองรูปได้พัฒนาวัด สร้างกุฏิหลังเล็ก ๆ หลังคามุงแฝก จนมีพระมาจำพรรษา 4–5 รูป ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ช่วงกันสร้างกุฏิ อุโบสถ โดยมีพระอาจารย์ฮะเป็นผู้ริเริ่ม อุโบสถ ขนาดความยาว 9 วา กว้าง 6 วา ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2450 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาว่า วัดโสภาพุทธาราม บางแหล่งเขียน วัดโสดาพุทธาราม[1] ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสำรวจวัด และทรงเรียกว่า "วัดพระงาม" สาเหตุจากค้นพบเครื่องดินเผาที่เป็นเศียรพระพุทธรูปที่งดงามได้ที่วัด

หลังจากพระอาจารย์ฮะ เจ้าอาวาสรูปที่ 2 มรณภาพลง จึงไปนิมนต์พระปลัดมณีซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดห้วยจระเข้มาเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 3 ท่านเป็นผู้เทศน์มหาชาติได้ไพเราะทั้งลีลาและทำนอง สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงกับรับสั่งให้เทศน์ให้ฟังที่ตำหนักเมืองนครปฐม ท่านยังได้สร้างกุฏิที่ถาวรมั่นคง สร้างศาลาการเปรียญ หอระฆัง และตั้งโรงเรียนสอนนักธรรมขึ้นภายในวัด ในสมัยเจ้าอาวาสรูปที่ 7 ได้มีการปรับปรุงกุฏิขึ้นมาใหม่ เทคอนกรีตภายในวัด ริเริ่มตั้งโรงเรียนสอนบาลี

ในสมัยพระอธิการจิตร จตฺตมโล มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ริเริ่มสร้างอุโบสถหลังใหม่เนื่องจากหลังเก่าชำรุดและคับแคบ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2505 และทำการผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2506 มีการขยายเมรุวัดด้วย ในช่วงปี 2512–2527 พระราชปัญญาภรณ์ รักษาการเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง และมีการสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม สร้างซุ้มประตูหน้าวัด สร้างกุฏิเรือนไทย 2 ชั้น จำนวน 12 หลัง สร้างเป็นศาลาบำเพ็ญกุศลและคลังเก็บพัสดุ ให้การสนับสนุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรทั้งแผนกธรรมและบาลี ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 พระมหาโสภา เขมสรโณ ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระงาม ได้ดำเนินการก่อสร้างศาลาบำเพ็ญต่อ ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ทาสีอุโบสถ มุงกระเบื้องหลังคาศาลาการเปรียญใหม่ สร้างหอระฆัง ปรับปรุงผิวดินหลังเมรุทำสวนหย่อม บูรณะวิหารมณฑปบนเนินดินร่วมกับกรมศิลปากร

วัดพระงามได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง[2]

โบราณสถาน แก้

ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ ที่เรียกว่า เนินวัดพระงาม มีเจดีย์ขนาดสูงใหญ่สมัยทวารวดี ยังค้นพบวัตถุโบราณสมัยทวารวดี เช่น พระพุทธรูปศิลาหักพัง พระเสมาธรรมจักร กวางหมอบ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระพิมพ์ดินเผา ในปี พ.ศ. 2562 ยังขุดพบวัตถุโบราณได้เพิ่ม เช่น อิฐยุคทวารวดีซึ่งมีแกลบข้าวผสมอยู่จำนวนมากและขนาดค่อนข้างใหญ่ พระพิมพ์ดินเผากว่า 20 องค์ ประกอบด้วยปางมหาปาฏิหาริย์หรือยมกปาฏิหาริย์ เหมือนที่เคยพบที่วัดพระเมรุ จังหวัดนครปฐม และพระพิมพ์ปางสมาธิโดยมีฉัตรและเครื่องสูงประกอบ ชิ้นส่วนประติมากรรมสลักจากหินเนื้อละเอียดสีเขียวอมเทา คาดว่าเป็นชิ้นส่วนพระพุทธรูปปางสมาธิ

ยังพบจารึกบนแผ่นอิฐ (จารึกวัดพระงาม) มีอักษร 1 บรรทัด[3] จำนวน 1 หลัก มีลักษณะเป็นแท่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำด้วยหินสีเทา ส่วนที่เหลือยังคงปรากฏรูปอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต บางส่วนที่สามารถอ่านได้อย่างชัดเจน ได้กล่าวถึงคำว่า ทวารวตีวิภูติ แปลความได้ว่า "ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทวารวดี" จากหลักฐานในจารึกนี้ ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า "กษัตริย์ของทวารวดีน่าจะทรงนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นิกายปิศุปติซึ่งเป็นนิกายที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 7 โดยรับอิทธิพลมาจากอินเดีย"[4]

อ้างอิง แก้

  1. "เนินวัดพระงาม". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  2. "ประวัติพระอารามหลวง". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐมร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-11. สืบค้นเมื่อ 2020-10-09.
  3. "ขุดลึก 6 เมตรวัดพระงาม เจอ 'อสูร' เฝ้าประตูสถูปทวารวดี 5 ตน กรมศิลป์รับหวั่นถล่มเหตุใกล้ทางรถไฟ". มติชน. 28 สิงหาคม 2562.
  4. ""จารึกวัดพระงาม" หลักฐานใหม่ตอกย้ำนาม 'ทวารวดี'". ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน.