วัดบางสะแก (จังหวัดสมุทรสงคราม)

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดบางสะแก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของคลองแควอ้อมปากคลองบางสะแกใหญ่ ในตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

วัดบางสะแก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูสมุทรวรากร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบางสะแกสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเดิมมีอยู่ 2 วัด คือวัดบางสะแกในและวัดบางสะแกนอก ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง ต่อมาเป็นวัดร้างมาประมาณ 200 ปีเศษ สมัยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า (พ.ศ. 2310) เหลือแต่วิหารหลังเดียว มีหลักฐานว่าพวกพม่าได้งัดเอาเพดานวิหารวัดบางสะแกนอกไปใช้ ต่อมาขุนวิสูตรโยธามาตย์ภักดี บ้านอยู่คลองบางสะแกน้อย ได้มาสร้างวัดใหม่ทั้งหมด และรวม 2 วัดเป็นวัดเดียวกัน ได้สร้างอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ จึงมีพระจำพรรษา ตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเจ้าคุณวินัยธรรม (บัว) เจ้าคณะจังหวัดได้ส่งพระครูวิมลเกียรติมุนี (เกลี้ยง) มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญมั่นคง[1] วัดบางสะแกขออนุญาตตั้งเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. 2323 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2323 ปีเดียวกัน

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องช่อฟ้าใบระกาปูนปั้น หน้าบันปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ มีกำแพงแก้วล้อมรอบแต่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ใบเสมาตั้งอยู่ในซุ้มใบเสมาก่ออิฐถือปูนทรงมณฑป ใบเสมาหินทรายแดง ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระปูนปั้น ปางมารวิชัย ซึ่งขุนวิสูตรโยธามาตย์ภักดีเป็นผู้สร้าง อุโบสถเดิมเป็นอุโบสถฐานตันในเมืองสมุทรสงครามมี 2 วัด คือวัดบางสะแก กับวัดเสด็จ

เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ ภายในเขตกำแพงแก้วลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูนทรงระฆังขนาดใหญ่[2] วิหารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องกาบกล้วย ทรงทึบตันไม่มีเครื่องไม่มีเครื่องลำยอง ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระศิลาแลง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอก 6 นิ้ว สูง 4 ศอก 6 นิ้ว เป็นพระโบราณเก่าแก่ อยู่ในวิหารเดิม เรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อใหญ่มีบริวารอีก 10 องค์ อยู่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปโบราณทั้งสิ้น[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "วัดบางสะแก". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดบางสะแก". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.