รองปลัดกระทรวง (อังกฤษ: Deputy Permanent Secretary หรือ Deputy Permanent Under-Secretary of State) เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงของข้าราชการประจำ โดยเป็นตำแหน่งรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ของทั้งข้าราชการพลเรือนสามัญและข้าราชการทหาร โดยเป็นตำแหน่งบริหารมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการรองจากปลัดกระทรวง รับผิดชอบการปฏิบัติงาน สั่ง และปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาในสำนักงานปลัดกระทรวง

รองปลัดกระทรวงฝ่ายพลเรือน (หมายความรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรีและทบวง) แก้

ในส่วนของข้าราชการฝ่ายพลเรือน หรือข้าราชการในกระทรวงฝ่ายพลเรือน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2535[1] กำหนดให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวง เป็นตำแหน่งระดับ 10 ประเภทนักบริหาร หรือนักบริหาร 10 การบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงนั้น ให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาเสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติเมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ให้ปลัดกระทรวงผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สั่งบรรจุและให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทั้งนี้ภายหลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2551 ยกเลิกระบบ C ส่งผลให้ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงเป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง[2]

รองปลัดกระทรวงกลาโหม แก้

ในส่วนของข้าราชการทหาร หรือกระทรวงกลาโหม ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นตำแหน่งข้าราชการทหารสัญญาบัตรชั้นยศพลเอก พลเรือเอก หรือพลอากาศเอก อัตราจอมพล จอมพลเรือ หรือจอมพลอากาศ[3]

อำนาจหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฝ่ายพลเรือน แก้

อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการตามที่ปลัดกระทรวงมอบหมาย แก้

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 นั้น กำหนดให้ในการปฏิบัติราชการของปลัดกระทรวง มี 3 ข้อคือ (1) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง แปลงนโยบายเป็นแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการ กำกับการทำงานของส่วนราชการในกระทรวงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประสานการปฏิบัติงานของส่วนราชการในกระทรวงให้มีเอกภาพสอดคล้องกัน รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวง (2) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี (3) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสำนักงานปลัดกระทรวง และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง

อำนาจหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจ[4] แก้

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 นั้น กำหนดให้ภายในกระทรวงจะออกกฎกระทรวงกำหนดให้ส่วนราชการระดับกรมตั้งแต่สองส่วนราชการขึ้นไปอยู่ภายใต้กลุ่มภารกิจเดียวกันก็ได้ โดยให้แต่ละกลุ่มภารกิจมีรองปลัดกระทรวงคนหนึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มภารกิจรับผิดชอบราชการและบังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกลุ่มภารกิจนั้น โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวงหรือขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง และในกรณีที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อปลัดกระทรวงตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง โดยในกลุ่มภารกิจเดียวกัน รองปลัดกระทรวงหัวหน้ากลุ่มภารกิจมีอำนาจให้ส่วนราชการของส่วนราชการระดับกรมแห่งหนึ่งปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับสารบรรณ บุคลากร การเงิน การพัสดุ หรือการบริหารงาน ทั่วไปให้แก่ส่วนราชการแห่งอื่นภายใต้กลุ่มภารกิจเดียวกันก็ได้

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-05-17. สืบค้นเมื่อ 2016-12-26.
  2. http://www.moe.go.th/ocsc/ccl0000380.pdf
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-24. สืบค้นเมื่อ 2016-12-26.
  4. http://koob.samroiwit.ac.th/webdata/1199/01Law_of_Central_administration/C03Government_Regulations/C03_2Rule/06Cluster/C030324.pdf