ร้านสตาร์ซอคเก้อร์

ร้านสตาร์ซอคเก้อร์ (อังกฤษ: Star’s Soccer Shop) เป็นร้านค้าปลีกซึ่งจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับกีฬา ลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ มีของที่ระลึกจากสโมสรฟุตบอลที่มีชื่อเสียงในทวีปยุโรป และกิจการให้เช่าสื่อวีดิทัศน์บันทึกการแข่งขัน หรือช่วงจังหวะสำคัญในการแข่งขัน (Highlight) กีฬาโดยเฉพาะฟุตบอล ร่วมด้วยสิ่งพิมพ์ในเครือสยามสปอร์ตทุกชนิด ดำเนินงานโดยบริษัท วรรคสร โปรโมชัน จำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526[1] และมีสมลักษณ์ โหลทอง ภรรยาของระวิ ผู้ก่อตั้งบริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการผู้จัดการ[2] โดยมีสาขาทั้งหมด 15 แห่งทั่วประเทศ[3] แต่ปัจจุบันได้ปิดกิจการหมดทุกสาขาแล้ว โดยสาขาซีคอนสแควร์เป็นสาขาสุดท้ายที่ปิดตัวลง ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564[4]

ร้านสตาร์ซอคเก้อร์
(บริษัท วรรคสร โปรโมชัน จำกัด)
ประเภทค้าปลีก/ให้เช่าสื่อวีดิทัศน์
รูปแบบร้านค้า/แผงค้า
ภายในศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า
ก่อตั้งพ.ศ. 2526
ผู้ก่อตั้งระวิ โหลทอง
สำนักงานใหญ่255/213 ถนนลาดพร้าว ซอย 80
แขวง/เขตวังทองหลาง
กรุงเทพมหานคร
บุคลากรหลัก
สมลักษณ์ โหลทอง
กรรมการผู้จัดการ

ประวัติ แก้

บริษัทฯ เริ่มเปิดดำเนินงานร้านสตาร์ซอคเก้อร์ เป็นสาขาแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 ที่ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซา สำหรับสาขาที่มีรายได้สูงสุดนับแต่เปิดทำการ ได้แก่สาขาที่ตั้งอยู่บริเวณชั้นจี ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยในระยะแรกของการเปิดให้บริการนั้น สินค้ากีฬาที่ระลึกซึ่งวางจำหน่าย ทางร้านเป็นผู้ผลิตขึ้นเอง ด้วยการเลียนแบบจากของจริง[2] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2537 บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท เริ่มดำเนินการเป็นผู้รับลิขสิทธิ์ เพื่อผลิตและนำเข้าสินค้าดังกล่าว จากประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรก[5] จากนั้นจึงส่งมอบให้บริษัทฯ เป็นผู้จัดจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง ต่อมา บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท ก็ทยอยเจรจาลิขสิทธิ์กับประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบัน บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท โอนสิทธิดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง[5]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท เข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทฯ[5] จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท จำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดออกไป ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 บมจ.สยามสปอร์ตซินดิเคท เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางธุรกิจ[6] โดยให้รับโอนลิขสิทธิ์วีดิทัศน์กีฬาจากต่างประเทศ จากบริษัท สปอร์ตสแอนด์เลเซอร์โปรโมชัน จำกัด ซึ่งเดิมนำมาบันทึกลงม้วนวิดีโอเทปเพื่อให้เช่าในร้านฯ เปลี่ยนรูปแบบเป็นกิจการจำหน่ายขาด โดยใช้สื่อวีดิทัศน์ประเภทอื่นคือวีซีดีและดีวีดี

อ้างอิง แก้

  1. "รายละเอียด บริษัท วรรคสร โปรโมชัน จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-08-23.
  2. 2.0 2.1 "ปีศาจแดง" ไฟเขียว "สตาร์ ซอคเก้อร์" โดย ยังดี วจีจันทร์ จากนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ. 2540
  3. รายชื่อสาขาร้านสตาร์ซอคเก้อร์ เก็บถาวร 2012-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์สยามสปอร์ตบุ๊กส์ เก็บถาวร 2012-09-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. แฟนบอลรุ่นเด็กหนวดใจหาย! จบตำนานร้าน 'สตาร์ซอคเก้อร์' สาขาสุดท้ายปิดตัววันนี้
  5. 5.0 5.1 5.2 "ประวัติความเป็นมา บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-27. สืบค้นเมื่อ 2012-08-23.
  6. ประวัติความเป็นมา บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)