ราชอาณาจักรฮังการี (ค.ศ. 1920–1946)

รัฐในยุโรปกลางระหว่าง ค.ศ. 1920 ถึง ค.ศ. 1946

ราชอาณาจักรฮังการี (ฮังการี: Magyar Királyság) เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรัฐฮังการีระหว่าง ค.ศ. 1920 จนถึง ค.ศ. 1946 ราชอาณาจักรดำรงอยู่กระทั่งความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง และการประกาศสาธารณรัฐฮังการีที่ 2 แม้ว่าในช่วงเวลานี้ฮังการีจะปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย แต่กระนั้นก็ยังไม่มีพระมหากษัตริย์ มีเพียงผู้สำเร็จราชการ มิกโลช โฮร์ตี ซึ่งเป็นพลเรือเอกแห่งอดีตจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่ยังคงเป็นประมุขแห่งรัฐ หลังจากการปกครองแบบอนุรักษนิยมเป็นเวลานานตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จนถึง ค.ศ. 1944 ประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การครอบงำโดยนาซีเยอรมนีใน ค.ศ. 1944 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังปฏิบัติการทางทหารในเดือนมีนาคม ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการถูกแทนที่โดยผู้นำฟาสซิสต์ แฟแร็นตส์ ซาลอชี แห่งพรรคแอร์โรว์ครอสส์ในเดือนตุลาคม แต่ต่อมากองกำลังนาซีได้ถูกขับไล่ออกจากฮังการีโดยกองกำลังโซเวียต ทำให้ประเทศตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต และมีการล้มเลิกระบอบราชาธิปไตยใน ค.ศ. 1946 ในทางประวัติศาสตร์แล้ว จะมีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างยุคสมัยอื่น ๆ ที่ใช้ชื่อราชอาณาจักรฮังการีเหมือนกัน ดังนั้นคำว่า ยุคผู้สำเร็จราชการ หรือ ยุคโฮร์ตี จึงมักถูกใช้อธิบายเพื่อบ่งบอกถึงช่วงเวลานี้[7]

ราชอาณาจักรฮังการี

Magyar Királyság  (ฮังการี)
1920–1946
คำขวัญRegnum Mariae Patrona Hungariae (ละติน)
("ราชอาณาจักรแห่งพระแม่มารีย์ ผู้อุปถัมภ์แห่งฮังการี")
เพลงชาติHimnusz
(ไทย: "เพลงสดุดี")
ราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. 1942
ราชอาณาจักรฮังการีใน ค.ศ. 1942
เขตการปกครองของฮังการี ค.ศ. 1942
เขตการปกครองของฮังการี ค.ศ. 1942
เมืองหลวง
และเมืองใหญ่สุด
บูดาเปสต์
ภาษาราชการฮังการี
ภาษาพื้นเมืองรูซึน[1][2] (ในซับคาร์เพเทีย)
ภาษาทั่วไปโรมาเนีย • เยอรมัน • สโลวัก • โครเอเชีย • เซอร์เบีย • ยิดดิช • สโลวีเนีย • โรมานี[3]
กลุ่มชาติพันธุ์
(1941)[3]
รายการ
ศาสนา
(1941)[3]
เดมะนิมชาวฮังการี
การปกครองรัฐผู้สำเร็จราชการภายใต้ลัทธิอำนาจนิยม
(1920-1944)
รัฐฮังการีนิยม รัฐพรรคการเมืองเดียวภายใต้ระบอบเผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
(1944-1945)
คณะเปลี่ยนผ่านภายใต้รัฐบาลผสม
(1945-1946)
พระมหากษัตริย์ 
• 1920-1946
ว่าง[หมายเหตุ 1]
ประมุขแห่งรัฐ 
• 1920-1944
มิกโลช โฮร์ตี[หมายเหตุ 2]
• 1944-1945
แฟแร็นตส์ ซาลอชี[หมายเหตุ 3]
• 1945-1946
สภาแห่งชาติชั้นสูง[หมายเหตุ 4]
นายกรัฐมนตรี 
• 1920 (คนแรก)
กาโรย ฮูซาร์
• 1945-1946 (คนสุดท้าย)
โซลตาน ทิลดี
สภานิติบัญญัติสภานิติบัญญัติ
• สภาสูง
แฟลเชอฮาซ (Felsőház)
• สภาล่าง
เกปวีแชเลอฮาซ (Képviselőház)
ยุคประวัติศาสตร์ระหว่างสงคราม · สงครามโลกครั้งที่สอง
29 กุมภาพันธ์ 1920
4 มิถุนายน 1920
26 มีนาคม 1921
21 ตุลาคม 1921
2 พฤศจิกายน 1938
14 มีนาคม 1939
30 สิงหาคม 1940
11 เมษายน 1941
27 มิถุนายน 1941
19 มีนาคม 1944
16 ตุลาคม 1944
1 กุมภาพันธ์ 1946
พื้นที่
1920[4]92,833 ตารางกิโลเมตร (35,843 ตารางไมล์)
1930[5]93,073 ตารางกิโลเมตร (35,936 ตารางไมล์)
1941[6]172,149 ตารางกิโลเมตร (66,467 ตารางไมล์)
ประชากร
• 1920[4]
7,980,143
• 1930[5]
8,688,319
• 1941[6]
14,669,100
สกุลเงินโกโรนอ
(1920-1927)
แป็งเกอ
(1927-1946)
เขตเวลาUTC+1 (CET)
• ฤดูร้อน (เวลาออมแสง)
UTC+2 (CEST)
[หมายเหตุ 5]
ขับรถด้านขวา (ตั้งแต่ ค.ศ. 1941)
ก่อนหน้า
ถัดไป
1920:
สาธารณรัฐฮังการี
1938:
เชโกสโลวาเกีย
1939:
คาร์เพเทีย-ยูเครน
สโลวาเกีย
1940:
โรมาเนีย
1941:
ยูโกสลาเวีย
1944:
รัฐฮังการี
1944:
รัฐฮังการี
1945:
เชโกสโลวาเกีย
โรมาเนีย
ยูโกสลาเวีย
สหภาพโซเวียต
1946:
สาธารณรัฐฮังการี
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ โครเอเชีย
 ฮังการี
 โรมาเนีย
 เซอร์เบีย
 สโลวาเกีย
 สโลวีเนีย
 ยูเครน
  1. อ้างสิทธิ์โดยอดีตพระเจ้าคาร์ลที่ 4 แห่งฮังการีใน ค.ศ. 1921 ซึ่งพระองค์สวรรคตในอีกไม่กี่ปีต่อมา
  2. มิกโลช โฮร์ตี เป็น "ผู้สำเร็จราชการ"
  3. แฟแร็นตส์ ซาลอชี เป็น "ผู้นำแห่งชาติ"
  4. ปกครองเป็นหมู่คณะในฐานะประมุขแห่งรัฐ
  5. สังเกตการณ์ใน ค.ศ. 1920 และ ค.ศ. 1941–1946

หลังจากความพ่ายแพ้ทางทหารของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการีในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 บรรดาพรรคอนุรักษนิยมต่างเห็นชอบให้มีการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยฮังการีขึ้นมาอีกครั้ง ขณะที่กองทัพและกลุ่มขวาจัดปฏิเสธการกลับมาของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค จึงมีการสถาปนาตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนขึ้นเป็นการชั่วคราวในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1920[8] ลักษณะการปกครองของผู้สำเร็จราชการโฮร์ตีนั้นเป็นแบบอนุรักษนิยม[9] ชาตินิยม และต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง[10] ระบอบผู้สำเร็จราชการได้รับการสนับสนุนโดยพันธมิตรอนุรักษนิยมที่ไม่มั่นคงและฝ่ายขวาจัด[11] นโยบายระหว่างประเทศของฮังการีในช่วงเวลานี้มีลักษณะเฉพาะคือ การแก้ไขหรือการปรับปรุงใหม่ทั้งหมดหรือบางส่วนของสนธิสัญญาสันติภาพ เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่แตกต่างจากในอดีตและเพื่อต่อต้านบอลเชวิค ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ซึ่งต่อมาจะรวมทั้งการต่อต้านชาวยิว และการปฏิเสธการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วย[12] ในเดือนพฤศจิกายน มีการลงนามในสนธิสัญญาทรียานง ซึ่งถูกกำหนดไว้โดยประเทศผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยภายในเนื้อหาของสนธิสัญญาระบุถึงการที่ฮังการีจะต้องสูญเสียดินแดนและประชากรจำนวนสองในสามให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน[13] ส่งผลให้การเมืองฮังการีในสมัยระหว่างสงครามถูกครอบงำจากการสูญเสียดินแดนตามสนธิสัญญานี้ ซึ่งทำให้ชาวฮังการีมากกว่าสามล้านคนอยู่นอกเขตแดนใหม่ของราชอาณาจักร[14] การแก้ไขพรมแดนไม่เพียงแต่จะเป็นการรวมอำนาจทางการเมืองของชาติเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการขาดการปฏิรูปภายในด้วย[15] การสิ้นสุดสมัยแห่งความไม่มั่นคงหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลอิชต์วาน แบตแลน[16][17] ผู้ลงสมัครซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกลุ่มขวาจัด[18] การนำนโยบายทางต่างประเทศอันสงบมาใช้และการยุติความไม่มั่นคงภายใน ทำให้ประเทศฮังการีสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติได้ใน ค.ศ. 1922[19] จากเสถียรภาพทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้ฮังการีสามารถเจรจากับสถาบันการเงินของต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น[20] ด้วยการสนับสนุนของโฮร์ตี ทำให้แบตแลนสามารถควบคุมการเลือกตั้งและการครอบงำพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้รัฐบาลของเขาสามารถอยู่ในอำนาจได้เป็นเวลาสิบปี โดยที่ไม่มีการต่อต้านใด ๆ เลย แรงสนับสนุนของรัฐบาลแบธแลนไม่ได้มาจากพรรคการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังมาจากนักบวช ชนชั้นนายทุน และเจ้าของที่ดินรายใหญ่ในชนบทอีกด้วย[21] แม้ว่าประเทศจะมีลักษณะการปกครองในรูปแบบรัฐสภา แต่ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ยังคงเป็นระบอบเผด็จการอนุรักษนิยม[22] ฮังการีถูกครอบงำโดยชนชั้นสูงและข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิฐานจากชนชั้นสูง[23] หลังจากช่วงระยะเวลาสั้น ๆ อันเนื่องมาจากการปฏิวัติใน ค.ศ. 1919 ชนชั้นสูงก็สามารถนำอำนาจกลับคืนมาได้อีกครั้ง และฟื้นฟูระบอบการเมืองและสภาพสังคมให้กลับไปเป็นแบบในช่วงก่อนสงครามโลก[23] กลุ่มแรงงานในเมืองและชาวนา ซึ่งเป็นจำนวนสองในสามของประชากรทั้งหมด ต่างไม่มีอิทธิพลในรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย[23] และการวางตัวเป็นกลางของพวกสังคมนิยม ทำให้ผู้คนในช่วงปลายทศวรรษถัดมา เริ่มมีแนวคิดหัวรุนแรงจนกลายเป็นฟาสซิสต์[24]

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมขนานใหญ่ ซึ่งทำให้รูปแบบทางการเมืองของรัฐบาลแบตแลนเกิดปัญหา[25] ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้สำเร็จราชการโฮร์ตีและนักการเมืองชั้นนำจึงตัดสินใจเข้าพบกับจูลอ เกิมเบิช ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มขวาจัดและเป็นบุคคลที่น่าจะทำให้มวลชนสงบลงได้มากที่สุด[26] เมื่อเกิมเบิชได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจึงค่อย ๆ วางผู้สนับสนุนของเขาไว้ในตำแหน่งสำคัญทั้งในส่วนของรัฐบาลและกองทัพ[27] หลังจากที่แบตแลนลาออกจากตำแหน่ง ระบอบผู้สำเร็จราชการเริ่มได้รับความสำคัญมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ค.ศ. 1935 เป็นต้นไป[28] โฮร์ตีกลายเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมืองระดับชาติ ทั้งเพราะรัฐบาลที่เริ่มเสื่อมถอยมากขึ้น เนื่องจากความแตกแยกระหว่างพรรคอนุรักษนิยมกับกลุ่มขวาจัด และเพราะแรงสนับสนุนที่เขาได้รับจากกลุ่มฝ่ายขวาส่วนใหญ่ในประเทศ[29] โฮร์ตีจึงพยายามรักษาสมดุลระหว่างทั้งสองฝ่ายไว้[28] ในช่วงแปดปีของการปกครองโดยระบอบผู้สำเร็จราชการ อิทธิพลของเยอรมนีและความนิยมของจักรวรรดิไรช์เริ่มแพร่กระจายสู่ประชากรส่วนหนึ่ง ทำให้การเมืองภายในประเทศเริ่มเกิดความรุนแรง และได้โน้มน้าวให้ผู้คนเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูรูปแบบอนุรักษนิยมให้เหมือนดังในช่วงทศวรรษ 1920[30] เยอรมนีสามารถบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ ดังนั้นโฮร์ตีจึงเล็งเห็นว่าเยอรมนีน่าจะสามารถสนับสนุนฮังการีให้บรรลุความปรารถนาในการแก้ไขดินแดนได้ แต่มันกลับพังทลายลง เมื่อฮังการีเริ่มกลายเป็นรัฐในอารักขาของเยอรมนีทีละน้อย[30] รัฐบาลฮังการีประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะสกัดกั้นอิทธิพลของเยอรมนีและฝ่ายขวาของประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปฏิเสธที่จะละทิ้งความทะเยอทะยานในการแก้ไขดินแดน ซึ่งความสำเร็จนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลเบอร์ลินด้วย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มขวาจัดในฮังการี[31]

แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างเยอรมนีและอิตาลี ส่งผลให้ประเทศสามารถกู้คืนดินแดนส่วนหนึ่งที่เสียไปให้แก่เชโกสโลวาเกียกลับมาได้ตามการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่หนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1938[32] ซี่งในช่วงเวลานี้เอง ที่เยอรมนีเริ่มมีบทบาทในการเมืองฮังการี[33] ความปรารถนาของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง เจตคติเชิงปฏิกิริยาต่อรัฐบาลที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ความอ่อนแอลงของฝ่ายซ้าย และอำนาจของขบวนการฟาสซิสต์ในยุโรปนั้น เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตขึ้นของกลุ่มฝ่ายขวาจัดที่คัดค้านการปฏิรูป[34] ในการอนุญาโตตุลาการเวียนนาครั้งที่สอง ซึ่งมีผู้ตัดสินคืออิตาลีและเยอรมนีใน ค.ศ. 1940 ทำให้ฮังการีได้รับดินแดนทางตอนเหนือของทรานซิลเวเนียจากโรมาเนีย[35] ประเทศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่สองโดยอยู่ฝ่ายอักษะ ซึ่งหันไปต่อต้านยูโกสลาเวียและมีส่วนช่วยในการบุกครองสหภาพโซเวียตเมื่อปลายเดือนมิถุนายน และพันธมิตรตะวันตกในเดือนธันวาคม[28] อย่างไรก็ตาม เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มพ่ายแพ้แก่กองทัพโซเวียต ทำให้ฮังการีพยายามเปลี่ยนฝ่ายในช่วงปลายสงครามแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากความปรารถนาที่จะรักษาดินแดนที่เคยสูญเสียไปและระบบสังคมที่ล้าสมัย อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่เต็มใจที่จะต่อต้านสหภาพโซเวียต[36] เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนฝ่ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอิตาลี เยอรมนีจึงบุกครองประเทศโดยปราศจากการต่อต้านในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944[37] คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งดูแลโดยตัวแทนจากนาซีเยอรมนีได้ทำการปฏิรูปกองทัพและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการทำสงครามของเยอรมนีและยุติปัญหาชาวยิว[38] พวกนาซีได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล อันเป็นการสิ้นสุดลงของระบอบผู้สำเร็จราชการที่นำโดยโฮร์ตี และได้มอบอำนาจให้แก่ แฟแร็นตส์ ซาลอชี ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคแอร์โรว์ครอสส์[39] แต่ท้ายที่สุดกองทัพโซเวียตก็สามารถขับไล่นาซีเยอรมนีออกจากดินแดนฮังการีได้เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1945[40] เป็นเหตุให้การผนวกดินแดนของฮังการีในการอนุญาโตตุลาการเวียนนาทั้งสองครั้งถูกประกาศว่าเป็นโมฆะภายหลังสงคราม[41]

ด้วยประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้การกระจายที่ดินยังคงไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก[42] โดยทั่วไปแล้ว ชาวนาฮังการีต้องอยู่อย่างยากจนข้นแค้น[42] การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศได้รับการสนับสนุนเพื่อพยายามลดจำนวนประชากรล้นเกินในชนบท แต่ก็ไม่เคยเติบโตมากพอที่จะลดจำนวนประชากรในภาคการเกษตรได้[43] ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจชองฮังการีอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม ราคาธัญพืชซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของฮังการีทรุดตัวลงในตลาดโลก[44] วิกฤตการณ์ร้ายแรงทางเศรษฐกิจส่งผลให้อิทธิพลของฟาสซิสต์อิตาลีและเยอรมนีเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้าหลักของผลผลิตทางการเกษตรเพียงไม่กี่รายในประเทศ ซึ่งไม่ถูกครอบงำโดยตลาดต่างประเทศอีกต่อไป[45] ใน ค.ศ. 1938 เยอรมนีเริ่มควบคุมการนำเข้าและส่งออกของฮังการีถึง 50 % แล้ว[46] การค้าขายกับเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นและการเริ่มต้นนโยบายการเสริมกำลังอาวุธ ทำให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 1930 ได้[39] อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นอยู่และการทำงานของคนงานในอุตสาหกรรมยังคงย่ำแย่ แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธมีส่วนช่วยในการขจัดการว่างงานไปได้แทบทั้งหมด[47] สำหรับประชากรชาวยิวใน ค.ศ. 1930 ซึ่งคิดเป็น 5.1 % ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ[48] ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านอุตสากรรม พาณิชยกรรม และการเงินของประเทศ[49] ในช่วงปลายทศวรรษ 1930 จนถึงต้นทศวรรษ 1940 ได้มีการประกาศใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อชาวยิว ซึ่งจำกัดสิทธิต่าง ๆ ของชาวยิวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มไม่มั่นคง[50] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวทั้งหมด 565,000 คน ถูกสังหารในดินแดนของฮังการี[51]

การเมือง แก้

การฟื้นฟูราชาธิปไตย แก้

ในข่วงปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1919 กองทัพโรมาเนียได้บุกฝ่าแนวรบของกองทัพแดงฮังการี[52] รัฐบาลโซเวียตจึงมอบอำนาจให้กับรัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมสายกลางใหม่ที่ไม่สามารถป้องกันการบุกครองของโรมาเนียได้[52] จากนั้นรัฐบาลใหม่ก็ถูกแทนที่โดยรัฐบาลอนุรักษนิยม ซึ่งได้รับการยอมรับจากโรมาเนีย[52][53] ฝ่ายกองทัพแห่งชาตินำโดยพลเรือเอก มิกโลช โฮร์ตี ได้รวบรวมกำลังพลจากเมืองแซแก็ด ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพฝรั่งเศส เคลื่อนพลเข้าสู่เมืองหลวงหลังจากที่กองทัพโรมาเนียถอนกำลังออกจากประเทศในช่วงต้นฤดูหนาว[52][54][55][56] ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ และกลุ่มผู้นิยมระบอบราชาธิปไตยได้ก่อความน่าสะพรึงกลัวขาวขึ้นในภูมิภาคตะวันตกของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายฤดูร้อนหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตฮังการี[55] เพื่อลบล้างมรดกจากยุคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด[52][57][58] ด้วยเหตุนี้ การกดขี่ข่มเหงต่อสมาชิกของขบวนการฝ่ายซ้ายและชาวยิวจึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศ[59][57][60][61][55][56][หมายเหตุ 1] กองกำลังกึ่งทหารใช้วิธีการกวาดล้างผู้ต่อต้านซึ่งไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรม โดยมีการกรรโชก[8] การโจรกรรม การทรมาน และการฆาตกรรม ซึ่งพวกเขาได้อ้างถึงการกระทำว่าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง[63] อำนาจยังคงอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายขวาจัด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มขุนนาง ข้าราชการ และทหาร[11][64] ชาวนาที่เอือมระอากับการกดขี่ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ (ยกเว้นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม) ยอมรับการกลับมาของระบอบคณาธิปไตยเพื่อแลกกับการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย[65] อย่างไรก็ตาม กองกำลังกึ่งทหารเริ่มผ่อนคลายความรุนแรงลงเมื่อสิ้นสุดสมัยแห่งการปฏิวัติ[66] โดยทั่วไปแล้ว การเมืองของประเทศเริ่มเอนเอียงไปทางฝ่ายขวาในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังการล่มสลายของรัฐบาลปฏิวัติคอมมิวนิสต์[67]

 
พลเรือเอกมิกโลช โฮร์ตี เข้าสาบานตนรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งฮังการี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1920

ภายใต้แรงกดดันจากไตรภาคี[55] การเลือกตั้งครั้งใหม่ถูกจัดขึ้นพร้อมกับการสำรวจสำมะโนประชากร และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่สตรี[68][8] จากผลการเลือกตั้งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1920 ทำให้มีพรรคการเมืองฝ่ายขวาขนาดใหญ่เกิดขึ้น 2 พรรค[55] ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกภายในระหว่างฝ่ายขวาอนุรักษนิยมและฝ่ายมูลวิวัติ[68][69]

ใน ค.ศ. 1920 กฎหมายฉบับแรกได้ยกเลิกมาตรการทั้งหมดที่ตราขึ้นโดยรัฐบาลปฏิวัติของมิฮาย กาโรยี และเบ-ลอ กุน[70][69] ฝ่ายอนุรักษนิยมสนับสนุนการฟื้นฟูราชบัลลังก์ของพระเจ้าคาร์ลที่ 4 แห่งฮังการี ขณะที่กองทัพและกลุ่มมูลวิวัติฝ่ายขวาแม้จะสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นกัน แต่กระนั้นได้ปฏิเสธการกลับมาของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค จึงมีการตัดสินใจตั้งระบอบผู้สำเร็จราชการชั่วคราวซึ่งมีอำนาจมากขึ้นมาแทน[8][71][72][73][หมายเหตุ 2] ฝ่ายกองทัพและกองกำลังกึ่งทหารเข้ายึดอาคารรัฐสภาระหว่างการเลือกตั้ง[8] และแต่งตั้งมิกโลช โฮร์ตี ตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายกองทัพขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งฮังการี[69] ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม[73][71][74] นั่นจึงทำให้เขากลายเป็นประมุขแห่งรัฐฮังการีคนเดียวตลอดสมัยระหว่างสงคราม และดำรงตำแหน่งจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1944[71]

การต่อต้านการปฏิวัติ แก้

ระหว่างที่โฮร์ตีดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ ฝ่ายมูลวิวัติได้กำหนดนโนบายทางการเมืองของตนในรัฐสภาไว้หลายประการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอนุมัติการปฏิรูปที่ดินบางส่วน การออกกฎหมายต่อต้านชาวยิว ซึ่งเป็นครั้งแรกในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง[75] และการฟื้นฟูการลงโทษทางร่างกายสำหรับอาชญากรรมบางประเภท[76] ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมทางสังคมในยุคนั้น[77] การที่รัฐสภา​​ให้​สัตยาบัน​ในสนธิสัญญาทรียานงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน และลงนามในวันที่ 4 มิถุนายน[78][79][หมายเหตุ 3] ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกกำหนดไว้โดยประเทศผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วจะมีการปฏิเสธในบางหัวข้อที่กำหนด ทำให้ประเทศต้องสูญเสียดินแดนและประชากรประมาณสองในสามของราชอาณาจักรเดิม[79][13][81] ความพยายามของนายกรัฐมนตรีปาล แตแลกี (Pál Teleki) ที่จะจำกัดการสูญเสียเพื่อแลกกับผลประโยชน์แก่ฝรั่งเศสและการให้ความช่วยเหลือโปแลนด์ในสงครามโปแลนด์-โซเวียตประสบความล้มเหลว[81][82] ทั้งในรัฐบาลและรัฐสภาต่างถูกครอบงำโดยบุคคลที่มีประสบการณ์ทางการเมืองต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นชนชั้นนายทุนมากกว่าชนชั้นสูง และเป็นบุคคลผู้มีอายุน้อยกว่ากลุ่มผู้ปกครองในช่วงก่อนสงครามทั้งสิ้น แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปในช่วง ค.ศ. 1921 เมื่อรัฐบาลสายอนุรักษนิยมของอิชต์วาน แบตแลน (István Bethlen) ขึ้นสู่อำนาจ[83]

ภายหลังการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยของฮังการี ประเทศได้เข้าสู่ปีแห่งความวุ่นวายครั้งใหญ่[84][85] สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฮังการีร้ายแรงเป็นอย่างมาก[79] อดีตพระมหากษัตริย์แห่งฮังการี (พระเจ้าคาร์ลที่ 4) ทรงพยายามฟื้นฟูราชบัลลังก์ถึงสองครั้งใน ค.ศ. 1921 แต่ไม่สำเร็จ[84][86][87][73][หมายเหตุ 4] รัฐบาลซึ่งขาดอำนาจที่เข้มแข็งยังคงปล่อยให้ความน่าสะพรึงกลัวของกองกำลังกึ่งทหารที่ต่อต้านชาวยิว นักสังคมนิยม และปัญญาชนฝ่ายซ้ายดำเนินต่อไป[84] ผู้อพยพจำนวนมากจากดินแดนที่สูญเสียประมาณ 300,000 ถึง 400,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง[88][89] ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญสำหรับฮังการี[84] ดังนั้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1921 รัฐบาลจึงออกคำสั่งห้ามการเข้ามาของผู้อพยพรายใหม่จำนวนมหาศาล แต่ปัญหาก็ไม่ได้หยุดลง เนื่องจากมีการปล่อยให้ผู้อพยพเข้ามาหลายพันคนในแต่ละเดือน[90] ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวชนชั้นกลางผู้ยากไร้ ทหารปลดประจำการ และข้าราชการจากดินแดนที่สูญเสีย[89] กลุ่มคนเหล่านี้ให้การสนับสนุนฝ่ายฟาสซิสต์ ซึ่งพวกเขาปรารถนาที่จะนำรูปแบบการเมืองระบอบเผด็จการมาใช้ โดยพวกเขาหวังจะเจริญก้าวหน้าในระบอบนี้[91] ประเทศต้อนรับทหารผู้อพยพประมาณ 17,000 คน ขณะที่สนธิสัญญาสันติภาพจำกัดจำนวนทหารผู้อพยพเพียง 1,700 คน นั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีอำนาจควบคุมกองทัพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[92] ความต้องการของผู้อพยพต่อการจ้างงานของรัฐและความเป็นไปไม่ได้ในการรับผู้อพยพเพิ่ม กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง[หมายเหตุ 5] ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจทั้งสำหรับรัฐและผู้อพยพ[93] การที่ประชากรชาวยิวมีความสำคัญยิ่งต่อระบบอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของประเทศและความล้มเหลวของผู้อพยพในการแข่งขันกับชาวยิว ทำให้กระแสการต่อต้านชาวยิวปะทุขึ้นในหมู่ผู้อพยพและเกิดการเรียกร้องการจ้างงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง[94] สถานการณ์ความไม่มั่นคงภายในประเทศทำให้นักธุรกิจต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในฮังการี แม้ตอนนี้รัฐบาลจะไม่ถูกคุกคามโดยขบวนการชาวนาแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลยังคงประสบความขัดแย้งกับคนงานที่ถูกกดขี่[61] และชนชั้นกลางที่เอือมระอากับการทดลองทางสังคมและกองกำลังกึ่งทหาร[84] การยุติความน่าสะพรึงกลัวทำให้รัฐบาลได้รับการยอมรับในระดับสากลและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอีกด้วย[61][85][หมายเหตุ 6]

ทศวรรษแห่งแบตแลน แก้

 
อิชต์วาน แบตแลน (ซ้าย) นายกรัฐมนตรีฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1921–1931

การสิ้นสุดสมัยแห่งความไม่มั่นคงหลังการล่มสลายของสาธารณรัฐโซเวียตเกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลอิชต์วาน แบตแลน[16][17] ผู้สมัครเลือกตั้งซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยม (เนื่องจากเขาถูกมองว่าเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นสมาชิกจากตระกูลขุนนางชั้นสูงด้วย) ฝ่ายขวามูลวิวัติ (เนื่องจากแบตแลนมีแนวคิดแบบเทววิทยาปฏิรูปและเป็นหนึ่งในผู้อพยพจากดินแดนทรานซิลเวเนียที่สูญเสีย)[16] นักการเมืองผู้มีประสบการณ์[95] และนักปฏิบัตินิยม[96] ทำให้ในเวลาไม่นานแบตแลนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลเหนือกว่าโฮร์ตี[97][34] (แบตแลนเริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคอนุรักษนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ[98] แม้ว่าเขาจะมีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายขวามูลวิวัติก็ตาม)[99][18][100] ทัศนคติแบบอนุรักษนิยมเสรีของแบตแลนเป็นตัวกลางระหว่างทั้งสองฝ่ายที่สนับสนุนระบอบการปกครองแบบอนุรักษนิยมและฝ่ายขวามูลวิวัติ ซึ่งถือเป็นนโยบายภายในประเทศในช่วงระยะเวลาอันยาวนานของแบตแลนในฐานะนายกรัฐมนตรี[18] โดยพื้นฐานแล้ว รัฐบาลใหม่นี้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงปฏิกิริยา พร้อมทั้งฟื้นฟูระบบการเมืองและรูปแบบสังคมให้กลับไปเป็นดังช่วงก่อนสงครามโลก[61][98][16][101]

แบตแลนตัดสินใจระงับการก่อกวนของฝ่ายขวาจัดก่อน[19][102] โดยการติดสินบนบุคคลสำคัญบางคน ซึ่งเขาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล[18] กองกำลังกึ่งทหารได้รับมอบหมายให้กักขังคนงาน ชาวนา และข่มขู่ฝ่ายค้านทางการเมือง[99] โดยพวกเขาได้กระทำการจนเกินกว่าเหตุและกลายเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการปฏิวัติ[103] การดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นไปอย่างเชื่องช้าและใช้เวลาดำเนินการเกือบสองปี ส่วนหนึ่งเพราะกองกำลังกึ่งทหารมีผู้สนับสนุนที่มีอำนาจทั้งในฝ่ายกองทัพและฝ่ายบริหารพลเรือน ซึ่งรวมถึงตัวของผู้สำเร็จราชการอย่างโฮร์ตีด้วย[8] (ซึ่งพวกเขาได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับอาชญากรรมทั้งหมดของกองกำลังกึ่งทหารในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1921)[104] ในช่วงกลางทศวรรษ 1920 กองกำลังกึ่งทหารในชนบทถูกรวมเข้ากับกองพลตระเวนภายใต้การควบคุมของกองทัพและถูกยุบตัวลงไปโดยส่วนใหญ่[105] ด้วยการควบคุมที่เพียงพอจากทางกองทัพและตำรวจ รัฐบาลจึงแสดงความมุ่งมั่นที่จะยุบเลิกกองกำลังกึ่งทหารทั้งหมดภายในสิ้นปี 1921[106][หมายเหตุ 7] เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ รัฐบาลจึงเพิ่มงบประมาณทางทหารโดยไม่สนใจถึงข้อจำกัดที่กำหนดโดยสนธิสัญญาสันติภาพ[108] เจ้าหน้าที่ทหารส่วนหนึ่งได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหารพลเรือน[103] เจ้าหน้าที่ลับทั่วไปถูกควบคุมโดยทหารผ่านศึกอนุรักษนิยมในสมัยจักรวรรดิมากกว่าผู้บัญชาการทหารที่ต่อต้านการปฏิวัติ[109] เมื่อ ค.ศ. 1922 รัฐบาลประสบความสำเร็จในการยุติความน่าสะพรึงกลัวของกองกำลังกึ่งทหารได้ในที่สุด[110][111] ด้วยนโยบายต่างประเทศที่สันติและการยุติความไม่มั่นคงภายใน แบตแลนจึงสามารถนำพาประเทศเข้าสู่สันนิบาตชาติได้ในวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1922[19][34][75][112] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายขวามูลวิวัติ ทำให้แบตแลนรับประกันชัยชนะในอดีตได้เป็นการชั่วคราว[113]

ด้วยรัฐเผชิญกับการล้มละลายอย่างถึงขีดสุด เนื่องจากรายได้ของประเทศไม่เพียงพอ แบตแลนจึงขายทองคำและทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศก้อนสุดท้าย เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับธุรกิจและครอบคลุมงบประมาณแผ่นดินระหว่าง ค.ศ. 1921 ถึง ค.ศ. 1923[20][หมายเหตุ 8] จากเสถียรภาพทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทำให้ฮังการีสามารถเจรจากับสถาบันการเงินของต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น[20] การเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติทำให้ประเทศได้รับสินเชื่อการรักษาเสถียรภาพระหว่างประเทศจำนวน 250 ล้านโกโรนอใน ค.ศ. 1924[19][34][75][112] อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเหล่านี้ส่งผลให้เกิดแรงกดดันในการชำระหนี้เก่าและการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยหนี้ภายนอกเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดชะงักในช่วงทศวรรษของแบตแลน ซึ่งอยู่ที่ 70 % ของจีดีพีใน ค.ศ. 1931[20] กลยุทธ์ของแบตแลนขึ้นอยู่กับการรักษาสินเชื่อระหว่างประเทศ ซึ่งเขาสามารถรักษาไว้ได้ตลอดทศวรรษ 1920[20][114] แม้ว่าผู้คนภายในประเทศหรือตัวของแบตแลนเองจะมีความเกลียดชังชาวยิว แต่เขาก็ยังแสวงหาความร่วมมือจากชนชั้นนายทุนชาวยิวในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม[115] การปกครองในสมัยนี้ยังคงทัศนคติต่อต้านยิวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นชนชั้นสูงยิวที่ให้ความร่วมมือแก่รัฐบาล[115]

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ชนชั้นสูงได้รับการฟื้นฟูอำนาจกลับคืนมาจากความชอบธรรมในการต่อต้านชาวยิว โดยกล่าวหาว่าประชากรชาวยิวเป็นต้นเหตุให้กองทัพพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อีกทั้งฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ในระหว่างสงคราม และเป็นผู้สนับสนุนที่แท้จริงของสาธารณรัฐโซเวียต ด้วยวิธีนี้ จึงทำให้พวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงการปะทะกันโดยตรงกับแรงงานและชาวนาได้[62]
  2. ผู้สำเร็จราชการแห่งฮังการีแทบจะมีอำนาจเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ แม้จะไม่สามารถมอบตำแหน่งอันสูงส่งหรือยับยั้งการตัดสินใจของฝ่ายคริสตจักรได้ แต่ผู้สำเร็จราชการมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งยุบสภา หรือยับยั้งกฎหมายได้ อีกทั้งผู้สำเร็จราชการยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพด้วย ใน ค.ศ. 1925 อำนาจของผู้สำเร็จราชการได้รับการขยายมากขึ้น โดยสามารถแต่งตั้งวุฒิสมาชิกตลอดชีพในวุฒิสภาแห่งชาติได้[71]
  3. เป็นคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม โดยมีซานโดร์ ชีโมนยี-แชมอด็อม (Sándor Simonyi-Semadam) เป็นประธานคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องลงนามในสนธิสัญญาที่กำหนดโดยผู้ชนะสงครามในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศปาล แตแลกี ได้ทำการปลดชีโมนยี-แชมอด็อม หลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลได้ไม่นาน[80]
  4. เนื่องจากการสวรรคตของพระเจ้าคาร์ลที่ 4 ใน ค.ศ. 1922 ทำให้ความพยายามในการฟื้นฟูราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คสิ้นสุดลงในการเมืองฮังการี[86]
  5. การแก้ไขสนธิสัญญาสันติภาพทั้งหมดหรือบางส่วนที่ลงนามหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อให้ได้เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีของฮังการี การเมืองของประเทศถูกครอบงำด้วยความปรารถนาที่จะกอบกู้ดินแดนอันกว้างใหญ่ที่สูญเสียไปทั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าจะโดยสันติหรือใช้กำลังก็ตาม
  6. Nagy-Talavera กล่าวถึงผู้ถูกเนรเทศทั้งหมด 70,000 คน ได้รับการส่งตัวไปยังค่ายกักกัน มีการพิจารณาคดีถึง 27,000 ครั้งสำหรับบุคคลที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมยุคสาธารณรัฐ มีการประหารชีวิต 329 ครั้ง การสังหาร 1,200 คน และมีอีกหลายหมื่นคนที่ต้องลี้ภัยเพราะความน่าสะพรึงกลัวนี้[56]
  7. อย่างไรก็ตาม Nagy-Talavera ระบุว่ายังมีความวุ่นวายบางส่วนเกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1924-1925 โดยผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่อาศัยประโยชน์จากความผ่อนปรนของศาลฮังการีอยู่เสมอ[107]
  8. ใน ค.ศ. 1923 งบประมาณแผ่นดินของรัฐทั้งหมด 79 % มาจากทองคำและทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ[20]

อ้างอิง แก้

  1. "A m. kir. minisztérium 1939. évi 6.200. M. E. számú rendelete, a Magyar Szent Koronához visszatért kárpátaljai terület közigazgatásának ideiglenes rendezéséről" [Order No. 6.200/1939. M. E. of the Royal Hungarian Ministry on the provisional administration of the Subcarpathian territory returned to the Hungarian Holy Crown]. Magyarországi Rendeletek Tára (ภาษาฮังการี). Budapest: Royal Hungarian Ministry of the Interior. 73: 855. 1939.
  2. Fedinec, Csilla (2002). "A Kárpátaljai Kormányzóság idõszaka" [The period of the Governorate of Subcarpathia]. A kárpátaljai magyarság történeti kronológiája, 1918-1944 [Historical chronology of the Hungarians in Subcarpathia, 1918-1944] (PDF) (ภาษาฮังการี). Galánta - Dunaszerdahely: Fórum Intézet - Lilium Aurum Könyvkiadó. p. 336. ISBN 80-8062-117-9.
  3. 3.0 3.1 3.2 Fogarasi, Zoltán (1944). "A népesség anyanyelvi, nemzetiségi és vallási megoszlása törvényhatóságonkint 1941-ben" [Distribution of the population by mother tongue, ethnicity and religion in the municipalities of Hungary in 1941.]. Magyar Statisztikai Szemle (ภาษาฮังการี). Budapest: Royal Hungarian Central Statistical Office. 22 (1–3): 4, 13.
  4. Kollega Tarsoly, István, บ.ก. (1995). "Magyarország". Révai nagy lexikona (ภาษาฮังการี). Vol. 20. Budapest: Hasonmás Kiadó. pp. 595–597. ISBN 963-8318-70-8.
  5. Kollega Tarsoly, István, บ.ก. (1996). "Magyarország". Révai nagy lexikona (ภาษาฮังการี). Vol. 21. Budapest: Hasonmás Kiadó. p. 572. ISBN 963-9015-02-4.
  6. Élesztős László; และคณะ, บ.ก. (2004). "Magyarország". Révai új lexikona (ภาษาฮังการี). Vol. 13. Budapest: Hasonmás Kiadó. pp. 882, 895. ISBN 963-9556-13-0.
  7. The Horthy Era (1920-1944)
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Nagy-Talavera 1970, p. 55.
  9. Rothschild 1990, p. 191.
  10. Dreisziger 1998, p. 31.
  11. 11.0 11.1 Rogger & Weber 1974, p. 364-365.
  12. Nagy-Talavera 1970, p. 77.
  13. 13.0 13.1 Janos 1981, p. 205.
  14. Nagy-Talavera 1970, pp. 56–57.
  15. Rothschild 1990, p. 166.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Rogger & Weber 1974, p. 375.
  17. 17.0 17.1 Nagy-Talavera 1970, p. 58.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Janos 1981, p. 208.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 Rothschild 1990, p. 163.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 Janos 1981, p. 209.
  21. Rothschild 1990, p. 162-163.
  22. Seton-Watson 1946, p. 240-241.
  23. 23.0 23.1 23.2 Seton-Watson 1946, p. 241.
  24. Nagy-Talavera 1970, p. 59.
  25. Janos 1981, p. 246.
  26. Janos 1981, p. 246-247.
  27. Rothschild 1990, pp. 173–174.
  28. 28.0 28.1 28.2 Janos 1981, p. 300.
  29. Janos 1981, p. 298-300.
  30. 30.0 30.1 Rothschild 1990, p. 176.
  31. Juhász 1979, p. 135.
  32. Janos 1981, p. 292.
  33. Janos 1981, p. 301.
  34. 34.0 34.1 34.2 34.3 Sugar 1971, p. 75.
  35. Rothschild 1990, p. 183.
  36. Rothschild 1990, p. 187.
  37. Janos 1981, p. 308-309.
  38. Janos 1981, p. 309.
  39. 39.0 39.1 Rothschild 1990, p. 188.
  40. Seton-Watson 1956, p. 105.
  41. Balogh 1983, p. 44.
  42. 42.0 42.1 Seton-Watson 1946, p. 240.
  43. Berend & Ránki 1969, p. 183.
  44. Janos 1981, p. 244.
  45. Rothschild 1990, p. 171.
  46. Basch 1943, p. 206.
  47. Rothschild 1990, p. 189.
  48. Rothschild 1990, p. 196.
  49. Janos 1981, p. 223.
  50. Janos 1981, p. 302.
  51. Nagy-Talavera 1970, p. 242.
  52. 52.0 52.1 52.2 52.3 52.4 Janos 1981, p. 201.
  53. Rothschild 1990, p. 152.
  54. Rothschild 1990, p. 151-152.
  55. 55.0 55.1 55.2 55.3 55.4 Rogger & Weber 1974, p. 371.
  56. 56.0 56.1 56.2 Nagy-Talavera 1970, p. 54.
  57. 57.0 57.1 Rothschild 1990, p. 153.
  58. Mocsy 1983, p. 145.
  59. Janos 1981, p. 201-202.
  60. Cohen 1984, p. 136.
  61. 61.0 61.1 61.2 61.3 Sugar 1971, p. 74.
  62. Rogger & Weber 1974, p. 370.
  63. Bodó 2006, p. 129-132.
  64. Mocsy 1983, p. 145-146.
  65. Macartney 1929, p. 585.
  66. Macartney 1929, p. 586.
  67. Janos 1981, p. 202-203.
  68. 68.0 68.1 Janos 1981, p. 202.
  69. 69.0 69.1 69.2 Rothschild 1990, p. 154.
  70. Macartney 1929, p. 582.
  71. 71.0 71.1 71.2 71.3 Janos 1981, p. 203.
  72. Rothschild 1990, p. 154, 158.
  73. 73.0 73.1 73.2 Rogger & Weber 1974, p. 373.
  74. Horel 2008, p. 91.
  75. 75.0 75.1 75.2 Rogger & Weber 1974, p. 376.
  76. Nagy-Talavera 1970, p. 73.
  77. Janos 1981, p. 204.
  78. Rothschild 1990, p. 155.
  79. 79.0 79.1 79.2 Rogger & Weber 1974, p. 372.
  80. Ablonczy 2006, p. 67, 69.
  81. 81.0 81.1 Rothschild 1990, p. 157.
  82. Nagy-Talavera 1970, p. 56.
  83. Janos 1981, p. 279.
  84. 84.0 84.1 84.2 84.3 84.4 Janos 1981, p. 206.
  85. 85.0 85.1 Nagy-Talavera 1970, p. 57.
  86. 86.0 86.1 Rothschild 1990, p. 159.
  87. Horel 2008, p. 92.
  88. Sugar 1971, p. 73.
  89. 89.0 89.1 Nagy-Talavera 1970, p. 51.
  90. Mocsy 1983, p. 180.
  91. Sugar 1971, p. 66.
  92. Sakmyster 1975, p. 38.
  93. Mocsy 1983, p. 179.
  94. Mocsy 1983, p. 183.
  95. Rothschild 1990, p. 158.
  96. Nagy-Talavera 1970, p. 50.
  97. Sakmyster 1975, p. 21.
  98. 98.0 98.1 Bodó 2006, p. 141.
  99. 99.0 99.1 Bodó 2006, p. 142.
  100. Nagy-Talavera 1970, p. 53.
  101. Nagy-Talavera 1970, p. 58, 69.
  102. Sugar 1971, p. 68, 74.
  103. 103.0 103.1 Bodó 2006, p. 122.
  104. Bodó 2006, p. 142, 148.
  105. Bodó 2006, p. 145.
  106. Bodó 2006, p. 143.
  107. Nagy-Talavera 1970, p. 57-58.
  108. Janos 1981, p. 208-209.
  109. Sakmyster 1975, p. 22.
  110. Janos 1981, p. 225.
  111. Bodó 2006, p. 146.
  112. 112.0 112.1 Nagy-Talavera 1970, p. 74.
  113. Sugar 1971, p. 68.
  114. Nagy-Talavera 1970, p. 83.
  115. 115.0 115.1 Nagy-Talavera 1970, p. 64.

บรรณานุกรม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้