รุกขกร (arborist) หรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ (tree surgeon) คือนักวิชาชีพที่มีหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้ใหญ่ (ปกติเป็นต้นไม้ใหญ่ในเมืองและในบริเวณอาคารสถานที่ รวมถึงไม้เลื้อยและไม้พุ่มมีแก่นที่เป็นไม้ยืนต้น) ซึ่งรวมถึงงานปลูก งานตัดแต่ง งานค้ำจุน งานป้องกันและรักษาโรคและแมลง หรือโรคพืชอื่น งานป้องกันการถูกฟ้าผ่า และงานโค่นต้นไม้ นอกจากนี้ยังรวมงานวางแผน งานให้คำปรึกษา การทำรายงานและการเป็นพยานศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้นไม้ใหญ่มีคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์มาก แต่ต้นไม้ใหญ่ก็มีการดำรงชีวิตที่ซับซ้อน มีขนาดใหญ่โตและมีน้ำหนักมาก ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจึงต้องการการเฝ้าระมัดระวังและการดูแลเพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

รุกขกรใช้เลื่อยไฟฟ้าตัดต้นยูคาลิปตัสในสวนสาธารณะ

ปฏิบัติการ แก้

ต้นไม้ใหญ่อาจต้องการการตัดแต่งเพื่อให้พ้นจากสายไฟฟ้า กำแพงหรือรั้วและอาคาร หรือต้องการให้ต้นไม้ใหญ่มีความแข็งแรง อายุยืน ให้ผู้คนสามารถใช้พื้นที่ใต้ต้นได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ต้นไม้ใหญ่ยังต้องการตัดแต่งให้มีรูปทรงสวยงามสร้างสุนทรียภาพ และความปีติแก่ประชากรในชุมชน

ต้นไม้ใหญ่ในชุมชนเมืองย่อมได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ และจากสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน รวมทั้งจากภัยธรรมชาติเอง วิธีการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทของต้นไม้และสภาพแวดล้อมที่ต้นไม้ใหญ่นั้นขึ้นอยู่ ดังนั้นปฏิบัติการในการตัดแต่งแลพการดูแลจึงต้องกระทำโดยผู้ที่มีความรู้และทักษะเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่คือ "รุกขกร" โดยตรง

เทคนิคในการดูแลและตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ของรุกขกรมีหลากหลายวิธีที่แตกต่างจากวิธี “การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่” แบบทั่วๆ ไปซึ่งกำลังปฏิบัติกันอยู่ ซึ่งถือว่าไม่ได้มาตรฐานของงานรุกขกรรมสมัยใหม่ วิธีทั่วไปที่ปฏิบัติผิดๆ ได้แก่การ “บั่นยอด” “การกุดกิ่ง” และ “การตัดโกร๋น” (hatracking - หรือการตัดพุ่มใบด้านนอกออกหมดเหลือแต่ตอกิ่ง) การปฏิบัติในลักษณะนี้มีผลเสียอย่างต่อต้นไม้ใหญ่เป็นอย่างมาก เมื่อพุ่มใบทั้งหมดถูกตัดทิ้งขีดความสามารถในการผลิตอาหารด้วยการสังเคราะห์แสงย่อมหมดไป ต้นไม้จะดึงเอาพลังงานเท่าที่สะสมทั้งหมดไว้มาเร่งสร้างพุ่มใบขึ้นมาใหม่ ไม่สามารถนำไปสร้างเยื่อเจริญ รากและสร้างเนื้อเปลือกปิดแผลหรือความเสียหายจากโรคและแมลง นอกจากนี้ การตัดกิ่งหรือลำต้นให้เป็นระหว่างกิ่งแยกเป็นการเร่งให้เกิดการผุและยังจะมีกิ่งเล็กมากมายแตกแน่นรอบแผลผุ เมื่อเวลาผ่านไปพุ่มใบที่โตและแน่นจะไม่แข็งแรงและหักง่าย

การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่จึงควรกระทำอย่างมีเป้าหมาย การตัดทรงพุ่มทุกแห่งทำให้ต้นไม้สูญเสียขีดความสามารถในการสังเคราะห์แสง แผลที่เกิดทำให้ต้นไม้ใหญ่เสี่ยงต่อการผุและมันจะใช้พลังงานที่สะสมมาสร้างเนื้อเปลือกปิดแผล การตัดแต่งต้นไม้ใหญ่จึงต้องมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจนและทำให้น้อยสุดเท่าที่จำเป็น

งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทาสีปิดแผลต้นไม้ ทาด้วยปูนแดง หรืออย่างอื่น เช่นซิเมนต์เป็นสิ่งไม่จำเป็นเพราะเมื่อเสื่อมคุณภาพมันกลับกลายเป็นที่กักความชื้น ที่ก่อให้เกิดการขยายพันธุ์ของเชื้อผุ การตัดแต่งอย่างถูกต้องในตำแหน่งที่เหมาะสมเป็นการป้องกันเชื้อผุได้ดีกว่า

การใช้เคมีภัณฑ์อาจจำเป็นในการปราบโรคและแมลงที่ร้ายแรง การใช้จะต้องศึกษาชนิดของโรคและแมลงให้ชัดเจนก่อนเลือกใช้วิธีให้ซึ่งมีทั้งวิธีพ่น ให้ทางราก หรือฉีดเข้าทางกิ่ง

ปัญหาการอัดแน่นของดินที่บริเวณรากของต้นไม้ใหญ่ก็มีวิธีปฏิบัติทางรุกขกรรมที่เหมาะสมอยู่หลายวิธี

สมรรถนะของรุกขกร แก้

รุกขกรสามารถประเมินต้นไม้ในด้านสุขภาพ ความแข็งแรงทางโครงสร้างของต้น ความปลอดภัย หรือความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม รวมทั้งระหว่างในการปลูกจากสิ่งปลูกสร้าง วิชารุกขกรรมสมัยใหม่ได้ก้าวหน้าไปค่อนข้างรวดเร็วทั้งทางด้านเทคโนโลยีและวิธีปฏิบัติจากวิธีเก่าๆ ที่เคยปฏิบัติแต่เดิมมา รุกขกรรมสมัยใหม่ได้นำผลการวิจัยมาเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติ

ผู้ที่อาจเรียกตัวเองเป็นรุกขกรได้ จะต้องมีความรู้และทักษะโดยสรุปดังนี้

  • มีความรู้เกี่ยวการดำรงชีวิตของต้นไม้ใหญ่ อุปนิสัย รวมทั้งโรคและแมลงที่เกี่ยวข้องและวิธีการป้องกันและรักษา
  • มีความรู้ในเทคนิคและวิธีการตัดแต่ง การทำศัลยกรรม รวมทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้เก่าแก่ที่สำคัญ
  • มีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือและเครื่องจักรกล
  • มีทักษะในการปีนป่าย การใช้เชือกและอุปกรณ์นิรภัย รู้จักเทคนิควิธีการป้องกันภัยอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
  • มีความรู้เกี่ยวกับสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใด้ดิน
  • มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องและความรับผิดตามกฎหมายในการประกอบวิชาชีพ
  • มีความรู้ในการประเมินค่าของต้นไม้ใหญ่ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และด้านนิเวศวิทยา

เพื่อเป็นการประกันแก่สังคมและผู้บริโภค ผู้ที่จะเรียกตัวเองเป็น "รุกขกร" ได้จะต้องผ่านการทดสอบความรู้ ทักษะและประสบการณ์และการการฝึกงานมาเป็นเวลาตามกำหนด ผู้สอบผ่านจะได้รับใบรับรองความรู้ความสามารถ (Certified arborist)

การศึกษา แก้

วิชารุกขกรรมแตกสาขาแยกมาจากสาขาการป่าไม้และสาขาพืชสวนเนื่องจากลักษณะการทำงานและพื้นที่การทำงานอยู่ในชุมชนเมืองและตามสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ทั้งป่าหรือสวนผลไม้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในต่างประเทศในยุโรป สหรัฐฯ และออสเตรเลียได้เปิดสอนวิชา "รุกขกรรม" (Arboriculture)ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอกเพื่อเร่งผลิต "รุกขกร" ให้มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการ ส่วนใหญ่เปิดเป็นวิชาเคียงคู่กับ วิชา "การป่าไม้ในเมือง" (Urban Forestry)และวิชา "วนวัฒนวิทยาเขตเมือง" (Urban Silviculture)ที่คณะ "วนศาสตร์" มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน

องค์กรด้านรุกขกรรม แก้

ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ มีความก้าวหน้าในด้านนี้มาก มีการจัดตั้ง “สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ” (The International Society Of Arboriculture) องค์กรอิสระไม่หวังผลกำไรเพื่อเผยแพร่และยกระดับการปฏิบัติวิชาชีพรุกขกรรม ส่งเสริมให้มีการศึกษาและการสอบรับใบรับรองความรู้ความชำนาญและความสามารถพื้นฐาน และการรับรองความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านรุกขกรรมสาธารณูปโภค รุกขกรรมเทศบาล ฯลฯ

ในสหรัฐอเมริกามีการจัดตั้งสมาคมที่ปรึกษาด้านรุกขกรรม (The American Society of Consulting Arborists) โดยเฉพาะขึ้นโดยสมาชิกจะต้องจบการศึกษาด้านรุกขกรรมระดับมหาวิทยาลัยหรือผู้ที่สอบได้ใบรับรองความสามารถ รุกขกรที่ปรึกษาผู้ถือใบรับรองจะเป็นผู้ชำนาญเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในด้านจรรยาบรรณ กฎหมาย การพัฒนาเมือง การประเมินค่าต้นไม้ และบ่อยครั้งจะได้รับเชิญให้เป็นพยานศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

ประเด็นปัญหาด้านกฎหมาย แก้

ในต่างประเทศมีกฎหมายต่างๆ ว่าด้วยต้นไม้ใหญ่อยู่มากที่เกี่ยวกับรุกขกรและผู้เกี่ยวของกับต้นไม้ใหญ่โดยรวมเช่น

  • ความเป็นเจ้าของของต้นไม้ใหญ่บนหรือใกล้แนวเขตที่ดิน ปัญหากิ่งยื่น การตัดกิ่งหรือการเก็บผล
  • การบังแสงหรือบังวิวบ้านคนอื่น
  • ความรับผิดต่ออันตรายจากกิ่งหัก หรือการโค่นล้ม การดันกำแพงหรือรั้วบ้านผู้อื่น
  • การปลูกต้นไม้ใหญ่เพื่อการประหยัดพลังงาน

สำหรับประเทศไทย กฎหมายเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ในเมือง ยังไม่มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แต่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชอยู่หลายมาตรา

รุกขกรในประเทศไทย แก้

ประเทศไทยมีอาชีพรับจ้างตัดโค่นต้นไม้ใหญ่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและตามเมืองใหญ่ๆ แต่ยังไม่มีอาชีพรับจ้างตัดแต่งและดูแลต้นไม้ใหญ่ที่มีความรู้ ทักษะและวิธีการที่เทียบได้กับรุกขกรในต่างประเทศ แม้จะมีผู้มีความรู้ด้านวนศาสตร์หรือพืชสวนเริ่มบุกเบิกวิชาชีพนี้บ้างแล้วก็ตามก็ยังไม่อาจเรียกได้เต็มที่ว่าเป็นนักวิชาชีพรุกขกรรม หรือรุกขกร

ประชากรเมืองของประเทศไทยกำลังเพิ่มสัดส่วนมากกว่าประชากรเกษตรตามแนวโน้มสากล เมืองขยายมากขึ้นการปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมืองทุกเมืองย่อมเพิ่มตาม ทำให้ปัญหาความรับผิดและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าของอาคารสถานที่เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสาธารณูปโภคและต้นไม้ใหญ่ย่อมเพิ่มมากเช่นกัน การรณรงค์ปลุกต้นไม่ใหญ่ในเมืองด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยาและการประหยัดพลังงานนับเป็นมูลเหตุสำคัญในการเพิ่มจำนวนต้นไม้ การพัฒนาบุคลากรผู้มีความเชียวชาญเฉพาะ คือ รุกขกรจึงจำเป็นสำหรับประเทศไทย

อ้างอิง แก้

  1. เดชา บุญค้ำ ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2543

แหล่งข้อมูลอื่น แก้