วัดท่าพระ (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดท่าพระ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ 23 ไร่ 1 งาน 44.6 ตารางวา

วัดท่าพระ
อุโบสถหลังเดิมของวัดท่าพระ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อเกษร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดท่าพระ
ที่ตั้งเลขที่ 20/1 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 4 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อเกษร
เจ้าอาวาสพระครูวิบูลกิจจานุยุต (นิคม อธิปญฺโญ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมบริเวณวัดล้อมรอบด้วยคลองมอญ คลองบางกอกใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกกันว่า วัดเกาะ ในเวลาต่อมาได้พบหลวงพ่อเกษรลอยน้ำมาที่คลองหน้าวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดท่าพระ" แทน

อาคารเสนาสนะ แก้

พระอุโบสถสร้างใหม่นี้ สร้างขึ้น พ.ศ. 2540 ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคาลด 3 ชั้น หน้าบันมีพระปรมาภิไธย สก และปั้นเป็นรูปครุฑ กว้าง 12 เมตร ยาว 28 เมตร ผนังด้านนอกประดับกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม ภายในประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ด้านซ้ายและขวาเป็นพระมหาโมคคัลลานะและพระสารีบุตร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ภายใน หลังพระประธานเขียนภาพเทพชุมนุม ระหว่างช่องหน้าต่างเขียน เรื่องมหาเวสสันดรชาดก เหนือหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติ ช่างเขียนใช้กรรมวิธีสมัยใหม่ที่เขียนลงบนผ้าก่อนที่จะผนึกติดผนังซึ่งเป็นที่นิยม บานประตูหน้าต่างของพระอุโบสถแกะสลักเรื่องทศชาติชาดก รวม 14 บาน[1]

วิหารหลวงพ่อเกษรเป็นอาคารจตุรมุข ทางวัดสร้างครอบวิหาร กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุและโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ภายในวิหารประดิษฐาน หลวงพ่อเกษร พระพุทธรูปปูนปั้นศิลา แบบศิลปะอยุธยาตอนต้น[2] เชื่อว่าเป็นพระพี่พระน้องกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลมและหลวงพ่อโสธร เพราะลอยน้ำมาขึ้นที่วัดเหมือนกัน บานประตูไม้สักแกะสลักรูปทวารบาลทั้ง 2 บาน คาดว่าเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่ทำตามเดิมเหมือนอยุธยาตอนต้น เป็นรูปทวารบาลเต็มบาน ยืนบนแท่น มียักษ์แบกองค์เทวดาสวมเทริด ทรงสูง


ลำดับเจ้าอาวาส แก้

รายนามเจ้าอาวาสวัดท่าพระ (ที่สามารถสืบค้นข้อมูลได้) นับตั้งแต่ก่อสร้างวัด มีรายละเอียดดังนี้

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
พระครูมงคลกิจจานุกูล
พระครูวิบูลกิจจานุยุต 6 เมษายน 2563 ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. "วัดท่าพระ". สำนักงานเขตบางกอกใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-25. สืบค้นเมื่อ 2020-09-08.
  2. "วัดท่าพระ" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 139.