ลิเกฮูลู หรือ ดิเกฮูลู เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ของไทย ขึ้นบทเป็นเพลงประกอบดนตรีและจังหวะตบมือ

ที่มา แก้

มีผู้ให้ที่มาของดิเกฮูลูเอาไว้หลายสำนวน ในที่นี้จะขอหยิบยกออกมา 2 สำนวน กล่าวคือ หนึ่ง ตามสำนวนที่รับรู้กันโดยทั่วไป มีผู้รู้บางท่านได้ศึกษาไว้ว่าดิเก (Dikir) มีรากศัพท์มาจากคำว่าซี เกร์ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ หมายถึงการอ่านทำนองเสนาะ ส่วนคำว่าฮูลู แปลว่าใต้หรือทิศใต้ รวมความแล้วหมายถึงการขับบทกลอนเป็นทำนองเสนาะจากทางใต้ ท่านผู้รู้ยังได้กล่าวไว้อีกว่า ลิเกฮูลูน่าจะเกิดขึ้นเริ่มแรกที่อำเภอรามัน ซึ่งไม่ทราบแน่ว่าผู้ริเริ่มนี้คือใคร ข้อสนับสนุนก็คือชาวปัตตานีเรียกคนในอำเภอรามันว่าคนฮูลู ในขณะที่คนมาเลเซียเรียกศิลปะนี้ว่า "ลิเกปารัต" ซึ่งปารัต แปลว่าเหนือ จึงเป็นที่ยืนยันได้ว่า ดิเกฮูลู หรือดิเกปารัตนี้มาจากทางเหนือของมาเลเซียและทางใต้ของปัตตานี ซึ่งก็คือบริเวณอำเภอรามัน จังหวัดยะลา

และสำนวนที่สอง จากการศึกษาของประพนธ์ เรืองณรงค์ ในหนังสือ "บุหงาปัตตานี คติชนไทยมุสลิมชายแดนภาคใต้" คำว่าลิเก หรือลิเก ในพจนานุกรม Kamus Dewan พิมพ์โดยสมาคมภาษาและหนังสือประเทศมาเลเซียเรียกลิเกเป็นดิเกร์เป็นศัพท์เปอร์เซีย มีสองความหมายคือ เพลงสวดสรรเสริญพระเจ้า ปกติเป็นการขับร้องเนื่องในเทศกาลวันกำเนิดพระนะบีมุฮัมมัด ชาวมุสลิมเรียกงานเมาลิด เรียกการสวดดังกล่าวนี้ว่า "ดิเกเมาลิด"

นอกจากนี้ดิเกยังหมายถึงกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่ากันเป็นกลุ่มหรือเป็นคณะ โดยมีไม้ไผ่มาตัดท่อนสั้นแล้วหุ้มกาบไม้ข้างหนึ่งทำให้เกิดเสียงดัง แล้วร้องรำทำเพลงขับแก้กันตามประสาชาวป่า (ว่ากันว่าไม้ไผ่หุ้มกาบไม้นี้ได้กลายเป็นบานอ หรือรือปานา หรือรำมะนาที่ใช้กันมาจนทุกวันนี้)

ประพนธ์ เรืองณรงค์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ดิเกน่าจะมาจากความหมายที่สอง คือกลอนเพลงโต้ตอบ นิยมเล่นกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งเป็นการร้องเพลงลำตัดภาษาอาหรับ ที่เรียกว่า "ซีเกร์มีรฮาแบ" การร้องเป็นภาษาอาหรับ ถึงแม้จะไพเราะแต่คนไม่เข้าใจ จึงนำเอาเนื้อเพลงภาษาพื้นเมือง ซึ่งก็คือภาษายาวีตีเข้ากับรำมะนา จึงกลายเป็นดิเกฮูลูมาตราบเท่าปัจจุบัน

และการแสดงประเภทนี้น่าจะมีขึ้นครั้งแรก ณ ท้องที่เหนือลำน้ำอันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำปัตตานี ซึ่งชาวบ้านเรียกฮูลู หรือทิศฮูลู (ฝ่ายใต้ลำน้ำเรียกฮิเล) ตรงทิศฮูลูเป็นแหล่งกำเนิดฮูลูนั้น เข้าใจว่าคือท้องที่อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี และอำเภอบันนังสตา อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ดิเกฮูลูแต่ละคณะจะมีสมาชิกประมาณ 10 กว่าคน เป็นชายล้วน เป็นผู้ขับร้องต้นเสียง 1-3 คน ที่เหลือจะเป็นลูกคู่ และอาจมีนักร้องภายนอกวงมาสมทบร่วมสนุกอีกก็ได้

บทกลอนที่ใช้ขับร้องนั้น เรียกเป็นภาษามลายูท้องถิ่นว่าปันตน หรือปาตง เวลาแสดงใช้ขับกลอนโต้ตอบ ไม่ได้แสดงเป็นเรื่องราวดังเช่นการละเล่นพื้นบ้านอย่างอื่น เช่น มะโย่ง หรือมโนห์รา

การแต่งกาย แก้

การแต่งกายของผู้เล่นดิเกฮูลู สมัยก่อนมักแต่งชุดอย่างชาวบ้านทั่วไปคือ โพกหัว สวมเสื้อคอกลม นุ่งโสร่ง บางครั้งเหน็บขวานไว้ข่มขวัญคู่ต่อสู้ ต่อมามีการแต่งกายแบบเล่นสิละ (ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชาวใต้) คือนอกจากจะนุ่งกางเกงขายาวธรรมดาเหมือนแต่เดิม ก็นุ่งผ้าโสร่งซอเกตลายสวยสดทับข้างนอกสั้นเหนือเข่าเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับมีผ้าลือปักคาดสะเอว นอกนั้นก็สวมเสื้อคอกลมมีผ้าโพกศีรษะเหมือนเดิม ปัจจุบันนิยมแต่งกายแบบสมัยนิยม หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละคณะให้มีสีสันสดใสสะดุดตา

เวทีแสดง แก้

จะยกพื้นประมาณ 1 เมตร เปิดโล่งไม่มีม่าน ไม่มีฉาก ลูกคู่จะขึ้นไปนั่งล้อมวง ร้องรับและตบมือโยกตัวให้เข้ากับจังหวะดนตรี ส่วนผู้ร้องหรือผู้โต้กลอนจะลุกขึ้นยืนข้าง ๆ วงลูกคู่ ถ้ากรณีมีการประชันกัน แต่ละคณะจะขึ้นไปอยู่บนเวทีด้วยกัน แต่ล้อมวงแยกกันพอสมควร การแสดงก็ผลัดกันร้องทีละรอบทั้งรุกทั้งรับ เป็นที่ครึกครื้นแก่ผู้ชม

ดนตรีดิเกฮูลูประกอบด้วยรำมะนาอย่างน้อย 2 ใบ ใช้ตีดำเนินจังหวะในการแสดง ฆ้อง 1 วง เป็นเครื่องกำกับจังหวะ ตีสม่ำเสมอประกอบการแสดง นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบและเป็นที่นิยมกันว่ามีส่วนทำให้สนุกสนานกันมากยิ่งขึ้น เช่น ขลุ่ย ลูกแซก แต่จังหวะที่ใช้เป็นประเพณีในการเล่นคือ การตบมือ

การแสดง แก้

การแสดงจะเริ่มต้นการแสดงด้วยดนตรีโหมโรงเป็นการเรียกผู้ชมและเร้าอารมณ์คนดู สมัยก่อนมีการไหว้ครูในกรณีที่มีการประชันกันระหว่างหมู่บ้าน (หรืออาจมีหมอผีของแต่ละฝ่ายปัดรังควานไล่ผีคู่ต่อสู้ก็มี) ปัจจุบันสู้กันด้วยศิลปะหรือคารมอย่างเดียว เมื่อลูกคู่โหมโรงเสร็จ ต่อจากนั้นนักร้องต้นเสียงจะออกมาวาดลวดลายด้วยเพลงในจังหวะต่าง ๆ ทีละคน เริ่มต้นเนื้อร้องกล่าวถึงความประสงค์ในการเล่น แล้วจึงเข้าสู่เรื่องราวแสดง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวจากเหตุการณ์บ้านเมือง ปัญหาท้องถิ่น ความรักของหนุ่มสาว หรือเรื่องตลกโปกฮา

จากการสัมภาษณ์นายหะมะ แบลือแบ หรือแบมะ หัวหน้าคณะการแสดงดิเกฮูลู "มะ ยะหา" เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2547 ที่บ้านในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ผู้ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม สาขาการแสดงลิเกฮูลู4 แบมะสันนิษฐานว่าดิเกฮูลูน่าจะมีส่วนเกี่ยวพันหรือถ่ายทอดซึ่งกันและกันกับการแสดงลำตัดในภาคกลาง เนื่องจากมีการประชันกันทั้งในด้านน้ำเสียงและไหวพริบในการโต้ตอบ

กรณีที่มีการประชัน หรือบางครั้งก็เป็นเรื่องราวกระทบกระแทกเสียดสีกัน หรือหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มากล่าวเพื่อให้ผู้ชมชื่นชอบในการใช้คารมและปฏิภาณของผู้แสดง นับว่าเป็นการให้ความบันเทิง พร้อมทั้งให้ความรู้ สั่งสอนชาวบ้านผู้ชมไปในตัว

ประเพณีการแข่งขันจะมีการประชันระหว่างคณะต่าง ๆ เพื่อหาคณะที่ชนะเลิศในแต่ละปีที่มีกันมาตั้งแต่ในอดีต การตัดสินแตกต่างจากปัจจุบันเล็กน้อย คือในอดีตจะตัดสินผ่านพลังเสียง ไหวพริบในการโต้ตอบ ในการแสดงลูกคู่จึงนั่งล้อมกันเป็นวงกลม หัวหน้าวงจะอยู่ตรงกลาง การนั่งล้อมวงเพื่อให้เสียงรวมกันจุดเดียว ท่ารำประกอบการแสดงจะไม่หลากหลาย และเนื้อร้องเป็นภาษามลายู ปัจจุบันการแข่งขันจะตัดสินจากท่าทางของลูกคู่ด้วย ดังนั้นจึงต้องปรับรูปแบบในการนั่งเป็นนั่งเรียงหน้ากระดานเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นท่ารำของลูกคู่อย่างชัดเจน ในส่วนของเนื้อร้องได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นภาษาไทยควบคู่ไปกับการร้องเป็นภาษามลายู

ลักษณะพิเศษของดิเกฮูลู คือหัวหน้าคณะหรือผู้ร้องนำสามารถเดินทางไปแสดงในที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ที่มีคณะดิเกฮูลูได้โดยไม่ต้องมีลูกคู่ไปด้วย เพราะสามารถไปแสดงร่วมกับลูกคู่ของคณะอื่น ๆ ได้

แบมะเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเข้ามาแสดงดิเกฮูลูว่า เมื่อสมัยวัยรุ่นได้ไปดูดิเกฮูลูที่มาเล่นในอำเภอยะหา รู้สึกสนใจอยากที่จะเรียนรู้จึงไปขอเรียนจากคณะที่เข้ามาแสดงที่อำเภอ จนกระทั่งมีความรู้เพียงพอที่จะมาแสดงและตั้งวงเป็นของตัวเอง

แบมะได้ปรับรูปแบบการแสดงดิเกฮูลูของตนโดยการนำเพลงลูกทุ่งเข้ามาผสมผสานในการร้อง มิได้มีไว้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการรณรงค์ โดยเนื้อหาในเพลงจะเกี่ยวข้องกับศาสนา สถานการณ์ปัจจุบัน และสอดแทรกข่าวสารจากรัฐบาล เช่น เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ความสะอาด โรคเอดส์ ความรักชาติ ความสามัคคี เศรษฐกิจพอเพียง การเลือกตั้ง และภัยร้ายของยาเสพติด เข้าไปในเนื้อหาที่ใช้แสดง

พบว่าการแสดงดิเกฮูลูเป็นอีกสื่อหนึ่งที่สามารถเข้าถึงชาวบ้าน ทั้งยังเป็นตัวช่วยหนึ่งในการเผยแพร่รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงภัยร้ายต่าง ๆ และข้อปฏิบัติที่ถูกต้องดังที่กล่าวมาได้เป็นอย่างดี

การแสดงดิเกฮูลู แต่เดิมนิยมแสดงในงานพิธีต่างๆ เช่น มาแกปูโล๊ะ (งานแต่งงาน) พิธีเข้าสุหนัต งานเมาลิด งานฮารีรายอ งานบุญ และแสดงเพื่อแก้บน เป็นการขอพรจากพระอัลลอฮฺโดยผ่านการแสดงดิเก ปัจจุบันยังแสดงในงานเทศกาลต่าง ๆ ร่วมกับมหรสพอื่น ๆ เช่น ในงานพิธีถวายพระพรวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น หรือเป็นการแสดงเพื่อมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง

ดังเช่นคณะดิเกฮูลูที่กล่าวถึงในงานโฆษณาชุดสำนึกรักบ้านเกิดข้างต้น หรือที่รู้จักกันในนามของดิเกฮูลูคณะแหลมทราย ของนายเจะปอ สะแม แห่งตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นคณะเครือข่ายเพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะบริเวณรอบอ่าวปัตตานี การแสดงจะมีเนื้อหากล่าวถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงชายฝั่ง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ของประมงพื้นบ้าน และวิถีชีวิตแต่ละวัน

โดยการแสดงออกผ่านท่าทางประกอบและการตบมือ เช่น การใช้มือแสดงท่าทาง โดยการโบกมือกวักมือ หมายถึงเรียกให้กลับบ้านให้มาดูแลทะเลบ้านเรา ท่าทางการตบมือเหมือนปลา เหมือนกับการแสดงให้เห็นถึงการเอาตัวรอดของปลาให้หลุดพ้นจากการตามล่า ทำลายจากระเบิด อวนลาก อวนรุก และท่าทางการตบมือชักเชือก ที่แสดงถึงความร่วมมือ ความสามัคคี โดยใช้เชือก ซึ่งเป็นเครื่องมือจับปลาของชาวประมงพื้นบ้าน เป็นสื่อให้เกิดพลังชุมชน เป็นต้น

ปัจจุบันดิเกฮูลูแสดงกันทั่วไปในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล และปัตตานี

อ้างอิง แก้