วัดป้านปิง

วัดในจังหวัดเชียงใหม่

วัดป้านปิง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดป้านปิง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดป้านปิง คำว่า "ป้านปิง" หมายถึง เป็นแนวขวางแม่น้ำปิง ไม่ได้หมายถึงสร้างมาเพื่อขวางแม่น้ำปิง แต่หมายถังวัดป้านปิง ได้กั้นภยันอันตรายจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำปิงไม่สามารถข้ามมาได้ ซึ่งในอดีตมีภัยสงครามที่จะมาเชียงใหม่ เช่นในสมัยพญามังราย จากกองทัพจากพม่าและกองทัพจากอยุธยา เป็นต้น สันนิษฐานว่าวัดสร้างขึ้นในยุคต้นของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่สมัยพญามังราย จนถึงสมัยพญาแสนเมืองมา (ราว พ.ศ. 1839–1954) เมื่ออาณาจักรล้านนาล่มสลายวัดต่าง ๆ จึงชำรุดทรุดโทรมลงรวมทั้งวัดป้านปิงด้วย จนกระทั่งได้สถาปนาอาณาจักรล้านนาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2324 และราว พ.ศ. 2326 พระเจ้ากาวิละได้เป็นมหาศรัทธาปก (บูรณะ) วัดต่าง ๆ ขึ้นมาใหม่ ซึ่งคงจะรวมวัดป้านปิงด้วย

จากสมุดข่อยระบุว่า วันเพ็ญเดือน 5 พ.ศ. 2382 ได้สร้างและฉลองอุโบสถของวัดขึ้น ในการสำรวจวัดในเขตเมืองเชียงใหม่เมื่อราว พ.ศ. 2399–2413 ได้ระบุถึงเจ้าอาวาสชื่อ พระภิกษุธรรมปัญญา นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกชื่อเจ้าอาวาสไว้ จากข้อมูลชองสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2025 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2115

อาคารเสนาสนะ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2024 ศิลปะล้านนา วิหารเคยเกิดไฟไหม้จึงได้สร้างวิหารหลังใหม่ภายหลัง มีซุ้มโขงหน้าวิหาร มีรูปปั้นลักษณะจีน เป็นรูปพญานาคสองตัวหางพันกัน เหนือขนดลำตัวสองฟากเป็นยอดเขาหิมพานต์ พร้อมพระอาทิตย์ พระจันทร์ อุโบสถมีหลักศิลาจารึกที่มีลักษณะใบเสมา ทำจากหินทรายสีเทา ด้านหน้าพระอุโบสถ เป็นสถูปบรรจุอัฐิหลวงพ่อพระครูสังฆกิจวิรุฬห์ (สิงห์คำ ธมฺมทินฺโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดป้านปิง[1]

เจดีย์ที่สร้างมาตั้งแต่ต้น เป็นแบบฐานสูงย่อมุมไม้ 28 ทรง 12 เหลี่ยม มีฐานกว้าง 10.20 เมตร สูงประมาณ 25 เมตร เจดีย์เป็นทรงแบบล้านนาฝีมือช่างหลวง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระเพชรสิงห์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งสององค์ องค์พระประธานประทับนั่งแบบสมาธิเพชรปางมารวิชัย ด้วยฝีมือช่างหลวงยุคต้นของล้านนา หน้าตักกว้าง 1.70 เมตร องค์รองด้านขวาหน้าตักกว้าง 1.30 เมตร และวัดได้ขุดพบดินจี่ฮ่อฐานกุฏิ เป็นอิฐเผาที่เชื่อกันว่าช่างล้านนาเรียนรู้มาจากจีนฮ่อ มณฑลยูนานที่ติดต่อค้าขายกับอาณาจักรล้านนาในยุคต้น ๆ มีประมาณ 20 ก้อน ที่อยู่สภาพดี แต่ละก้อนยาว 60 เซนติเมตร กว้างและหนา 28 เซนติเมตร[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดป้านปิง".
  2. "วัดป้านปิง! วัดที่คุ้มครองอันตรายจากอีกฟากของแม่น้ำปิง". เชียงใหม่นิวส์.