รถอีแต๋น หรือในชื่อต่าง ๆ เช่น รถเกษตร, รถเกษตรกรรม, รถเกษตรกร, รถขนถ่ายการเกษตร, รถไทยแลนด์ เป็นต้น เป็นรถใช้งานเกษตรกรรมของไทย รถอีแต๋นเป็นรถที่ผลิตเองในประเทศไทย โดยใช้เครื่องยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ประเภทเครื่องยนต์ดีเซล 1-3 สูบ สามารถนำมาดัดแปลงเป็นเครื่องสูบน้ำ และเครื่องปั่นไฟ ได้ด้วย ส่วนประกอบอื่นๆของรถอีแต๋นก็นำมาจากอะไหล่รถยนต์มือสองทั่วไป และทำส่วนกะบะท้ายนิยมทำด้วยไม้, สเตนเลส หรือ เหล็ก เพื่อบรรทุกของ เช่น บรรทุกพืชผักในสวน

ที่มาของชื่ออีแต๋น แก้

อีแต๋น มาจากคำว่า "สะแหล๋นแต๋น" หรือพูดภาษาที่ชาวบ้าน เข้าใจง่าย ๆ คือ "แรด" และด้วยความที่เป็นรถวิ่งช้า วิ่งแบบแต๋น ๆ คำว่าอีแต๋นจึงเหมาะกับรถประเภทนี้ (รถอีแต๋นจริง ๆ แล้วมาจากเสียงของเครื่องยนต์ทีเป็นเครื่องสูบเดียว ที่เสียงเครื่องจะดัง แด้น ๆ ๆ ๆ ๆ ชาวบ้านจึงเรียกรถอีแต๋น ไม่ได้มาจากคำ "สะแหล๋นแด๋น" ซึ่งไม่มีในภาษาชาวบ้านในชนบทเป็นภาษาสมัยใหม่ และไม่ได้เกี่ยวกับรถอีแต๋นเลย)

คำว่า รถอีแต๋น เป็นภาษาชาวบ้าน ที่ใช้เรียกรถที่ประกอบขึ้นมา โดยใช้อะไหล่รถยนต์ (ใหม่) และ/หรือ อะไหล่รถยนต์มือสอง หรือเรียกอีกอย่างว่า “อะไหล่เชียงกง” นำมาประกอบขึ้นเป็นรถอีแต๋น ซึ่งอะไหล่เชียงกงที่มาจากรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เพราะตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น มีการตรวจสภาพรถยนต์อย่างเข้มงวด โดยรถเก๋งจดทะเบียนใหม่จะสามารถใช้งานได้เป็นเวลา 4 ปีโดยไม่ต้องตรวจสภาพหรือต่อทะเบียนหลังจากนั้นตรวจสภาพกันทุก ๆ 2 ปี และในการปรับปรุงสภาพรถเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยและด้านสิ่งแวดล้อม มีค่าใช้จ่ายที่สูง รถที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพจึงมักเข้าสุสานรถยนต์ ขายเป็นอะไหล่มือสอง ส่งไปตามประเทศต่าง ๆ ถ้าเทียบกับรถที่ใช้งานในประเทศไทยเอง ถือว่าไม่เก่ามาก

หรือ อะไหล่มือหนึ่ง ที่นำเข้าจากประเทศจีน ที่มีราคาถูกกว่า อะไหล่ญี่ปุ่น ซึ่ง อุตสาหกรรมในประเทศจีน สามารถผลิตอะไหล่รถยนต์ เป็นจำนวนมากขึ้น โดยอะไหล่หลัก ๆ ที่นำมาประกอบเป็นรถอีแต๋น ก็จะมี

  1. ช่วงล่างรถยนต์ คานหน้า, เพลาท้าย
  2. ชุดเกียร์
  3. ชุดพวงมาลัย

ส่วนแชสซีรถ ก็อาจจะใช้ได้ 2 ประเภท คือ แชสซีรถยนต์เชียงกง หรือแชสซีเหล็กรางน้ำใหม่ นำมาประกอบขึ้นเป็นแชสซี โดยขนาดของเหล็กจะขึ้นอยู่กับการรับน้ำหนักของช่วงล่าง

อะไหล่รถยนต์ (ใหม่)

เครื่องยนต์ดีเซล 1-3 สูบ, ระบบเบรก, ระบบคลัตช์, ระบบไฟฟ้า, ระบบไฟส่องสว่าง, แบตเตอรี่, ยางรถยนต์ และโครงสร้างเหล็กที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวรถ

ปัจจุบันรถอีแต๋นที่เคยถูกใช้โดยกลุ่มเกษตรกรในท้องทุ่งนาที่เราเคยเห็นจนคุ้นตาเมื่อในอดีตได้มีการพัฒนาไปในรูปแบบต่างๆมากมายเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการประยุกต์รถอีแต๋นให้เป็นรถแบบต่าง ๆ ก็คงจะเห็นได้จาก

  • อีแต๋นรถแทงก์น้ำ มีขนาดตั้งแต่ 2000 ลิตร จนถึง 6000 ลิตร สำหรับงานเกษตรกรรม หรือรดน้ำต้นไม้ หรือใช้ในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ในสนามกอล์ฟ ตลาดสด นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีการติดตั้งปั๊มน้ำแรงดันสูงเข้ากับแทงก์น้ำซึ่งติดอยู่ท้ายกระบะรถพร้อมต่อท่อประปา วงจรน้ำ ใช้งานได้สะดวก และอุปกรณ์ฉีดน้ำสำหรับงานดับเพลิง
  • อีแต๋นขนขยะ ใช้งานในการขนถ่ายสิ่งปฏิกูล สามารถยกกระบะท้ายเทได้
  • อีแต๋นบรรทุก เริ่มมีบทบาทในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยนำไปขนถ่ายวัตถุดิบ สินค้าที่ผลิตเสร็จในโรงงาน และขยะต่าง ๆ ในขบวนการผลิตสินค้า เพราะประหยัด เนื่องจากตัวเครื่องยนต์เป็นดีเซล 1-3 สูบ จึงประหยัดน้ำมัน และสามารถบรรทุกหนักได้ 2-7 ตัน

การจดทะเบียนรถอีแต๋น แก้

รถอีแต๋นสามารถนำไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ เนื่องจากรัฐบาลได้มีกฎหมายออกมารองรับให้รถอีแต๋นสามารถจดทะเบียน โดยเสียภาษีประจำปี และใช้งานบนท้องถนนได้ตามกฎหมาย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2525) ออกตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2552 มีเนื้อหาว่า ต้องใช้เครื่องยนต์ที่มิได้ใช้สำหรับรถยนต์โดยเฉพาะมาติดตั้ง น้ำหนักตัวรถต้องหนักไม่เกิน 1600 กก. เครื่องยนต์ต้องมีความจุในกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 1200 ลูกบาศก์เซนติเมตร ความกว้างตัวรถต้องไม่เกิน 2 เมตร และความยาวตัวรถต้องไม่เกิน 6 เมตร มีลักษณะเป็นรถสี่ล้อหรือรถสามล้อก็ได้ มีระบบไฟฟ้า ได้แก่ ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟส่องป้ายทะเบียน แตรที่ดังพอสมควร และมีกระจกมองข้าง เช่นเดียวกับรถประเภทอื่น ๆ

การผลิตเชิงอุตสาหกรรม แก้

  • การผลิตเชิงอุตสาหกรรม บริษัทสยามคูโบต้า เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ ที่ใช้ติดตั้งกับรถอีแต๋นได้ แห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จากกระทรวงอุตสาหกรรม
  • เครื่องยนต์ ที่สามารถนำมาติดตั้ง ในรถอีแต๋น เป็น เครื่องยนต์ ดีเซล 1-3 สูบ แบบสูบนอนหรือสูบตั้ง ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีกำลังเครื่อง ตั้งแต่ 11 แรงม้า จนถึง 45 แรงม้าขึ้นไป ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ผลิตหลาย แบรนด์ เช่น ยันม่าร์, คูโบต้า, อีดีไอ, ฮิโนต้า, ดาวบิน และ อื่น ๆ
  • ปัจจุบัน โรงงานในประเทศไทยหลายโรงงานสามารถผลิตหรือประกอบรถอีแต๋นได้ และมีผู้ใช้และช่างบางรายที่สามารถประกอบรถอีแต๋นขึ้นเอง
  • ประเทศไทยผลิตรถอีแต๋นขายให้กับประเทศลาวด้วย โดยชาวลาวเรียกว่า รถม็อก, รถไถนา

ดูเพิ่ม แก้