วงศ์หนู
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไมโอซีนตอนต้น-ปัจจุบัน
หนูหริ่งบ้าน (Mus musculus) ซึ่งเป็นหนูชนิดหนึ่งที่พบได้ในบ้านเรือนมนุษย์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Rodentia
วงศ์ใหญ่: Muroidea
วงศ์: Muridae
Illiger, 1811
วงศ์ย่อย

วงศ์หนู (อังกฤษ: Rat, Mice, Mouse; วงศ์: Muridae) เป็นวงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์หนึ่ง ในอันดับสัตว์ฟันแทะ (Rodentia) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Muridae

นับเป็นสัตว์ที่มนุษย์รู้จักกันเป็นอย่างดี และนับเป็นวงศ์ของสัตว์ฟันแทะที่มีความหลากหลายและจำนวนสมาชิกมากที่สุดด้วย ด้วยมีจำนวนสมาชิกมากกว่า 700 ชนิด ตั้งแต่อาร์กติกเซอร์เคิลจนถึงปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ โดยยังแบ่งออกเป็นวงศ์ย่อยได้อีก 5 วงศ์ (ดูในตาราง)

ลักษณะ แก้

หนู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กมีขนาดโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 4.5-8 เซนติเมตร (รวมทั้งหาง) ในหนูหริ่งจิ๋วแอฟริกา (Mus minutoides) ที่พบในแอฟริกา จนถึง 40 เซนติเมตร ในหนูเมฆหางเรียวยักษ์ใต้ (Phloeomys cumingi) ที่พบในฟิลิปปินส์

หนู มีลักษณะเด่น คือ มีฟันแทะคู่หน้าที่แหลมยาวและแหลมคมทั้งบนและล่าง 2 คู่ มีหางเรียวยาว มีขนปกคลุมลำตัวส่วนมากจะเป็นสีน้ำตาล ด้านท้องสีขาว โดยทั่วไปที่ส่วนหางจะไม่มีขน ฟันของหนูจำเป็นต้องกัดแทะอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะงอกยาวออกมาคับหรือทะลุปาก เพราะงอกออกมาเฉลี่ยปีละ 5 นิ้ว ทำให้ไม่สามารถกินอาหาร และทำให้ตายได้ ซึ่งฟันของหนูสามารถเขียนเป็นสูตรได้ว่า  

ดังนั้นหนูจึงเป็นสัตว์ที่มักชอบกัดแทะอยู่เสมอ ยังความเดือดร้อนมาสู่มนุษย์อยู่เสมอ ๆ หนูเป็นสัตว์ที่มีระบบเผาพลาญพลังงานหรือแมตาบอลิซึมเร็วมาก หัวใจของหนูวันหนึ่งเต้นได้เร็วมาก ถึงขนาดเมื่อเทียบกับหัวใจของช้างจะเท่ากับหัวใจของช้างเต้นถึง 70 ปี หนูจึงเป็นสัตว์ที่มีตื่นตัว ว่องไวตลอดเวลา หนูจะกินอาหารแทบทุกชั่วโมง โดยวันหนึ่ง หนูสามารถกินอาหารได้มากถึงร้อยละ 40 ของน้ำหนักตัว เทียบเท่ากับมนุษย์กินซีเรียลมากถึงวันละ 80 กล่อง หนูเมื่อไปถึงที่ไหนมักจะถ่ายฉี่ไว้ ซึ่งเป็นการปล่อยฟีโรโมนของหนู รวมถึงการทิ้งมูลไว้ด้วย [1]

วงจรชีวิตและการแพร่พันธุ์ แก้

หนู เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี กินอาหารได้หลากหลายประเภท แต่จะชอบอาหารประเภท เมล็ดพืชมากที่สุด ดังนั้นจึงมักพบหนูได้แทบทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นในป่าดิบ, ทะเลทราย, พื้นที่ชุ่มน้ำ, พื้นที่เกษตรกรรม ตลอดจนบ้านเรือนของมนุษย์ หนูในบ้านเรือนของมนุษย์เมื่อเทียบกับหนูในแหล่งธรรมชาติแล้ว มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยกว่ามาก โดยหนูที่ในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ทุ่งนา หรือพื้นที่เกษตรกรรม จะมีใบหูและดวงตาใหญ่กว่าหนูตามแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งมีขนาดหางที่ยาวกว่า และสีขนที่เข้มกว่าด้วย[1]

ในพื้นที่เขตหนาว ก่อนถึงฤดูหนาวหนูจะกักตุนอาหารไว้เพื่อรอถึงเวลา ซึ่งอาจจะถึงติดลบ 10 องศาเซนติเกรด สภาพอากาศในช่วงนี้จะสาหัสมาก แต่หากถ้ายังไม่มีผลใด ๆ ต่อการอาศัยอยู่ของหนูในโพรงดินก็ไม่เป็นไร หนูบางตัวอาจโผล่ขึ้นมาเพื่อหาอาหารเพิ่ม ซึ่งเสี่ยงมากต่อการแข็งตาย[1]

หนูเป็นสัตว์ที่ถือว่าอยู่ในช่วงต้น ๆ ของห่วงโซ่อาหาร ด้วยการเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก จึงมักตกเป็นอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่กว่าเสมอ ๆ มีสัตว์หลายชนิดที่กินหนูเป็นอาหาร เช่น แมว, งู, นกเค้าแมว, หมาจิ้งจอก แม้กระทั่งผึ้งบางชนิด ที่ไม่ได้กินหนูเป็นอาหาร แต่ก็มีอันตรายต่อหนูที่อาศัยอยู่ในรูด้วย ซึ่งหนูก็ได้ทดแทนด้วยการเป็นสัตว์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้เร็วมาก หนูตัวผู้จะได้ยินเสียงหนูตัวเมียจากเสียงร้อง "จี๊ด ๆ" ที่มีความถี่สูงมาก[1] โดยในบางชนิด เช่น หนูบ้าน (Rattus norvegicus) หรือหนูท้องขาว (R. rattus) สามารถแพร่พันธุ์ออกลูกเมื่ออายุได้เพียง 3-5 เดือน ตั้งท้องนานราว 21-22 วัน โดยสามารถมีลูกติด ๆ กันได้หลายครอก เฉลี่ยปีนึงอาจจะมีลูกได้มากถึง 8 ครอก ครอกหนึ่งประมาณ 5-6 ตัว ลูกหนูเมื่อแรกเกิด ตาจะยังไม่ลืมและยังไม่มีขนปกคลุมลำตัว [2] [3] อีกทั้งยังเป็นพาหะนำโรคร้ายอีกหลายโรคมาสู่มนุษย์ เช่น โรคฉี่หนู, กาฬโรค, ภูมิแพ้, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ไขสันหลังอักเสบ เป็นต้น โดยเฉพาะกาฬโรคเคยมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงมาแล้วในทวีปยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17

ในวัฒนธรรม แก้

ในวัฒนธรรม หนูยังมีความผูกพันกับมนุษย์มาเป็นเวลายาวนาน ในหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติ หลายความเชื่อ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบโครงกระดูกหนูอยู่เคียงข้างกับโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์[1] ชาวจีนในสมัยโบราณเชื่อว่า วันที่ 3 ของวันปีใหม่ เป็นวันที่หนูจะแต่งงานกัน ชาวจีนจะไม่นอนดึกจนเกินไป และจะโปรยเมล็ดข้าวและเกลือลงบนพื้นเพื่อเป็นอาหารของหนูด้วย[4] ชาวฮินดูมีเทพเจ้าองค์หนึ่งที่เป็นเทพระดับสูง คือ พระพิฆเนศ ที่มีส่วนเศียรเป็นช้าง และได้ทรงหนูเป็นพาหนะ ดังนั้นชาวฮินดูจึงถือว่าหนูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์[5] หรือในนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมันเรื่อง Pied Piper of Hamelin

ในทางโหราศาสตร์ หนูเป็นสัญลักษณ์ของปีนักษัตรปีที่ 1 ที่เรียกว่า "ปีชวด"[6] และเป็นพยัญชนะไทยลำดับที่ 25 คือ "น.หนู" จัดเป็นอักษรเสียงต่ำ ในทางภาษาไทยยังเป็นคำวิเศษณ์หมายถึงสิ่งที่มีขนาดเล็กหรือใช้เรียกเด็กตัวเล็ก ๆ ด้วยความเอ็นดูด้วย[7]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย หนูก็ถูกอ้างอิงถึงหลายประการ เช่น เป็นตัวการ์ตูนที่มีเสียงชื่ออย่างมากของวอลต์ ดีสนีย์ คือ มิกกี้ เมาส์[8] และยังอ้างอิงถึงในภาพยนตร์การ์ตูนหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ The Rescuers ในปี ค.ศ. 1977 เป็นต้น

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Mouse: A Secret Life, "Animal Planet Showcase" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: พฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2556
  2. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนู
  3. หนู (Rats and Mices)
  4. หน้า 63, สนุกกับเทศกาลเฉลิมฉลอง, แปลและเรียบเรียงโดย แสงจินดา กันยาทิพย์, (พ.ศ. 2541) สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ISBN 974-604-217-3
  5. ทำไมพระพิฆเนศต้องขี่หนู
  6. จากราชบัณฑิตยสถาน
  7. [https://web.archive.org/web/20120717163219/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-41-search.asp เก็บถาวร 2012-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน หนู น.ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  8. "วันนี้ในอดีต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-07. สืบค้นเมื่อ 2012-04-01.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้