วัดธรรมนิมิตร

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดธรรมนิมิตร เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เนื้อที่ดินที่ตั้งวัด 20 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา

วัดธรรมนิมิตร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดธรรมนิมิตร, วัดคอกเป็ด
ที่ตั้งตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดธรรมนิมิตร เดิมมีชื่อว่า วัดคอกเป็ด สันนิษฐานว่าคงมีใครทำคอกเลี้ยงเป็ดไว้ในวัดหรือใกล้เขตวัด จึงได้เรียกชื่อวัดเช่นนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาหรือตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสร้างแล้วคงจะมีชื่อเรียกเป็นหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คงไม่ได้เรียกว่า "วัดคอกเป็ด" มาแต่เดิม มาเรียกชื่อนี้ภายหลัง จนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ และมอบให้อยู่ในสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายคณะธรรมยุติกนิกาย และตั้งนามให้ใหม่ว่า วัดธรรมนิมิตร (บ้างเขียน วัดธรรมนิมิต) อุโบสถหลังใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2498 และได้ลงมือสร้างเมื่อ พ.ศ. 2498 สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2508 ในสมัยที่ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิโมลี (ปั่น สุภโร) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 4

อาคารเสนาสนะ แก้

เจดีย์ทรงระฆังเจดีย์ทรงระฆังก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ สูงประมาณ 40 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม มีระเบียงรอบและบันไดทางขึ้น 4 ด้าน บริเวณด้านหน้าบันไดทางขึ้นมีอาคารหลังเล็ก ๆ รูปทรงคล้ายเก๋งจีนเป็นที่สำหรับบรรจุอัฐิ มี พ.ศ. ระบุปี 2478 ฐานเจดีย์เป็นฐานหน้ากระดานกลม 2 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถาสี่ชั้น องค์ระฆังกลมมีบัลลังก์สี่เหลี่ยมรองรับส่วนยอดมีเสาหานรองรับปล้องไฉนและปลียอด[1] ศาลาท่าน้ำมี 2 หลังสร้างติดกับแม่น้ำแม่กลองทางด้านทิศตะวันตก หลังแรกอาคารไม้ขนาดเล็ก หลังคาทรงปั้นหยาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หลังที่สองอาคารไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่

หอระฆังตั้งอยู่ทางด้านขวาของอาคารโรงเรียนปุกะปุณณะธรรม ลักษณะหอระฆังเป็นอาคารไม้สูงชั้นล่างโปร่งมีเสาไม้กลมรองรับ และมีบันไดไม้สำหรับขึ้นไปด้านบน ชั้นบนเป็นอาคารทรงไทยขนาดเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสี ฝาไม้ขนาดเล็กมีการเจาะเป็นช่องหกเหลี่ยมทั้งด้าน โดยรอบมีระเบียงพักมีอักษรระบุว่าสร้างในปี พ.ศ. 2407–2408[2] หอไตรตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของอาคารโรงเรียนปุกะปุณณะธรรมในแนวเดียวกับหอระฆัง เป็นอาคารไม้สูงชั้นล่างโปร่ง ชั้นบนเป็นอาคารทรงไทยขนาดเล็ก หลังคาเครื่องไม้มุกระเบื้องสี ฝาไม้กระดานทึบ มีประตูทางเข้ารูปหกเหลี่ยมโค้งส่วนบน 1 ช่อง ด้านข้างมีชานพักและระเบียงโดยรอบ[3] ศาลาสังฆทานตั้งอยู่ด้านหลังของโรงเรียนปุกะปุณณะธรรมลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยชั้นเดียวยกพื้นสูง[4]

อ้างอิง แก้

  1. "เจดีย์ทรงระฆัง วัดธรรมนิมิตร". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "หอระฆัง วัดธรรมนิมิตร". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "หอไตร วัดธรรมนิมิตร". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "วัดธรรมนิมิตร". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.