วงศ์หนูทุ่ง
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนยุคกลาง-ปัจจุบัน
แฮมสเตอร์แคระที่นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง จัดอยู่ในวงศ์ย่อย Cricetinae
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
ชั้นฐาน: Eutheria
อันดับใหญ่: Euarchontoglires
อันดับ: Rodentia
อันดับย่อย: Myomorpha
วงศ์ใหญ่: Muroidea
วงศ์: Cricetidae
J. Fischer, 1817
วงศ์ย่อย

วงศ์หนูทุ่ง เป็นวงศ์ของสัตว์ฟันแทะขนาดเล็กจำพวกหนูวงศ์หนึ่ง ใช้ชื่อว่า Cricetidae เป็นวงศ์ที่มีสมาชิกหลากหลายมากมาย อาทิ แฮมสเตอร์, แฮมสเตอร์แคระ, หนูเลมมิ่ง, หนูทุ่ง ซึ่งยังสามารถแยกออกเป็นวงศ์ย่อย ๆ ได้อีก (ในบางข้อมูลจัดให้เป็นวงศ์เดียวกับ Muridae[1])

หนูในวงศ์นี้มีประมาณ 600 ชนิด กระจายพันธุ์ไปในหลายพื้นที่ของโลก โดยเฉพาะในซีกโลกใหม่ และยังพบได้ที่ ยุโรป และเอเชีย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยขนาดเล็กที่สุด คือ หนูแคระโลกใหม่ มีขนาดยาวประมาณ 5–8 เซนติเมตร (2.0–3.1 นิ้ว) และน้ำหนักประมาณ 7 กรัม (0.25 ออนซ์) จนถึงขนาดใหญ่ที่สุด คือ หนูมัสก์ ที่ยาว 41–62 เซนติเมตร (16–24 นิ้ว) และมีน้ำหนัก 1,100 กรัม (39 ออนซ์) หางมีความเรียวยาวไม่มีขนและมีเกล็ด มีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ใช้สำหรับทรงตัวและเกาะเกี่ยวได้โดยเฉพาะหนูที่อาศัยอยู่ในท้องทุ่ง หรือพื้นที่เกษตรกรรม ขนส่วนใหญ่มีสีน้ำตาลและส่วนท้องสีขาว แต่ก็มีสีต่าง ๆ แตกต่างกันไปได้[2]

เช่นเดียวกับหนูในวงศ์ Muridae คือ พบได้แทบทุกภูมิประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่อาร์กติกเซอร์เคิล, ท้องทุ่ง, ทะเลทรายที่แห้งแล้ง, บ้านเรือนของมนุษย์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยปกติเป็นสัตว์ที่กินเมล็ดพืชเป็นอาหาร แต่ก็กินอาหารได้หลากหลายมาก เช่น เนื้อสัตว์, ซากสัตว์, อาหารที่กินเหลือ, แมลง เป็นต้น ฟันมีลักษณะเป็นฟันแทะที่งอกใหม่ได้ตลอดเวลา ในอัตราปีละ 5 นิ้ว เป็นฟันที่มีความแข็งแรง ซึ่งทำให้แทะได้แม้แต่สายไฟ หรือฝาผนังปูนซีเมนต์ สามารถเขียนเป็นสูตรฟันได้ว่า [2][3]

เป็นสัตว์ที่มีระบบเผาพลาญพลังงานหรือแมตาบอลิซึมเร็วมาก ในวันหนึ่งหัวใจเต้นได้เร็วมาก ถึงขนาดเมื่อเทียบกับหัวใจของช้างจะเท่ากับหัวใจของช้างเต้นถึง 70 ปี จึงเป็นสัตว์ที่มีความตื่นตัว ว่องไวตลอดเวลา โดยจะกินอาหารแทบทุกชั่วโมง โดยวันหนึ่ง สามารถกินอาหารได้มากถึงร้อยละ 40 ของน้ำหนักตัว เทียบเท่ากับมนุษย์กินซีเรียลมากถึงวันละ 80 กล่อง และเมื่อไปถึงที่ไหนมักจะถ่ายฉี่ไว้ ซึ่งเป็นการปล่อยฟีโรโมน รวมถึงการถ่ายมูลทิ้งไว้ด้วย [3]

แพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว มีระยะเวลาการตั้งท้องประมาณ 15-50 วัน ปีหนึ่งสามารถออกลูกได้หลายครอกและสามารถเพิ่มจำนวนประชากรได้เป็นพันตัว[2]

ในประเทศไทย มีหนูในวงศ์นี้เพียงชนิดเดียว คือ หนูน้ำดอยอ่างกา (Eothenomys melanogaster)[4] ซึ่งพบได้ที่ดอยอ่างกา จังหวัดเชียงใหม่[5]

อ้างอิง แก้

  1. จาก itis.gov
  2. 2.0 2.1 2.2 Eisenberg, J.F.; Feaver, J. & Krebs, C.J. (1984): Cricetidae. In: Macdonald, D. (ed.): The Encyclopedia of Mammals: 640–655, 672–673. Facts on File, New York. ISBN 0-87196-871-1
  3. 3.0 3.1 Mouse: A Secret Life, "Animal Planet Showcase" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556
  4. จาก IUCN
  5. ""อ่างกา" ประตูสู่หิมาลัย, คอลัมน์จุดประการ จากกรุงเทพธุรกิจ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-03-03. สืบค้นเมื่อ 2013-01-16.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้