วัดกำแพงบางจาก

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดกำแพงบางจาก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

วัดกำแพงบางจาก
แผนที่
ชื่อสามัญวัดกำแพงบางจาก
ที่ตั้งเลขที่ 299 ซอยเพชรเกษม 20 ถนนเพชรเกษม แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อบุษราคัม
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดกำแพงบางจากไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด มีระบุการตั้งวัดในปี พ.ศ. 2367 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2393[1] สันนิษฐานว่าคงมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เล่ากันว่า จีนสือ ขุนนางเชื้อสายจีนในกรมท่าซ้าย น่าจะเป็นผู้ออกทุนทรัพย์ในการบูรณะวัด การปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ปรากฏนามของพระพิศาลผลพานิช[2]

 
หลวงพ่อบุษราคัม พระประธานในอุโบสถ
 
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเนมิราชในอุโบสถ
 
หลวงพ่อวัดบ้านแหลมจำลอง

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวข้องกับสัณฐานของโลกตามคติไตรภูมิ มีภาพทศชาติชาดกตามคติโบราณ สิ่งน่าสนใจคือ ภาพเสาธงสัญญาณของประเทศเดนมาร์ก บริเวณป้อมป้องปัจจามิตร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการค้าขายกับต่างชาติในอดีต ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นาม หลวงพ่อบุษราคัม ได้รับการบูรณะซ่อมแซมพระพุทธรูปนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ ภายในพระวิหารยังมีหมู่พระพุทธรูปที่เป็นพระยืนและพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ห่มจีวรลวดลายวิจิตรงดงาม พระพักตร์แบบหน้าหุ่น ไม่มีพระถัน เป็นพระพุทธรูปในสมัยรัชกาลที่ 3[3] ลานหน้าพระอุโบสถ ด้านซ้ายและด้านขวามีพระวิหารหลังเล็กอยู่ข้างละหลัง หลังหนึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ้านแหลมจำลอง ส่วนวิหารอีกฝั่ง ถูกปิดตายมากว่า 80 ปี ภายในวิหารปิดตายมีพระพุทธรูปโบราณจำนวนมากทั้งทำจากสัมฤทธิ์และไม้ ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปปางมารวิชัย บางส่วนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์[4]

ในวัดมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 7 องค์ ประกอบด้วยเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่ มี 2 องค์ องค์แรกอยู่ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ ฐานเจดีย์ด้านนอกตั้งอยู่เสมอกับแนวกำแพงกั้นเขตพุทธาวาส องค์ที่สองอยู่ในเขตรั้วชาวบ้านบริเวณปากคลองบางจากฝั่งตะวันตก (บ้านศิลปิน) เจดีย์ทั้งสองมีความสูงประมาณ 10 เมตร ปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม

อ้างอิง แก้

  1. "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-09-30.
  2. "ย่านวัดกำแพง เขตภาษีเจริญ". กรุงเทพมหานคร.[ลิงก์เสีย]
  3. "เช็กอิน 'คลองบางหลวง' นั่งเรือ ช้อปปิ้ง จิบกาแฟ ให้อาหารปลา และชมงานศิลปะริมคลอง". ไทม์เอาต์. 6 มกราคม 2563.
  4. "วัดกำแพง คลองบางจาก". Museum Thailand.