ราดหน้า

ก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง

ราดหน้า[1] หรือ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า[2] เป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ที่ทำโดยการใช้เส้นลงไปผัดกับน้ำมันอ่อน ๆ ก่อน แล้วพักไว้ น้ำที่ใช้ราด เป็นน้ำต้มกระดูกผสมกับแป้งมันมีความข้นเหนียว เนื้อสัตว์นิยมใช้ เนื้อหมู และ กุ้ง หรือเนื้อสัตว์อื่น ๆ ซึ่งถ้าเป็นเนื้อหมูจะนิยมหมักกับกระเทียมก่อน เพื่อให้เหนียวนุ่ม ผักนิยมใช้ผักคะน้า หรือจะใช้ผักอย่างอื่น เช่น ผักกวางตุ้ง หรือ ผักกาดขาว ก็ได้

ราดหน้าหมู

เส้นที่ใช้ทำราดหน้า มีหลายเส้น โดยมาก หากเป็นเส้นใหญ่ จะผัดกับน้ำมันและซีอิ๊วดำก่อน นอกจากนี้ยังมีเส้นหมี่ บะหมี่ ซึ่งโดยมากจะเป็นเส้นทอดกรอบ นอกจากนี้แล้ว ราดหน้าบางครั้งยังสามารถใส่ไข่ลงไปได้ด้วย อาจจะผสมลงไปในน้ำราดหน้า หรือทอดแยกออกมาโปะหน้าต่างหากแบบไข่เจียวหรือไข่ดาว ก็ได้

ประวัติ แก้

ราดหน้าที่เข้ามาแพร่หลายในไทยได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน เริ่มนำเข้ามาขายโดยชาวจีนโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว ราดหน้ายุคแรกจะห่อใบตองขาย ใส่ผักกวางตุ้งและหน่อไม้ ราดน้ำราดแต่น้อย ต่อมาจึงมีการปรับรูปแบบไปต่าง ๆ กัน ราดหน้าที่แพร่หลายในไทยนั้น มีที่มาจากราดหน้าของจีน 3 แหล่งดังนี้[3]

  • ราดหน้าแบบฮ่องกง น้ำราดหน้าไม่ใส่เต้าเจี้ยว ปรุงรสด้วยน้ำมันหอย
  • ราดหน้าแบบกวางตุ้ง น้ำราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว กระเทียม ใช้ผักคะน้าเป็นหลัก
  • ราดหน้าแบบแต้จิ๋ว น้ำราดสีเข้ม ใส่เต้าเจี้ยวเป็นเม็ด ไม่ใส่น้ำมันหอย และใส่คะน้าผัดไปกับน้ำราดด้วย

โกยซีหมี่ แก้

โกยซีหมี่ แปลเป็นภาษาไทยว่า "เนื้อไก่ฝอยราดเส้นบะหมี่"[4] เป็นอาหารของกวางตุ้งที่มีลักษณะคล้ายราดหน้า น้ำซุปปรุงจากน้ำต้มกระดูกหมูหรือไก่แบบราดหน้า แต่ส่วนประกอบน้ำราดจะใส่หน่อไม้ เห็ดหอม ต้นหอม พร้อมกับไก่สุกฉีกเป็นเส้นฝอย ๆ เมื่อปรุงเสร็จแล้วนำมาราดลงบนเส้นบะหมี่ลวก ในประเทศไทยบางร้านใช้หมี่กรอบหรือบะหมี่ทอดแทน

อ้างอิง แก้

  1. ราชบัณฑิตยสถาน (2552). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. p. 104.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน (2552). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. p. 6.
  3. ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว. กทม. แสงแดด. 2552. หน้า 9-10
  4. ราชบัณฑิตยสถาน (2552). พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (PDF). กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต. p. 13.