วัดบางเกาะเทพศักดิ์

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดบางเกาะเทพศักดิ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมน้ำคลองแควอ้อม ซึ่งเป็นคลองย่อยออกมาจากแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

วัดบางเกาะเทพศักดิ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางเกาะเทพศักดิ์, วัดเกาะกาหลง, วัดบางเกาะกรรณิการาม, วัดบางเกาะ
ที่ตั้งตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูปิยธรรมากร (เกษม ปิยธมฺโม)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบางเกาะเทพศักดิ์วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2320 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันระบุว่า แต่เดิมชื่อว่า วัดเกาะกาหลง ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบางเกาะกรรณิการาม ใกล้กับวัดนี้มีวัดร้างอยู่หนึ่งวัด คือ "วัดจำปาศักดิ์" จนเมื่อ พ.ศ. 2496 ได้รวมสองวัดเป็นวัดเดียว ใช้ชื่อว่า "วัดบางเกาะเทพศักดิ์"[1]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

อุโบสถหลังเก่าซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับอุโบสถวัดบางกุ้ง แต่ปัจจุบันอุโบสถได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่แล้วในปี พ.ศ. 2425 พระมณฑปอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม หลังคาเครื่องไม้และสร้างซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จำนวน 7 ชั้น โดยยอดบนสุดมีขนาดเล็กรูปทรงคล้ายจอมแห มุงกระเบื้องดินเผา

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว แสดงปางมารวิชัย พระพุทธรูปหินทรายแดงภายในระเบียงพระมณฑป และบริเวณวัดพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง พอกทับด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง ประทับนั่งแสดงปางสมาธิและปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[2] บริเวณหน้าอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของเทพทันใจ ภายในอุโบสถประดิษฐานของ หลวงพ่อเพชรมงคลอุดมโชค พระประธานองค์ใหญ่ปางสะดุ้งมารที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา วิหารพระศรีสมุทรศักยมุนีเป็นวิหารจัตุรมุขที่สร้างด้วยหินอ่อนเกือบทั้งหลัง ภายในประดิษฐาน พระศรีสมุทรศักยมุนี ซึ่งหล่อด้วยทองเหลืององค์ใหญ่ปางอุ้มบาตร สูง 3 เมตร 80 เซนติเมตร บริเวณฝาผนังเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ล้ำค่า เช่น รูปภาพ ตาลปัตร และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ด้านในผอบ ซึ่งพระอาจารย์ทรัพย์ อดีตเจ้าอาวาสได้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ประทานให้วัดบางเกาะเทพศักดิ์แห่งนี้[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดบางเกาะเทพศักดิ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดบางเกาะเทพศักดิ์". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. "วัดบางเกาะเทพศักดิ์อนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทย". กรมการศาสนา.[ลิงก์เสีย]