วังปาฏิหาริย์ (อังกฤษ: court of miracles; ฝรั่งเศส: cour des miracles) เป็นเขตชุมชนแออัดในกรุงปารีสเมื่อครั้งอดีต โดยเป็นที่อาศัยของบรรดาผู้ลักลอบเข้าเมืองและผู้อพยพจากชนบทที่ปราศจากงานทำ กลายเป็นแหล่งที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นซ่องโจร ก่อนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเข้ากวาดล้างไปจนสิ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19[1]

วังปาฏิหาริย์ ที่ กุสตาฟว์ ดอเร (Gustave Doré) วาดขึ้นตามจินตนาการของเขา สำหรับประกอบหนังสือเรื่อง นอทร์-ดามเดอปารี

วังปาฏิหาริย์มีชื่อเสียง เพราะวิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) นำไปใช้แต่งนิยายเรื่อง นอทร์-ดามเดอปารี (Notre-Dame de Paris, คนค่อมแห่งนอทร์-ดาม)[2]

ชื่อ แก้

ในกรุงปารีสสมัยก่อน ผู้คนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการขอทาน ขอทานบางคนแสร้งทำป่วยเจ็บหรือเป็นโรค เพื่อเรียกความเห็นใจ ครั้นกลับบ้านแล้วก็เลิกเสแสร้งและทำปรกติดังเดิม ขอทานที่ตอนเช้าเห็นง่อยเปลี้ยอยู่ ตกกลางคืนอาจเห็นเดินได้วิ่งปรื๋ออยู่ในชุมชนแออัดเป็นต้น ราวกับว่ามีเรื่องอัศจรรย์เกิดขึ้นในชุมชนเหล่านี้ทุก ๆ วัน ชาวปารีสจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ปาฏิหาริย์" และเรียกชุมชนของคนเหล่านี้ว่า "วังปาฏิหาริย์"[3]

วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ แก้

บ่อยครั้งที่ผู้คนพากันเชื่อว่า วังปาฏิหาริย์เป็นซ่องโจร มีหัวหน้ามีสถาบันของตนเองเพื่อแบ่งหน้าที่กันฉกชิงวิ่งราว ความเชื่อเช่นนี้เป็นของปรกติในกาลครั้งนั้น แต่น่าจะเป็นเรื่องเล่าขานกันสนุกปากมากกว่าเป็นเรื่องจริง ตัวอย่างเช่น ว่ากันว่า มีนักเรียนเรียนไม่จบกลุ่มหนึ่งคอยออกสั่งสอนคำหยาบประจำท้องถิ่นให้แก่ผู้มาใหม่ และเรียกนักเรียนเหล่านี้ว่า "อาร์ชิสซูพ็อตส์" (archissupots) เรื่องเล่าเช่นนี้เป็นเพราะในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเรียกกันว่าเป็นวิกฤติกาล (time of crisis) นั้น เหล่านักเรียนนักศึกษามักสานความสัมพันธ์กับกลุ่มมิจฉาชีพ[4]

อย่างไรก็ดี อ็องรี โซวาล (Henri Sauval) นักประวัติศาสตร์ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ยืนยันว่า วังปาฏิหาริย์เป็น "ถนนสายตันที่เหม็นสาบคละคลุ้ง, ไขเสนียดเฉอะแฉะ, ไม่สงบ และขรุขระ" เขาบันทึกว่า ท้องที่นี้ใช้ภาษาของตนเอง และมีวัฒนธรรมเป็นโจรและชอบสำส่อนทางเมถุนธรรม เขาว่า "พวกมันล้วนแต่แพศยาหื่นกาม ไม่มีใครตั้งอยู่ในศาสนาหรือกฎหมาย ไม่มีใครรู้จักบาปบุญคุณโทษ, การสมรส และศาสนกิจ"[1] ขณะที่ เซอร์วิลเลียม วอลตัน (William Walton) นักวรรณศิลป์ชาวอังกฤษ กล่าวว่า "เหล่ายาจกที่ซ่อนเร้นอยู่ในมุมเมืองปารีสใช้สถานที่นี้เป็นร่มไม้ชายคา พวกเขามืดมน โสโครก สถุล และมีลับลมคมใน เสแสร้งว่าป่วยเจ็บ และชอบฉกชิงวิ่งราว"[5]

วังปาฏิหาริย์ขยายตัวเป็นอันมากในรัชกาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ. 1654-1715) และเกิดขึ้นชุกชุมในกรุงปารีส แถว ๆ สำนักนางชีฟีย์-ดีเยอ (Filles-Dieu convent), ถนนต็องปล์ (Rue du Temple), ราชวังฌุสเซียน (Court of Jussienne), ถนนเรออูยยี (Reuilly Street), ถนนแซ็งต์ฌ็องและตูร์แนลโบซีร์ (Rue St. Jean et Tournelles Beausire) , ถนนเลแฌ็ล (Rue de l'Echelle) และกลางถนนไกโร (Cairo Street) กับถนนโรมูร์ (Rue Reaumur)[2] โดยเฉพาะวังปาฏิหาริย์แถว ๆ กลางถนนไกโรกับถนนโรมูร์นี้เป็นแรงบันดาลใจของ วิกตอร์ อูโก ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเรื่อง เลมีเซราบล์ (Les Misérables, เหยื่ออธรรม) กับเรื่อง นอทร์-ดามเดอปารี[2]

การกวาดล้าง แก้

 
ถนนต็องปล์ หลังจากบารงโอสม็องเข้าบูรณะแล้ว

เพราะว่าอาชญากรรมและความแร้นแค้นนับวันยิ่งทวีขึ้น เจ้าหน้าที่ในกรุงปารีสจึงพยายามลดชุมชนแออัดในนครลง หน้าที่นี้ตกแก่ กาเบรียล นีโกลา เดอ ลา เรย์นี (Gabriel Nicolas de la Reynie) ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยใน ค.ศ. 1667 เขาใช้กำลังตำรวจควบคุมพฤติกรรมชาวชุมชนแออัดอย่างเข้มงวด ครั้น ค.ศ. 1750 จึงเปลี่ยนไปใช้กลยุทธ์เพิ่มสุขอนามัยและปรับปรุงสถานะทางสังคมแทน บรรดาชุมชนแออัดจึงดับสูญลง และชาวประมงกับช่างโลหะพากันเข้าไปอยู่อาศัยแทน ร่องรอยสุดท้ายของวังปาฏิหาริย์สลายไปสิ้นเมื่อมีการปรับปรุงย่านสำนักนางชีฟีย์-ดีเยอขนานใหญ่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสและหลังจากการบูรณะของบารงโอสม็อง (Haussmannisation) ในคริสต์ศตวรรษที่ 19[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Colin Jones, Paris: The Biography of a City, Penguin, 2006, 5:3.
    "everyone lived in great licentiousness; no one had faith or law and baptism, marriage and the sacrements were unknown."
  2. 2.0 2.1 2.2 Jones, Colin (2006-04-04). Paris: The Biography of a City. Penguin Group. ISBN 9780143036715.
  3. Paul Bru, Histoire de Bicêtre (hospice, prison, asile) : d’après des documents historiques, préf. M. le Dr Bourneville, Chap II, « Les mendiants », Hôpital Général, p. 15-6.
  4. Goldstone Jack A. (1988) “East and West in the Seventeenth Century: Political Crises in Stuart England, Ottoman Turkey, and Ming China”, Comparative Studies in Society and History, 30/1, 103-142.
  5. Walton, William (1899). Paris from the earliest period to the present day. G. Barrie & son. pp. 230–235. the usual refuge of all those wretches who came to conceal in this corner of Paris, sombre, dirty, muddy, and tortuous, their pretended infirmities and their criminal pollution {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)