วัดบางน้ำผึ้งนอก

วัดในจังหวัดสมุทรปราการ

วัดบางน้ำผึ้งนอก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย เป็นวัดบนเกาะบางกะเจ้า ในหมู่ที่ 1 บ้านวัดบางน้ำผึ้งนอก ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ วัดมีเนื้อที่ 37 ไร่ ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 3 แปลง 10 ไร่ 1 งาน 78 ตารางวา

วัดบางน้ำผึ้งนอก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางน้ำผึ้งนอก
ที่ตั้งเลขที่ 10 หมู่ที่ 1 ซอยบัวผึ้งพัฒนา ซอย 6 ถนนบัวผึ้งพัฒนา ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ 10130
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

ไม่ปรากฏผู้สร้างและประวัติการสร้าง แต่สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2210 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จากหลักฐานศิลาจารึกว่า มีเจ้าพระยาท่านหนึ่ง ชื่อ ธรรมธิกรณ์มั่ง ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์และมีพระรูปหนึ่ง ชื่อ พระวิชัย มาสร้างศาลาการเปรียญเมื่อ พ.ศ. 2330 เพื่อแทนศาลาหลังเก่า วัดบางน้ำผึ้งนอกได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2509 (อุโบสถหลังใหม่) สร้างแทนหลังเก่า โดยมีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เป็นผู้ตัดหวายลูกนิมิต

อาคารเสนาสนะและจิตรกรรมฝาผนัง แก้

 
ภาพจิตรกรรมที่บานประตู

โบสถ์และวิหารหลังเก่า เดิมถูกปล่อยทิ้งร้าง จนกระทั่งใน พ.ศ. 2560 อยู่ในช่วงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ วิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ไม่มีการลดหลั่นของหลังคา ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีลวดลายปูนปั้นประดับหน้าบันรูปพระนารายณ์สองกรทรงยักษ์ ไม่มีเสาร่วมด้านใน[1] ภายในวิหาร ประดิษฐานพระประธานสององค์ องค์ที่อยู่ด้านหน้าเป็นปางประทานพร องค์หลังเป็นปางมารวิชัย ผนังเหนือประตูหน้าต่างเดิมยังคงปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบ มีสภาพเลือนมาก ผนังฝั่งตรงข้ามพระประธานแสดงภาพมารผจญ กลางภาพเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับบนบัลลังก์ดอกบัว และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ผนังทั้งสองข้างส่วนที่เหนือบานประตูหน้าต่างเป็นภาพเทพชุมนุม บานหน้าต่างวิหารเป็นภาพกุมภัณฑ์แบกเทวดาถือพระขรรค์

โบสถ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีร่องรอยประดับช่อฟ้า แต่ปัจจุบันชำรุดเสียหาย หน้าบันไม่มีลวดลาย ไม่มีเสาพาไลด้านข้าง ไม่มีเสาร่วมด้านใน โบสถ์ประดิษฐานพระประธานเก่าแก่ คือ หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ด้านซ้ายและขวาของพระประธานมีพระอัครสาวกอยู่ทั้ง 2 ข้าง บานประตูหน้าต่างมีภาพวาดศิลปกรรมของช่างศิลป์ในยุคต้นรัตนโกสินทร์ (สมัยรัชกาลที่ 3–4) เช่น ภาพหนุ่มสาวไทย ภาพการตั้งเครื่องบูชาแบบจีน (มีแจกัน ผลไม้ ดอกไม้) ภาพเทวดาทวารบาลถือดอกบัว และภาพสาวมอญนุ่งผ้าแหวก แต่ภาพเลือนลางมาก[2]

หน้าวัดบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีพระมงคลสมุทรพุทธมณีและมีพระสังกัจจายน์ประดิษฐานอยู่[3]

เรือข้ามฟาก แก้

อ้างอิง แก้

  1. ขนิษฐา สวัสดิรักษ์. "จิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารและพระอุโบสถวัดบางน้ำผึ้งนอก จังหวัดสมุทรปราการ : งานช่างนอกราชธานีสมัยรัชกาลที่ 4" (PDF).
  2. "วัดบางน้ำผึ้งนอก ต.บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง สมุทรปราการ".
  3. "บริบทของชุมชน และสภาพการท่องเที่ยวของชุมชนบางน้ำผึ้ง" (PDF).