วัดบุญยืน (อำเภอเวียงสา)

วัดในจังหวัดน่าน

วัดบุญยืน เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ทุกปีในช่วงออกพรรษา วัดบุญยืนยังจัดให้มีการแข่งเรือยาวประเพณีตานก๋วยสลาก สมัยโบราณเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้มีการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้น ในพระวิหารต่อหน้าพระพุทธปฏิมาปางประทับยืน

วัดบุญยืน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบุญยืน, วัดบุญนะ, วัดป่าสักงาม
ที่ตั้งตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบุญยืนสร้างเมื่อ พ.ศ. 2329 โดยพระยาเวียงป้อ โดยสร้างสำนักสงฆ์เล็ก ๆ ประทานนามว่า วัดบุญนะ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของตลาดสดและอาคารพาณิชย์) ต่อมาในสมัยเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญได้เสด็จประพาสเวียงสา ทรงเห็นว่าวัดบุญนะคับแคบ ไม่สามารถขยายให้กว้างได้จึงได้ย้ายวัดมาทางด้านทิศเหนือบนฝั่งขวาของลำน้ำน่าน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2329 อาคารเสนาสนะต่าง ๆ สร้างด้วยไม้สัก เช่น วิหาร กุฎิสงฆ์รวมถึงศาสนวัตถุอื่น ๆ และได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดป่าสักงาม ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2343 ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระวิหาร และสร้างพระพุทธรูปประธานในวิหารปางประทับยืน ขนาดสูง 8 ศอก และเปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น "วัดบุญยืน" ตามลักษณะพระพุทธรูป[1] กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. 2501 ได้รับสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อ พ.ศ. 2538

อุโบสถของวัดได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัย[2] ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระประธานในพระวิหาร สร้างเป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน เมื่อ พ.ศ. 2340 เป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลกพระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบทยืน ห้อยพระหัตถ์สองข้างลงตามปกติ เหมือนประทับยืน แต่แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้าเป็นกริยาเปิด ประตูของวิหาร แกะสลักด้วยไม้สักลวดลายสามชั้น เป็นภาพพระอินทร์ประทับบนดอกบัว และพระพรหมประทับอยู่บนช้างเจ็ดเศียร ขอบด้านบนของบานประตูทั้งซ้ายขวา มีจารึกโดยกล่าวถึงเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ พร้อมด้วยเจ้าสุมนเทวราช และเจ้าราชวงศ์เชียงของเป็นผู้แกะสลัก เมื่อ พ.ศ. 2350–2353[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดบุญยืน". สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน.
  2. "วัดบุญยืน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วัดบุญยืน". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).

ดูเพิ่มเติม แก้

“เส้นทางสายเจ้าฟ้า” เที่ยวน่านตามรอยราชวงศ์หลวงติ๋น