วัดตานีนรสโมสร

วัดในจังหวัดปัตตานี

วัดตานีนรสโมสร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานีฝั่งตลาดเก่า ในตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี

วัดตานีนรสโมสร
แผนที่
ชื่อสามัญวัดตานีนรสโมสร, วัดบางน้ำจืด, วัดกลาง
ที่ตั้งตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระสิริจริยาลังการ (ชรัช อุชุจาโร)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดตานีนรสโมสร เดิมชื่อว่า วัดบางน้ำจืด แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดกลาง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2395 แต่เดิมย้ายจากบริเวณเมืองเก่าที่บ้านนา ตำบลกรือเซะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สีตะวันกรมการเมืองปัตตานี สร้างขึ้นเป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำมณฑลปัตตานี

ในระยะแรกของการเริ่มสร้างวัดไม่มีถาวรวัตถุที่มั่นคง จนถึงปี พ.ศ. 2430 ทางคณะสงฆ์ได้มอบหมายให้พระครูธรรมโมลีวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา และคณะเดินทางมาจัดการปกครอง ซึ่งขณะนั้นเจ้าอธิการสุขเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแหลมมลายู ทรงเห็นวัดนี้ทรุดโทรมมาก จึงทรงสละพระราชทรัพย์บูรณะปฏิสังขรณ์ตลอดจนพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพิพัฒน์สมณกิจและในปีนี้พระครูพิพัฒน์สมณกิจกับนางละนง แซ่เล่า ได้จัดสร้างพระอุโบสถเป็นศิลปะแบบจีน สถาปนาขึ้นเป็นวัดประจำเมือง มีชื่อใหม่ว่า "วัดตานีนรสโมสร" มีรูปตราพระเกี้ยวน้อยติดอยู่กับอุโบสถและศาลากลางหลังเก่า ซึ่งได้บูรณะใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2480[1]

วัดตานีนรสโมสรตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2413 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้รับยกฐานะเป็นพระอารามหลวงตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 17 เมตร หน้าบันมีตราพระเกี้ยวกระหนกล้อมรอบ หน้าพระอุโบสถมีซุ้มประดิษฐานพุทธรูปปางมารวิชัย (ขนมต้ม) ศิลปะนครศรีธรรมราช หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมต ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยสุโขทัยหน้าตักกว้าง 1 เมตร มีพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสมัยอยุธยาหรือศิลปะลพบุรี สูง 2 เมตรและมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร ศิลปะทวารวดี สูง 2 เมตร และศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 36 เมตร มีการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2554 หอระฆังศิลปะไทย กว้าง 4 เมตร สูง 1 เมตร ระฆังเป็นศิลปะอิสลาม[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (สุข) พ.ศ. 2430–2446
  • พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (เมิน) พ.ศ. 2446–2453
  • พระครูพิพัฒน์สมณกิจ (บุญ ปุญญลาโภ) พ.ศ. 2453–2460
  • พระครูสโมสรสิทธิการ (แก้ว) พ.ศ. 2460–2477
  • พระธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร) พ.ศ. 2477–2540
  • พระครูศรีปัญญาวุธ (จรินทร์ ปญญธโร) พ.ศ. 2541–2554
  • พระสิริจริยาลังการ (ชรัช อุชุจาโร) พ.ศ. 2554–

อ้างอิง แก้

  1. "วัดตานีนรสโมสร". ศาลากลางจังหวัดปัตตานี.
  2. "วัดตานีนรสโมสร". ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้.
  3. "วัดตานีนรสโมสร (ชุมชนอาเนาะรู)". ชุมชนคุณธรรม.