วัดบางแคใหญ่

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดบางแคใหญ่ เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2357) โดยเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สมุหพระกลาโหม[1] ภูมิประเทศ มีน้ำโอบ มีคลองบางแค ผ่านทางทิศตะวันออก คลองเมรุ ทางทิศเหนือ และคลองบางลี่ ทางทิศใต้ สภาพแวดล้อมร่มรื่นไปด้วยไม้สวน ตั้งอยู่ หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ฝ่ายเถรวาท มหานิกาย

วัดบางแคใหญ่
วัดบางแคใหญ่
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางแคใหญ่
ที่ตั้งเลขที่ 3 หมู่ที่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายเถรวาท มหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูโฆสิตสุตคุณ
กิจกรรมศาสนสถานในพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติวัด แก้

ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกวัดและท่านพระครูโฆสิตสุตคุณ (กอน โฆสโก) อดีตเจ้าอาวาส และอดีตเจ้าคณะอำเภออัมพวา ซึ่งเกิดที่บ้านนี้ กล่าวว่า วัดนี้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สร้างให้กับภรรยาหลวงของท่าน จึงได้ชื่อว่าวัดบางแคใหญ่ ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ปรากฏที่ผนังภายใน ด้านหน้าอุโบสถ ซึ่งเป็นแผ่นหินชนวนมีตัวอักษรไทยภาษาไทย อ่านได้ชัดเจนว่า วันอาทิตย์ เดือนห้า ขึ้นค่ำหนึ่ง จุลศักราชพันเจดสิบสาม ปิ์มะแม ตรีศก เจ้าพญาวงศาสุรศักดิ์ผู้วามีสมุหะพระกลาโหม ได้ส้างพระอารามนิแล้วแต่ณะวันสุกร เดือนสิบ แรม สิบค่ำ พุทธศักราชล่วงแล้วได้สองพันสามร้อยห้าสิบเจด ปิ์จอฉอศก คือ ท่านเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ได้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2357 อันเป็นช่วงต้นแผ่นดินรัชการที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี[2]

สิ่งสำคัญภายในวัด แก้

พระพุทธรูปรอบวิหารคต แก้

 
พระพุทธรูปวิหารคต

เป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง เรียงรายรอบระเบียง นิ้วพระหัตถ์กางแบบปาละ หน้าพระเป็นรูปไข่แบบอู่ทองหน้านาง เป็นประติมากรรมสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา แสดงว่าอาจจะนำมาจากที่อื่นหรือเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมของวัด อย่างใดอย่างหนึ่งล่วงมาในสมัยอยุธยา หรือ รัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการเอาปูนมาปั้นพอกพระศิลาทรายแดงไว้ บางองค์ก็ทำทรงเครื่อง

ใบเสมาหินทรายแดงรอบอุโบสถ แก้

ใบเสมาหินทรายแดงขนาดเล็กสมัยอยุธยา เป็นแบบเดียวกับวัดหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนปลายในเขตจังหวัดสมุทรสงครามโดยทั่วไป บ่งว่ามีการปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดขึ้นมาใหม่สมัยอยุธยาตอนปลาย

เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองหน้าอุโบสถ แก้

 
เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง

อยู่บนลานหน้าพระอุโบสถที่มีพระระเบียงล้อมรอบ เจดีย์เหลี่ยมย่อมุมสิบสองนี้เป็นแบบสมัยพระนารายณ์ หรือพระเพทราชา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในกุฎีสงฆ์ แก้

 
เป็นงานจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวลงบนพื้นไม้สัก

กุฏิสงฆ์เดิมเป็นเรือนไทยยกพื้นเตี้ยๆ ภายหลังวัดได้รื้อแล้วสร้างขึ้นใหม่ โดยสร้างเป็นกุฏิสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นอาคารไม้ทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ช่อฟ้าใบระกาปูนปั้นประดับกระจก หน้าบันรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภาพจิตรกรรมจะปรากฏอยู่ที่ฝาประจันไม้กั้นห้อง เป็นงานจิตรกรรมสีฝุ่นผสมกาวลงบนพื้นไม้สัก

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

วัดบางแคใหญ่ เนื่องจากเป็นวัดโบราณมีประวัติอันยาวนาน เท่าที่สอบถามสืบค้นได้ มีเจ้าอาวาส ดังนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
1 พระอาจารย์เพ็ง - -
2 พระอาจารย์เทศน์ - -
3 พระอาจารย์ย้ง - -
4 พระอาจารย์ลับ - -
5 พระอาจารย์พัฒน์ - -
6 พระครูโฆสิตสุตคุณ( กอน โฆสโก) พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2535
7 พระสมุห์เสริม ธมมรโต รักษาการเจ้าอาวาส 4 เดือน มรณภาพ พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2536
8 พระครูโฆสิตสุตคุณ พ.ศ. 2537 ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. หนังสือชุดจิตรกรรมฝาผนังในประเทศไทย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, ๒๕๓๔. หน่วยวิจัยการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. "เว๊บไซด์อย่างเป็นทางการวัดบางแคใหญ่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-09-05.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้