ยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง

ยุโรปที่ถูกเยอรมนียึดครอง หมายถึง ดินแดนอธิปไตยในทวีปยุโรปที่ถูกยึดครองทั้งหมดหรือบางส่วนโดยฝ่ายพลเรือน (รวมทั้งรัฐบาลหุ่นเชิดด้วย) กองกำลังทหาร และรัฐบาลของนาซีเยอรมนี ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันระหว่าง ค.ศ. 1939–1945 หรือในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปกครองด้วยระบอบนาซีภายใต้เผด็จการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์[1]

ดินแดนทวีปยุโรปภายใต้การยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตรฝ่ายอักษะ (ในสีน้ำเงิน) ราว ค.ศ. 1942

บางประเทศที่ถูกยึดครองเป็นผู้ประกาศสงครามในฐานะฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น สหราชอาณาจักรหรือสหภาพโซเวียต บางประเทศถูกบีบบังคับให้ยอมจำนนหรือถูกปราบปรามก่อนที่จะถูกยึดครองในภายหลัง เช่น ออสเตรียหรือเชโกสโลวาเกีย[2] หรือในบางกรณี รัฐบาลถูกบีบบังคับให้พลัดถิ่น หรือไม่ก็มีการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นใหม่โดยพลเมืองของประเทศนั้น ๆ เช่น โปแลนด์หรือฝรั่งเศส บางประเทศซึ่งถูกนาซียึดครองนั้นก็ดำรงตนเป็นกลางอย่างเป็นทางการ หรือดินแดนที่ถูกยึดครองเคยเป็นอดีตสมาชิกของฝ่ายอักษะ และถูกยึดครองโดยกองกำลังเยอรมันในช่วงปลายของสงคราม เช่น ฮังการี เป็นต้น[3][4]

ประวัติ แก้

ก่อนการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1939 เยอรมนีเริ่มเข้ายึดครองดินแดนเพื่อนบ้านตั้งแต่ ค.ศ. 1935 โดยการลงประชามติ เยอรมนีได้ผนวกดินแดนแห่งลุ่มน้ำซาร์ ซึ่งในขณะนั้นถูกควบคุมโดยสันนิบาตชาติ[5] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938 ได้เกิดเหตุการณ์อันชลุส ทำให้ออสเตรียถูกผนวกรวมกับเยอรมนี หรือในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ภูมิภาคซูเดเทินลันท์ของเชโกสโลวาเกียถูกผนวกรวมกับออสเตรีย ในปีต่อมา ฮิตเลอร์ได้เข้ารุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวาเกียและแบ่งส่วน ถือกำเนิดเป็นรัฐในอารักขาโบฮีเมียและมอเรเวีย[6] และรัฐสโลวาเกียอิสระ[7] การขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศแสนยนิยมของเยอรมนีได้รับการสนับสนุนจากการเฉยเมยของฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก ซึ่งใน ค.ศ. 1936 ได้มีการอนุญาตให้ฮิตเลอร์นำทหารกลับไปที่ไรน์ลันท์ ซึ่งขัดต่อข้อบัญญัติของสนธิสัญญาแวร์ซาย[8]

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 กองกำลังแวร์มัคท์ได้เข้ารุกรานโปแลนด์[1] และทำให้สงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น ตลอดเวลาที่เกิดสงครามโลก กองกำลังแวร์มัคท์ได้รุกรานดินแดนทั่วทวีปยุโรป ในบางประเทศมีการจัดตั้งเขตการปกครองฝ่ายทหารบริหาร เช่น เบลเยียม กรีซ และยูโกสลาเวีย (ในส่วนของเซอร์เบีย) โดยมีผู้ว่าการทหารเป็นผู้ควบคุมดินแดน เยอรมนียังคงแบ่งส่วนอาณาเขตในทวีปยุโรปเรื่อยมา โดยในบางพื้นที่ได้มีการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เช่น ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทนีเดอร์ลันด์ ในเนเธอร์แลนด์ หรือเป็นการจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดด้วยความช่วยเหลือจากผู้นำท้องถิ่น เช่น รัฐเอกราชโครเอเชีย ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการบุกครองยูโกสลาเวีย[9] ฝรั่งเศสถือเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากภายหลังการสงบศึก 22 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ได้มีการก่อตั้งรัฐบาลทหารขึ้นทางตอนเหนือและตะวันตกของประเทศ ในขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสควบคุมพื้นที่ทางตอนใต้หรือเขตเสรี (zone libre) รัฐบาลฝรั่งเศสเขตวีชียังคงควบคุมอาณานิคมในแอฟริกาและจักรวรรดิอาณานิคมฝรั่งเศส แม้ว่ารัฐบาลวีชีจะยังมีอิสรภาพในการปกครองบางส่วน แต่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1942 เยอรมนีได้เข้าผนวกเขตเสรีและรวมเข้ากับเขตการปกครองทหารส่วนอื่น ๆ ของประเทศ

การยึดครองทวีปยุโรปของเยอรมนีส่งผลให้สหราชอาณาจักรถูกโดดเดี่ยวเมื่อเผชิญภัยคุกคามจากนาซี หลายประเทศที่ถูกยึดครอง เช่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เชโกสโลวาเกีย โปแลนด์ และยูโกสลาเวีย ได้จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงลอนดอน หรือในบางกรณี รัฐบาลพลัดถิ่นก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยพลเมืองภายในประเทศนั้น (เช่นเดียวกันกับกรณีของพลพรรคยูโกสลาเวียที่นำโดย ยอซีป บรอซ ตีโต)

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 กองทัพเยอรมันได้เข้ารุกรานสหภาพโซเวียต โดยมีเป้าหมายที่จะทำลายกองทัพแดงใน 4 เดือน และเข้าควบคุมดินแดนรัสเซียที่ขยายไปถึงเทือกเขาอูรัลและคอเคซัส ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน รัฐบอลติก เบลารุส และยูเครนก็ถูกยึดครอง กองกำลังแวร์มัคท์เคลื่อนพลเข้าใกล้มอสโกมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กองกำลังโซเวียตก็สามารถหยุดยั้งไว้ได้[10] ในช่วงฤดูร้อน ค.ศ. 1942 กองทัพเยอรมันได้เข้ายึดครองดินแดนในแถบลุ่มน้ำดอนและวอลกา และดินแดนส่วนใหญ่ของคอเคซัส ซึ่งถือเป็นขีดจำกัดของการรุกของกองทัพเยอรมันในช่วงสงคราม ได้มีการจัดโครงสร้างการบริหารใหม่ในเขตปกครองโซเวียตเดิม ทั้งการจัดตั้ง ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทอ็อสท์ลันท์ และ ไรชส์ค็อมมิสซารีอาทยูเครน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกสำหรับการตั้งอาณานิคมของเยอรมนีในดินแดนเหล่านี้และเป็นการขับไล่อิทธิพลของสหภาพโซเวียต การยึดครองดินแดนเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากแนวคิด เลเบินส์เราม์ และการค้นหา "พื้นที่อยู่อาศัย" ของประชากรชาวเยอรมัน[11]

ในช่วงฤดูหนาวระหว่าง ค.ศ. 1942-1943 กองกำลังเยอรมันยังคงความได้เปรียบทางทหารอย่างท่วมท้น แต่ภายหลังจากความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด ตูนิเซีย และคูสค์ โอกาสแห่งชัยชนะของเยอรมนีจึงหมดลง ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1943 เบนิโต มุสโสลินีถูกโค่นล้มและชาวอิตาลีพยายามเจรจาหาทางออกจากสงคราม[12] แต่กองกำลังเยอรมันได้เข้าบุกครองอิตาลีในเดือนกันยายน แล้วจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมา (สาธารณรัฐสังคมอิตาลี)[13] โดยให้มุสโสลินีกลับมาเป็นดูเชอีกครั้ง แต่ในทางปฏิบัติ เขาเป็นเพียงหุ่นเชิดและดินแดนก็ถูกควบคุมโดยเยอรมนี ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ฮังการีก็ถูกยึดครองเช่นกัน เนื่องจากความกังวลว่าฮังการีพยายามเปลี่ยนฝ่าย แต่สิ่งนี้ก็ไร้ผล เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางทหารของเยอรมนีในช่วงฤดูร้อน (การยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดีและปฏิบัติการบากราติออน) ถือเป็นการเสื่อมลงอย่างหนักของระบอบนาซีในทวีปยุโรป ความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงในแนวรบด้านตะวันออกนำไปสู่ความขัดแย้งของระบบพันธมิตรในคาบสมุทรบอลข่าน หลังจากยุทธการที่เบอร์ลิน ในระหว่างวันที่ 7–9 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 นาซีเยอรมนีได้ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป[14][15] ในเวลานั้น กองกำลังเยอรมันยังคงยึดครองดินแดนสำคัญต่าง ๆ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ หรือบางส่วนของรัฐในอารักขาโบฮีเมียและมอเรเวีย เป็นต้น

ดินแดนที่ถูกยึดครอง แก้

ดินแดนที่ถูกยึดครองโดยนาซีเยอรมนี (แม้ว่าจะมีบางส่วนได้ถูกแบ่งปันระหว่างนาซีเยอรมนีและพันธมิตร) มีดังนี้

ชื่อประเทศ การยึดครอง1 ปลดปล่อย
  ออสเตรีย 12 มีนาคม 1938 27 เมษายน 1945
  เชโกสโลวาเกีย 16 มีนาคม 1939 (ร่วมกับฮังการี) 11 พฤษภาคม 1945
  โปแลนด์ 6 ตุลาคม 1939 (ร่วมกับสหภาพโซเวียต) มีนาคม-เมษายน 1945
  เดนมาร์ก 9 เมษายน 1940 5 พฤษภาคม 1945
  นอร์เวย์ 9 เมษายน 1940 8 พฤษภาคม 1945
  เบลเยียม 28 พฤษภาคม 1940 25 มกราคม 1945
  ลักเซมเบิร์ก พฤษภาคม 1940 มีนาคม 1945
  ยูโกสลาเวีย 17 เมษายน 1941 20 ตุลาคม 1944
  เนเธอร์แลนด์ 15 พฤษภาคม 1940 มีนาคม 1945
  ฝรั่งเศส 25 มิถุนายน 1940 (บางส่วนกลายเป็นฝรั่งเศสเขตวีชี) 23 ตุลาคม 1944
 ,  หมู่เกาะแชนแนล 30 มิถุนายน 1940 9 พฤษภาคม 1945
  กรีซ 27 เมษายน 1941 (ร่วมกับอิตาลีและบัลแกเรีย) มีนาคม 1945
  ลัตเวีย2 10 กรกฎาคม 1941 9 พฤษภาคม 1945
  ลิทัวเนีย2 25 มิถุนายน 1941 8 พฤษภาคม 1945
  สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน2 17 กรกฎาคม 1941 ไม่ทราบวันที่แน่ชัด
  สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเอสโตเนีย2 28 กรกฎาคม 1941 (ร่วมกับภราดรชาวป่า) 3 23 พฤศจิกายน 1944
  สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตเบียโลรัสเซีย2 สิงหาคม 1941 สิงหาคม 1944
  โมนาโก 1943 ไม่ทราบวันที่แน่ชัด
  อิตาลีและอาร์เอสไอ4 23 กันยายน 1943 25 เมษายน 1945
  แอลเบเนีย กันยายน 1943 29 พฤษภาคม 1944
  ฮังการี 19 มีนาคม 1944 4 เมษายน 1945
1 เป็นวันที่ได้มีการลงนามยอมจำนนอย่างเป็นทางการ หรือกองทัพนาซีเยอรมันสามารถยึดครองได้ทั้งประเทศ
2 รัฐเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต มิใช่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นประเทศเดียว
3 ภราดรชาวป่า (อังกฤษ: Forest Brothers) เป็นกองทัพอิสระของเอสโตเนียที่ทำการต่อต้านสหภาพโซเวียต
4 สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลีเป็นประเทศที่นาซีเยอรมนีทำการจัดตั้งให้ และได้ส่งกองทหารเข้าไปดูแลประเทศ ดังนั้นจึงเปรียบเสมือนดินแดนยึดครองของนาซีเยอรมนีไปโดยปริยาย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Encyclopædia Britannica, German occupied Europe. World War II. Retrieved 1 September 2015 from the Internet Archive.
  2. Goldstein, Erik; Lukes, Igor (2012-10-12). The Munich Crisis, 1938: Prelude to World War II (ภาษาอังกฤษ). Routledge. ISBN 9781136328329.
  3. Hanson, Victor Davis (2017-10-17). The Second World Wars: How the First Global Conflict Was Fought and Won (ภาษาอังกฤษ). Basic Books. ISBN 9780465093199.
  4. Cornelius, Deborah S. (2011). Hungary in World War II: Caught in the Cauldron (ภาษาอังกฤษ). Fordham Univ Press. ISBN 9780823233434.
  5. Evans 2005, p. 623.
  6. Evans 2005, p. 683.
  7. Beevor 2012, p. 24.
  8. Evans 2005, pp. 633.
  9. "Yugoslavia". Holocaust Encyclopedia. United States Holocaust Memorial Museum. Retrieved 8 September 2009. Archived 31 October 2009.
  10. Taylor, A.J.P. and Mayer, S.L., eds. (1974). A History of World War Two. London: Octopus Books. ISBN 0-7064-0399-1. p.109
  11. Kershaw, Ian. Fateful Choices, pp.66–69.
  12. McGowen, Tom. Assault From The Sea: Amphibious Invasions in the Twentieth Century, pgs. 43-44
  13. Blinkhorn, Martin. Mussolini and Fascist Italy, pg. 52
  14. Donnelly, Mark. Britain in the Second World War, pg. xiv
  15. Glantz, David M. (1995). When Titans Clashed: How the Red Army Stopped Hitler. Lawrence, Kansas: University Press of Kansas. p. 34. ISBN 0700608990.

บรรณานุกรม แก้