วัดบรมพุทธาราม

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดบรมพุทธาราม หรือ วัดบรมพุทธวาศน์[2][3] หรือ วัดบรมพุทธาวาศน์[4][5] เป็นวัดโบราณในเขตเกาะเมืองอยุธยา มีฐานะเป็นพระอารามหลวง และยังเป็นวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเมื่อราว พ.ศ. 2226-2229[6] สร้างขึ้นบริเวณย่านป่าตอง[7] ซึ่งเป็นนิวาสสถานเดิมของ สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมพระคชบาล (เจ้ากรมช้าง)

วัดบรมพุทธาราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบรมพุทธาราม
ที่ตั้งตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทพระอารามหลวง
พระประธานพระปางมารวิชัย[1]
ความพิเศษวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ปรากฎใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ความว่า[8]

"แลปีกุนเบ็ญจศกแล้วนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำริห์ว่าที่บ้านหลวงตำบลป่าตองนั้น เป็นที่มงคลสิริราชฐานอันประเสริฐสมควรจะสร้างเป็นพระอาราม มีพระอุโบสถ วิหาร การเปรียญ พระเจดีย์ ฐานกำแพงแก้ว และกุฏีสงฆ์ ศาลา ตะพาน เว็จกุฏีพร้อม และทรงพระกรุณาให้หมื่นจันทราช่างเคลือบ ทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองมุงพระอุโบสถ วิหารทั้งปวง และการสร้างพระอารามนั้น สามปีเศษจึงสำเร็จในปีขาน อัฐศก แล้วพระราชทานนามบัญญัติ พระอารามชื่อ วัดบรมพุทธาราม ตั้งเจ้าอธิการชื่อพระญาณสมโพธิราชา คณะคามวาสี ครองพระอาราม แล้วทรงพระกรุณาให้มีการฉลอง และมีมหรศพสามวัน และทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมากและพระราชทานเลขข้าพระไว้อุปัฏฐาก พระอารามก็มาก แล้วถวายพระกัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม"

โดยบริเวณหลังคาพระอุโบสถเป็นหลังคากระเบื้องเคลือบทำให้ผู้คนในสมัยนั้นเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดกระเบื้องเคลือบ ส่วนภายในพระอุโบสถเคยมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังที่วิจิตรงดงามแต่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาอีกทั้งถูกพม่าเผาในคราวเสียกรุง

ต่อมาในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทำการปฏิสังขรณ์พระอารามครั้งใหญ่โดยโปรดให้ทำบานประตูประดับมุขฝีมือวิจิตร 3 คู่ซึ่งปัจจุบันคู่หนึ่งอยู่ที่ หอพระมณเฑียรธรรม ใน พระบรมมหาราชวัง อีกคู่หนึ่งอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ และอีกคู่ได้ผู้มีนำไปทำตู้หนังสือปัจจุบันอยู่ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ข้อสันนิษฐานเรื่องกระเบื้องเคลือบที่ใช้มุงหลังคาพระอุโบสถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ[9] ทรงสันนิษฐานว่า "เห็นจะเป็นของสั่งเข้ามาจากเมืองจีน จึงเป็นของแพงและมิได้มุงแพร่หลายออกไปถึงที่อื่น แม้แต่มุงวัดเดียวก็ยังเห็นเป็นของอัศจรรย์ จนราษฎรเอามาเรียกเป็นชื่อวัด" ส่วนในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า "โปรดให้หมื่นจันทราช่างเคลือบทำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองขึ้นมุงหลังคาโบสถ์วิหารวัดบรมพุทธาราม"[10] หมื่นจันทราผู้นี้เป็นช่างเคลือบเข้ามาเมื่อในครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[11] อาจเป็นช่างผู้นี้อยู่มาจนแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา ด้วยระยะเวลาไม่ห่างกันนักจึงโปรดให้ทำกระเบื้องเคลือบขึ้นมุงวัดบรมพุทธาราม

ความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขานั้นขัดแย้งกับข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่พระองค์ทรงไม่เชื่อความในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาดังกล่าวด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรก เนื้อดินเศษกระเบื้องสีอ่อนเป็นดินเมืองจีน มิใช่ดินเมืองไทย ประการที่สอง ถ้าทำกระเบื้องเคลือบได้คงมุงแพร่หลายออกไปหลายแห่งเหมือนอย่างในกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นว่าครั้งกรุงเก่าทำไม่ได้เองจึงมุงน้อยแห่งนัก เมื่อมุงวัดบรมพุทธารามจึงเห็นเป็นการแปลกประหลาด จนพากันเรื่องชื่อวัดนี้ว่า "วัดกระเบื้องเคลือบ"

ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ พ.ศ. 2484[12][13][14]

ลำดับเจ้าอาวาส แก้

ลำดับ รายนาม วาระตำแหน่ง
1 พระญาณสมโพธิราชา[15] พ.ศ. 2229 — ไม่ปรากฏ

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. เอื้อง ชุมทัพ, ประภาศรี พงษ์ดำ (บก.), ฝ่ายอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่. จิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2538. 180 หน้า. หน้า 54. ISBN 974-418-031-5
  2. วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ) และคณะ. กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ. โครงการวิจัยเมธีอาวุโส สกว. "กฏหมายตราสามดวง: ประมวลกฏหมายไทยในฐานะมรดกโลก". กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548. 339 หน้า. หน้า 20. ISBN 978-974-6191-38-8
  3. วงศนิชร เทวกุล, หม่อมเจ้า. ลำดับราชสกุล เทวกุล รวมทั้งราชสกุลและสกุลอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง. พระนคร : โรงพิมพ์ตีรณสาร, 2513. 72 หน้า. หน้า 55. พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชพระราชทานเพลิงศพพลตรี หม่อมเจ้าปรีดีเทพย์พงษ์ เทวกุล ป.จ., ป.ช., ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓.
  4. อภินิหารบรรพบุรุษ. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพพรรฒธนากร, 2473. 64 หน้า. หน้า 15. (สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต โปรดให้พิมพ์เป็นของเจ้าภาพชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์ พ.ศ. ๒๔๗๓).
  5. เอกชัย โควาวิสารัช. ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2563. 464 หน้า. หน้า 129 - 131. ISBN 978-974-0217-20-6
  6. งานวิจัยเรื่อง การศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยา สมัยพระเพทราชา กรณีศึกษาวัดบรมพุทธาราม จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปีงบประมาณ 2562.
  7. วิโรจน์ ชีวาสุขถาวร. (2563). "แนวความคิดในการวางผังวัดบรมพุทธารามที่สัมพันธ์กับบริบทเมือง"] ใน หน้าจั่ว, 17(2): 172-175.
  8. กรมราชบัณฑิต (จัดพิมพ์, 2455). พระราชพงศาวดารกรุงเก่า เล่มที่ 2. หน้า 546.
  9. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ตํานานเรื่องเครื่องโต๊ะและถ้วยปั้น พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ : บริษัท บพิช จำกัด, 2511. 97 หน้า. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายสง่า วรรณดิษฐ์ ท.ม., ต.ช. ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๑.
  10. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร : โอเดียนสโตร์, 2505 หน้า 137.
  11. กรมศิลปากร. (2501). วารสารศิลปากร, 2(4): 27.
  12. อภิรักษ์ กาญจนคงคา. "วัดบรมพุทธาราม", สถานที่สำคัญ, วัดในและนอกเกาะกรุงศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2565.
  13. ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน. (2538, 23 มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ ๑๑๒ ตอนพิเศษ ๒๒ ง. หน้า ๒๒ - ๒๓.
  14. กรมศิลปากร. ทะเบียนโบราณสถานในเขตหน่วย ศิลปากรที่ 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536.หน้า 97.
  15. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก (เล่ม 5), หน้า 52.
บรรณานุกรม
  • คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก (เล่ม 5). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2542. 433 หน้า. ISBN 974-419-220-8

ดูเพิ่ม แก้